‘ผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร’ ร้อง ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เหตุผู้บริหารตลาดใช้อำนาจเกินหน้าที่ อ้างไร้ธรรมาภิบาล ขณะที่ ‘เครือข่ายผู้ใช้จักรยาน’ หวั่น งบฯ ที่จอดจักรยาน ถูกตัด
วันนี้ (11 ก.ย. 67) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) มีการประชุม สภากรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง “งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3” โดยบรรยากาศภายนอกที่ประชุม ได้มีกลุ่มประชาชนมารวมตัวกันเรียกร้องถึงผู้ว่าฯ กทม. เพื่อทวงถามการแก้ไขปัญหา
‘ผู้ค้าตลาดจตุจักร’ ร้องผู้บริหารตลาด เลือกปฏิบัติ ขาดธรรมาภิบาล
โดยกลุ่มแรก คือ กลุ่มประชาชนผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรโครงการ 30 และ สหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร เปิดเผยกับ The Active อ้างว่า ผู้บริหารตลาดนัดจตุจักรใช้อำนาจเกินหน้าที่ขับไล่ประชาชน 529 ครอบครัว ออกจากพื้นที่โดยไม่มีเหตุอันควร ขาดความโปร่งใส และถูกเลือกปฏิบัติ ละเมิดหลักนิติธรรม ไร้ธรรมาภิบาลโดยเจตนา สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร และผู้ค้าโครงการ 30 ทำให้ได้รับผลกระทบเรื่องสิทธิการการทำมาหากินเลี้ยงชีพของประชาชนผู้ค้า ส่งผลเสียหายต่อประชาชนผู้ค้าและรายได้ของภาครัฐอย่างรุนแรง และมีการตั้งคำถามถึง กทม. ดังนี้
- ประชาชนผู้ค้าโครงการ 30 เช่าพื้นที่ตัวเต้นท์ เดือนละ 700,000 บาท กลับไล่ออก นายทุนมาคุยค่าเช่าโครงการ 30 ที่ 500,000 บาทใช่หรือไม่
- เอานายทุนหลายคนมาเดินชมพื้นที่ถนนและพื้นที่โครงการ 30 จริงหรือไม่
- มติ ครม. ให้ต่อสัญญาให้ประชาชนผู้ค้า 32 สัญญา รวมโครงการ 30 ด้วย ผู้บริหารละเว้นการต่อสัญญาหรือไม่
- ให้สิทธิทำเลทองผู้บุกรุก ยืดสิทธิประชาชนผู้ค้าหลัก ทำให้รัฐเสียหายประชาชนผู้ค้าหลักที่ไม่มีความผิดหมดทางทำมาหาเลี้ยงชีพตัวเอง และครอบครัว
ทั้งนี้กลุ่มผู้ค้าโครงการ 30 และสหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร มีข้อเรียกร้องถึง ผู้ว่าฯ กทม. ดังนี้
- ขอคืนสิทธิและต่อสัญญาให้ประชาชนผู้ค้าโครงการ 30 ตามมติ ครม. ที่ต้องต่อสัญญาให้ 32 สัญญาเดิม
- ตั้งคณะกรรมการคนกลางให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาความโปร่งใส่ในการบริหาร พื้นที่ของภาครัฐและที่ทำมาหากินของประชาชนในตลาดนัดจตุจักรเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนและสงบสุข
- ให้สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ตลาดนัดจตุจักรปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2561 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
นฤมล แซ่หุ้น ตัวแทนผู้ค้าในพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร บอกว่า วันนี้เดินทางเพื่อแจ้งต่อผู้ว่าฯ กทม. ว่า คณะที่ท่านส่งไปบริหารมีปัญหาอะไรบ้าง และสถานการณ์ในตลาดนัดจตุจักรกำลังวุ่นวายอย่างไรบ้าง มองว่าการแจ้งรายละเอียดต่อผู้เช่าค่อนข้างล่าช้า มีความคลุมเครือ โดยไม่ได้ระบุว่าจะยกเลิกหรือจะทำอะไร แต่ไม่ให้ผู้เช่าโครงการ 30 ต่อสัญญา และมีข่าวลือว่าจะไล่รื้อผู้เช่าที่ถูกต้องตามระเบียบครม. ในวันที่ 31 ต.ค. นี้
นอกจากนี้ยังรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ที่จะให้สิทธิ์กับคนนอกในทำเลทอง เพราะริมถนนเป็นทำเลที่ขายดี แต่กลับไปให้สิทธิ์หาบเร่แผงลอย แต่คนที่เช่าถูกต้องกลับถูกไล่ออก จึงอยากให้กทม.ตั้งคณะกรรมการมาพูดคุยกับผู้ค้า
ร้องถูกตัดงบฯ ที่จอดจักรยาน
ขณะที่ เครือข่ายผู้ใช้จักรยาน โดย ชัยยุทธ โล่ธุวาชัย จาก เพจจักรยาน Bike in the City บอกว่า เท่าที่ทราบเรื่องงบประมาณ กทม. ปี 2568 มีหนึ่งรายการที่ทางเครือข่ายพยายามมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่อยากจะได้คือ ที่จอดจักรยาน ซึ่งก็ทราบมาตลอดว่าทางหน่วยงานสำนักจราจร และขนส่งเป็นหน่วยที่รับผิดชอบทำงบประมาณให้แล้ว มีการเสนอมาแล้ว ซึ่งก็เป็นจำนวนเงินเพียงหลัก 10 ล้าน ที่แลกมากับจักรยาน 7,500 คัน ทั้งกรุงเทพฯ แต่ปรากฏมีข้อมูลมาว่างบฯ ตรงนี้หลุดออกไป
ศิลป์ ไวยรัชพานิช ผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน บอกว่า ที่ออกมาเรียกร้องไม่ใช่เฉพาะผู้ใช้จักรยาน แต่รวมไปถึงผู้ใช้ทางเท้า ผู้ใช้วิลแชร์ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ควรนำมาลงกับการส่งเสริมการเดินทางพื้นฐาน ก่อนที่จะนำไปลงกับโครงสร้างขนาดใหญ่อย่างอุโมงค์หรือ สะพาน ในที่นี้ก็คือเรื่องที่จอดจักรยาน เป็นเรื่องที่ลงทุนน้อยมาก แต่สร้างอิมแพคสูงมากสำหรับเมือง และเป็นสำคัญในการรณรงค์การใช้จักรยาน
ทั้งนี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงมารับข้อร้องเรียนเรื่องนี้โดยตรง ชี้แจงว่า ในมุมของผู้บริหารเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ รับปากว่าจะดูงบประมาณให้ ยังไม่แน่ใจว่าจะดึงงบฯ มาจากไหน แต่สัญญาว่าต้องมีด้วยวิธีการอื่น ต้องหาทางแก้ไข
“จะรับดำเนินการ อย่าเพิ่งท้อแท้ อย่างน้อยก็เชื่อว่าแค่นำมาบรรจุไว้ในนโยบายก็นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญ ในเรื่องอุปสรรคก็ต้องหาทางแก้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีการตั้งงบประมาณขึ้นไป เพื่อทำจุดจอดจักรยาน ซึ่งเข้าใจว่ามีการตัดออก แต่ไม่ทราบเหตุผล เพราะไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการวิสามัญ ต้องเคารพกระบวนการทำงาน แต่ก็จะพยายามหาทางว่าจุดไหนจะเพิ่มเติมยังไง จะหางบฯ จากไหนมา”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
โดยการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาชนในวันประชุมงบประมาณกทม.ในวันนี้เป็นไปอย่างสงบ หลังจากได้ยื่นเรื่องแล้วก็เดินทางกลับ แต่ก็ยังจะดำเนินการเรียกร้องต่อไป และจับตาการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของกทม.อย่างต่อเนื่อง