ย้ำอย่าแห่ไปโรงพยาบาลใหญ่ ขณะที่การเชื่อมต่อข้อมูลคนไข้ รพ.สังกัด กทม. เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ สปสช. ระบุปรับใบส่งตัวเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องให้ผู้ป่วยวิ่งกลับไปขอใบส่งตัว เผยดึง รพ.เอกชน กทม. 22 แห่ง เข้าร่วมระบบส่งต่อ
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 67 ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาคร ระบุว่าได้ขานรับมนโยบายรักษาทุกที่ของรัฐบาล โดยหน่วยบริการในสังกัด กทม. พร้อมรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง แต่ย้ำว่าไม่ใช่ว่าทุกคนอยู่ดี ๆ จะเดินเข้าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยบริการตติยภูมิ แต่ให้เริ่มจากหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่มีสัญลักษณ์ โลโก้ รักษาทุกที่ ซึ่ง สปสช. จะเปิดตัววันที่ 26 ส.ค. นี้
ในส่วนของ ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ของ กทม. ซึ่งมีอยู่ 69 แห่ง ถ้าคนไข้เดินเข้ามาก็รับรักษาอยู่แล้ว แต่ถ้าจะต้องส่งต่อคนไข้ ต้องดูที่ต้นสังกัดด้วยว่าผู้ป่วยคนนั้น อยู่ที่หน่วยปฐมภูมิ หรือคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ไหน
“การส่งต่อ มันมีเงื่อนไขเรื่องการจ่ายเงิน ต้องไปดูที่ต้นทางว่าเขาอยู่ที่ไหน แต่ยืนยันว่า ศบส. รับคนไข้ได้ แต่อาจจะไม่สะดวกที่จะออกใบส่งตัวเท่าคลินิกคลินิกชุมชนอบอุ่น ตามสิทธิ์ของประชาชนคนนั้น อันนี้คงต้องคุยปัญหาต่อไป”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ส่วนเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานของ กทม. ก็เชื่อมโยงข้อมูลหมดแล้ว เพราะก่อนหน้านี้โรงพยาบาลมีซอฟต์แวร์คนละอัน แต่ตอนนี้ก็จะมีตัวลิ้งค์ข้อมูลทำให้การถ่ายทอดข้อมูลดีขึ้น แต่ยังรักษาความปลอดภัยในข้อมูลส่วนบุคคล
ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงกรณีที่มีความกังวลว่าโรงพยาบาลใหญ่ ใน กทม. อยากให้มีการส่งตัวอยู่นั้น ก็ขอยืนยันว่า จะยังให้มีการใช้ใบส่งตัวเหมือนเดิม แต่ระบบส่งตัวในอนาคตจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ สามารถส่งข้อมูลออนไลน์ได้ ส่วนความเดือดร้อนปมใบส่งตัวผู้ป่วย กทม. ที่ผ่านมา ก็เป็นเพราะไม่มีระบบการเชื่อมข้อมูล ทำให้ประชาชนต้องกลับไปรับใบส่งตัวที่เป็นกระดาษ ขณะเดียวกันที่ประชุมยังต้องการให้ประชาชนรับบริการ “ใกล้บ้าน” หรืออยู่ในหน่วยนวัตกรรมที่จัดให้ เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล
“วันนี้ที่เคลียร์กันคณะกรรมการจะออกประกาศอนุญาตให้ใช้ใบส่งตัวเป็นอิเล็กทรอนิกได้ โดยการเชื่อมข้อมูลหน่วยบริการ หน่วยงานสังกัด กทม. ได้เชื่อมหมดแล้ว ทั้ง โรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.)”
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สำหรับหน่วยบริการที่ติดโลโก้สัญลักษณ์ รักษาทุกที่ จะมีความพร้อมใน 3 ประเด็น คือ 1. ความพร้อมในการเชื่อมโยงข้อมูล 2. ต้องทราบกติกาว่าเมื่อผู้รับบริการมาแล้วจะให้บริการอย่างไรจะพิสูจน์สิทธิ์ ปิดสิทธิ์ เปิดสิทธิ์อย่างไร และ 3. ประชาชนจะรับทราบว่าต้องทำอย่างไร ไม่เพียงแค่ใช้บัตรประชาชน ยืนยันสิทธิ์เท่านั้น อาจใช้เป็นแอปพลิเคชัน ที่พิสูจน์ตัวตนได้ว่าเป็นผู้มีสิทธิ์เข้าใช้บริการได้
ขณะเดียวกัน จะเพิ่มหน่วยนวัตกรรมเข้ามา ซึ่งใน กทม. มีหน่วยนวัตกรรมกว่า 1,200 แห่ง หน่วยนวัตกรรม เช่น ร้านยา คลินิกฟันคลินิกกายภาพ คลินิกแล็บ คลินิกแพทย์แผนไทย เป็นต้น
ในอนาคตคลินิกเหล่านี้อาจจะไปเปิดตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้า หรือ ตามปั๊มน้ำมัน หรือในโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเบื้องต้น ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องวิ่งเข้าโรงพยาบาลขนาดใหญ่
นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ยังมีมติที่จะนำโรงพยาบาลเอกชนอีก 22 แห่ง ใน กทม. เข้ามาร่วมจัดเครือข่ายในระบบการส่งต่ออีกด้วย เช่น โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น เป็นต้น