‘คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี’ ยอมรับ กังวล ชี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเคสซับซ้อน ระดับตติยภูมิ ที่โรงพยาบาลทั่วไปรักษาไม่ได้ คลินิก ร้านขายยา อาจไม่สามารถรองรับการดูแลผู้ป่วยในลักษณะนี้ได้
จากกรณี สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แจงแนวทางลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ โดยอาจปรับลดงบฯ ผู้ป่วยนอก เฉพาะโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ เพื่อดึงดูดคนไข้มาใช้บริการคลินิกมากขึ้น โดยปัจจุบันคลินิกชุมชนอบอุ่นเบิกจ่ายได้ 500 บาท แต่ถ้าไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ในโรคเดียวกันได้ 1,500 บาท จึงมองว่าจะปรับให้เท่ากันหรือไม่
วันนี้ (30 ก.ย. 67) ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ให้สัมภาษณ์ The Active โดยเข้าใจว่า รมว.กระทรวงสาธารณสุขเองอาจจะต้องการงบฯ บางส่วนไปพัฒนาด้านนวัตกรรมการดูแลสุขภาพรูปแบบใหม่ เช่น คลินิกฯ ร้านขายยา ซึ่งแน่นอนว่าเงินมีจำกัด แต่ของใหม่ต้องให้บริการ ก็ต้องดึงเงินไปบางส่วน
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อาทิตย์ บอกอีกว่า ถ้าเปรียบเทียบการให้บริการปฐมภูมิ แบบโรงเรียนแพทย์ เทียบกับคลินิก ร้านขายยา จะต่างกันหรือไม่ แน่นอนว่ามีเหตุผลที่จะพอบอกได้ว่ามันเปรียบเทียบกันได้อยู่ แต่อย่าลืมว่าโรงเรียนแพทย์ ผู้ป่วยนอกส่วนใหญ่ ไม่ใช่ปฐมภูมิ แต่เป็นเคสตติยภูมิ หรือมากกว่าตติยภูมิ ที่โรงพยาบาลอื่น ๆ อาจส่งต่อเข้ามา เพราะฉะนั้นจะเปรียบเทียบแบบนี้คงจะยากลำบาก ต้องดูตัวเลขจริง ๆ ว่า เคสที่เป็นผู้ป่วยนอกที่เข้ามาในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ ส่วนมากเป็นเคสแบบไหน
”ยกตัวอยาก เช่น โรคมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือด ที่ปกติแล้วโรงพยาบาลทั่วไปรักษาได้ แต่เกิดภาวะแทรกซ้อนกลับมาเป็นซ้ำ รักษาต่อด้วยยาที่ไม่มี ต้องส่งมาที่โรงเรียนแพทย์รักษาต่อ ก็เป็นแบบผู้ป่วยนอก หรือคนไข้ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจที่เชื้อดื้อยา คนไข้เบาหวาน ที่ไม่สามารถคุมน้ำตาลได้จำเป็นต้องใช้ยาราคาสูง หรือยาที่โรงพยาบาลทั่วไปไม่มี แบบนี้ก็คงจะไปเปรียบเทียบกับเคสปฐมภูมิทั่วไปไม่ได้“
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์