สั่งที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ร่างระเบียบกฎหมาย ใช้เงินที่ได้จากการยึดทรัพย์ในกองทุนยาเสพติด ป.ป.ส. มาบำบัดผู้เสพ ด้าน เลขาธิการ ป.ป.ส. ไม่ออกความเห็น ชี้เจตนากองทุนฯ เพื่องานป้องกันและปราบปราม จ่อเปลี่ยนชื่อ ”กรมสุขภาพจิต“เป็น ”กรมสุขภาพจิตและยาเสพติด“
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 67 สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายยาเสพติดเวลานี้ว่า ผู้เสพ 1 เม็ดต้องระบุผู้ขายนั้น เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ต้องมีการสอบสวนให้ลึกว่า ซื้อมาจากไหน ซึ่งจะได้ทั้งผู้เสพไปบำบัด และผู้ขายรายย่อย ที่จะนำไปขยายผลยึดทรัพย์ด้วย
สมศักดิ์ กล่าวว่า ได้แก้กฎหมายประมวลยาเสพติด เพื่อเน้นการยึดอายัดทรัพย์ ในสมัยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพราะในอดีตไม่ได้ทำงานเชิงรุก ตั้งรับอย่างเดียว ซึ่งในแต่บละปีสามารถยึดทรัพย์ได้ไม่ถึง 20 ล้านบาท ทั้งที่แหล่งผลิตต้นทางมีมูลค่าถึง 7 หมื่นล้านเหรียญ จึงมองว่า การแก้ยาเสพติด ถ้าตั้งรับอย่างเดียวจะเหนื่อยมาก จึงมีการเปลี่ยนแนวทางเน้นการยึดทรัพย์ ให้รางวัลคนแจ้งเบาะแส 5% รวมถึงเปลี่ยนแนวทางการทำคดี ผู้เสพเหลือ 1 เม็ด แต่ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ด้วยว่า เป็นผู้เสพ พร้อมบอกว่าซื้อจากใคร ซึ่งก็จะได้ 1 ผู้เสพ และ 1 ผู้ขาย
The Active ถามถึงเงินที่ได้จากการยึดทรัพย์จะนำไปใช้อะไรบ้าง รมว.สธ. บอกว่า เงินที่สามารถยึดทรัพย์ได้ ป.ป.ส.จะรวมเป็นกองทุนยาเสพติด แต่ยังไม่ได้นำงบประมาณมาใช้ในด้านจิตเวช ซึ่งกำลังทำกฎหมาย ให้สามารถนำงบประมาณจากกองทุนยาเสพติดมา สนับสนุนการบำบัดผู้ติดยาเสพติดได้ โดยได้มอบหมาย วิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ทำงานในด้านข้อกฎหมาย ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนชื่อ “กรมสุขภาพจิต“ เติมคำว่า “ยาเสพติด” ไปอีกได้ไหมเป็น “กรมสุขภาพจิตและยาเสพติด” เพื่อให้สอดคล้องเกี่ยวกับกองทุนยาเสพติด ซึ่งได้จากการยึดทรัพย์ นำมาใช้กับการบำบัดและซื้อยาให้กับผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด ด้วย
ทั้งนี้มีรายงานว่า รมว.สธ. ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 999/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของกรมสุขภาพจิต เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อหาเป็นการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของกรมสุขภาพจิตในการบำบัดดูแลผู้ป่วยยาเสพติดมากขึ้น
The Active สอบถามเรื่องนี้กับ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ถึงภาพรวมของการยึดทรัพย์คดียาเสพติดในปัจจุบัน ได้รับคำตอบว่า ปัจจุบันมีมูลค่าการยึดทรัพย์มากถึง 8,000 ล้านบาท แต่ศาลอนุมัติให้ยึดได้แล้ว 4,000 ล้านบาท กรณีที่มีการใช้เงินจากกองทุนยาเสพติดไปใช้บำบัดผู้ป่วยจิตเวชนั้นยังไม่มีความเห็น แต่หลักการของกองทุนยาเสพติด คือใช้เพื่องานป้องกันและปราบปราม ขณะที่ที่ผ่านมาได้มีการนำเงินในกองทุนนี้โอนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อดำเนินกิจกรรมในการบำบัดผู้เสพยาในชุมชน หรือชุมชนล้อมรักษ์ จังหวัดละ 1-2 ล้านบาทมาอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว
เมื่อถามย้ำว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากจะนำเงินจากกองทุนยาเสพติดมาบำบัดผู้ป่วยจิตเวช เลขาธิการ ป.ป.ส. ย้ำว่า ไม่มีความเห็น เนื่องจากเป็นข้าราชการประจำ แล้วแต่ผู้กำหนดนโยบาย
สำหรับข้อมูลปี 2566 ประเทศไทย มีผู้ป่วยยาเสพติดประมาณ 1,900,000 คน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง ซึ่งมีอาการรุนแรง หรือ ผู้ติดยาเสพติด 38,000 คนหรือประมาณ 2%
- ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือผู้เสพ 450,000 คน หรือประมาณ 24%
- ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ใช้ยาเสพติด 1,400,000 คน หรือประมาณ 74%
โดยชุมชนล้อมรักษ์ หรือ CBTx เป็นกระบวนการสำคัญ ที่ช่วยการดูแลสนับสนุน และฟื้นฟูผู้ป่วยที่ต้องการเลิกยาเสพติด ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน
ที่ผ่านมา มีชุมชนซึ่งเป็นฐานในการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด ประมาณ 10,000 แห่ง และเมื่ออาการดีขึ้น สามารถส่งต่อไปยังศูนย์ฟื้นฟูสถานภาพทางสังคม กระทรวงมหาดไทย 3,258 แห่ง เพื่อรับไปดูแล คืนคนดีสู่สังคม และมีกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือ พชอ. เป็นกำลังสำคัญ ร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ป้องกันยาเสพติด