ห่วงเงินกองทุนบัตรทองไม่พอ แต่ยังไม่ของบฯ เพิ่ม ดึง อสม. เสริมระบบสุขภาพปฐมภูมิ ส่งเสริมสุขภาพให้คนป่วยน้อยลง ยอมรับเตียงบำบัดผู้เสพยามีน้อย ยันเดินหน้าแก้กฎกระทรวงฯ ยาบ้า 1 เม็ด ดึงกัญชาเป็นยาเสพติด ใช้เพื่อการแพทย์
เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 67 ที่กระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมมอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 – 2568 “5+5” เร่งรัดพัฒนาสานต่อ โดย สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงสาธารณสุข, สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.กระทรวงสาธารณสุข, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวง พร้อมด้วยบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขทุกจังหวัด เข้าร่วม
นโยบายสำคัญที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม 5 ด้าน ได้แก่
- การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เชื่อมโยงระบบการรักษา เบิกจ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน เข้ารับบริการสุขภาพได้ทุกที่ทั่วไทย เพิ่มการเข้าถึง ลดค่าใช้จ่าย
- การแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างบูรณาการ พัฒนามินิธัญญารักษ์ บูรณาการระบบการบำบัด รักษา ฟื้นฟูให้เป็นรูปธรรม ทบทวนกฎหมายให้เหมาะสม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้สังคม
- การพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพประชาชน จากภาคีเครือข่ายในพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับประชาชนสนับสนุนการทำงานของพี่น้อง อสม. ให้มีกฎหมายรองรับ กองทุนสุขภาพตำบล และสะสางการถ่ายโอน รพ.สต.
- การยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ ที่เราจะผลักดันเข้าสู่ตลาดระดับโลก ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์มูลค่าสูง แพทย์แผนไทย สมุนไพรและผลิตภัณฑ์สุขภาพ พร้อมทั้งจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อการขับเคลื่อนภารกิจนี้ให้สำเร็จเป็นรูปธรรม
- เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ พลิกโฉมโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพบริการสุขภาพตามบริบทของพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายแดน พื้นที่เฉพาะและเขตเมืองพัฒนาระบบการส่งต่อให้รวดเร็วไร้รอยต่อ
นอกเหนือจากการเร่งรัดให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ของนโยบายทั้ง 5 ด้าน ยังสานต่อการดำเนินงานสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขอีก 5 ด้าน คือ
- การพัฒนางานสาธารณสุข ตามแนวพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ซึ่งถือเป็นภารกิจอันสำคัญยิ่งของเราชาวสาธารณสุข
- การสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรและพี่น้อง อสม. ต้องสร้างความมั่นคงให้กับบุคลากรสาธารณสุขทุกสายงานทั้งในด้านความก้าวหน้า ค่าตอบแทน สวัสดิการและการแก้หนี้
- การส่งเสริมสุขภาพกายและจิต ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิต เพิ่มการเข้าถึงการปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผ่านทางระบบการแพทย์ทางไกล พร้อมจัดตั้งหน่วยงานและกองทุนเฉพาะเพื่อการบริหารจัดการ
- การพัฒนาสถานชีวาภิบาลและระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิต ให้ความสำคัญกับการผลิตผู้ดูแลให้พร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ จัดตั้งกุฏิชีวาภิบาล ในการดูแลพระภิกษุสงฆ์อย่างทั่วถึงทุกอำเภอ
- การดูแลให้ทุกคนปลอดภัยจากโรคและภัยสุขภาพ ยกระดับระบบเฝ้าระวังและควบคุมโรคให้ทันสมัย พัฒนาการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินอย่างครอบคลุม จัดตั้งกองทุนความปลอดภัยนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ
ห่วงบัตรทองรักษาทุกที่เงินไม่เพียงพอ
ในระหว่างการมอบนโยบาย รมว.กระทรวงสาธารณสุข แสดงความเป็นห่วง ว่า เงินในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง จะไม่เพียงพอซึ่งปีงบประมาณปัจจุบันมีวงเงินกว่า 2.17 แสนล้านบาทและรัฐบาลจัดสรรงบบัตรทองเพิ่มทุกปี เนื่องจากพิจารณาจากจำนวนการเข้ามาใช้บริการของประชาชนมีเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยปีละ 5%
ขณะที่การดำเนินนโยบาย บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ พอบอกว่ารับไม่อั้น อาจใช้เงินเกินโควต้า จึงจะทำอย่างไรให้มีคนมาหาหมอน้อยลง ต้องดึง อสม.มาเป็นกำลังพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ อัพเกรดศักยภาพช่วยงานสาธารณสุข ให้คนรักษาสุขภาพ ขณะที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ ก็สามารถเปิดศูนย์ wellness ได้ลูกค้าเป็นพวกข้าราชการ ไม่ต้องใช้บัตรทอง
ส่วนจะต้องของบประมาณเพิ่มหรือไม่ สมศักดิ์ บอกว่า ยังไม่ของบฯ เพิ่มแต่ต้องพิจารณาการใช้จ่าย และตนเข้ามาก็มีหน้าที่บริหารกองทุนให้เกิดความมั่นคง
ยอมรับเตียงบำบัดผู้เสพยาไม่พอ
รมว.กระทรวงสาธารณสุข ยังยอมรับว่า เตียงบำบัดผู้เสพยามีไม่พอ โดยใน 3 ปีนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอดทน เพราะมีเตียง 6,500 เตียง สีแดง สีส้ม เวียน ๆ แล้วได้ประมาณ 2 แสนคน แต่มีคนเสพอยู่ 1 ล้านคน และหมอต้องพูดความจริงว่ามันรักษาไม่หาย ต้องใช้เวลามาก
โดยสัดส่วนเตียงบำบัดผู้เสพสีแดง
- สาธารณสุข 6,500 เตียง
- กลาโหม 1,500 เตียง
- มหาดไทย 300 เตียง
- กทม. 60 เตียง
“แบบนี้จะให้กระทรวงสาธารณสุขมาแบกคนเดียวไม่ได้”
สมศักดิ์ เทพสุทิน
สมศักดิ์ บอกด้วยว่า ตอนนี้เจอ 1 ผู้เสพ ต้องมี 1 ผู้ค้ารายย่อย เพราะจะจัดการผู้ค้ารายใหญ่ซึ่งมีเป็น 10 ชนเผ่า บริเวณสามเหลี่ยมทองคำคงยาก พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ค้านยาบ้า 1 เม็ด ยังเห็นบ้านเมืองเสียหายไม่พอหรือ ?
ขณะที่ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ห่วงการเกิดน้อยลงจะขาดบุคลากรในทุกด้าน โดยเร่งให้กระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมคนวัยเจริญพันธุ์ถ้าเสียสละมีบุตร รัฐบาลจะช่วยดูแล ซึ่งจากที่ตนลงพื้นที่พบว่าคนไม่มั่นใจมีบุตรเพราะยังตั้งตัวไม่ได้ กว่าครอบครัวจะตั้งหลักได้ ก็อายุเกิน 35 ปีแล้ว ถึงตอนนั้นก็มีบุตรยาก
ขณะเดียวกัน ในเขตชนบทได้ทราบถึงปัญหาด้านบุคลากรไม่เพียงพอ การกระจายบุคคลากร และภาระงานที่ล้นมือ ทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกระดับ ขอสร้างความมั่นว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และเร่งแก้ปัญหานี้อยู่ โดยเฉพาะการพัฒนาและผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เพียงพอต่อการบริการสุขภาพแก่ประชาชน