หวังลดการแข่งขัน เน้น ทํางานเป็นทีม สร้างสุขภาพจิตที่ดี พร้อมปรับหลักสูตรแพทย์ไม่ใช่แค่รักษา แต่ต้องแก้ปัญหาเชิงระบบสุขภาพทั้งในระดับพื้นที่ และขับเคลื่อนนโยบายได้
วันนี้ (9 ต.ค. 67) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล แถลงประกาศเปลี่ยนเกณฑ์การประเมินนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ ยกเลิกการตัดเกรด A-F เปลี่ยนเป็น S=ผ่าน, U=ไม่ผ่าน เริ่มปีการศึกษา 2568 โดย ผศ.พญ.ปองทอง ปูรานิธี รองคณบดีฝ่ายการศึกษาระดับปริญญาตรี ระบุถึงเป้าหมายหลักการปรับระบบประเมินผล คือ
- ประเมินทุกสมรรถนะใน Outcome-based education ได้เท่าเทียมมากขึ้น
- ส่งเสริมการประเมินเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา นอกเหนือไปจากการประเมินเพื่อตัดสิน
- ลดการเปรียบเทียบแข่งขันกัน ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยเหลือและทำงานเป็นทีมมากขึ้น
- ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต ร่วมกับระบบอาจารย์ที่ปรึกษา
- ฝึกการสร้างแรงจูงใจในการเรียนโดยไม่ใช้เกรดเป็นตัวกระตุ้น
- ส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความต้องการของนักศึกษาแต่ละคน
- ส่งเสริม well-being ที่ดีขึ้น
ผศ.พญ.ปองทอง ยังกล่าวด้วยว่า หลักเกณฑ์นี้ยังคงมีเกียรตินิยมอันดับ 1 และ 2 โดยนักศึกษาที่มีผลการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ 7 ด้าน ตลอดหลักสูตรอยู่ในเกณฑ์ดีมาก จะได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 ส่วนเกณฑ์ดีเลิศจะได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 ซึ่งจะต้องไม่มีรายวิชาใดได้ U และมีระยะเวลาเรียนไม่เกินระยะเวลาเรียนปกติ โดยจะต้องมีความประพฤติเหมาะสมแก่ศักดิ์ศรีแห่งปริญญาด้วย
หากสอบตกหรือได้ U จะทำอย่างไร? ผศ.พญ.ปองทอง บอกว่าภายในรายวิชา นักศึกษามีโอกาสสอบประเมินผลแก้ตัวได้ 1 ครั้ง ตามที่คณะฯ กำหนด หากยังสอบไม่ผ่านจะได้สัญลักษณ์ U นักศึกษาจะได้รับการประเมินว่าต้องการความช่วยเหลือด้านใด ซึ่งทางคณะฯ มีระบบให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านการศึกษาและทางด้านจิตใจ
โดยหลักสูตรปรับปรุงปี 2568 รองรับกรณีที่นักศึกษาไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต แต่เรียนครบสอบผ่านอย่างน้อย 4 ปี โดยมีรายละเอียดตามเงื่อนไขที่หลักสูตรกำหนดไว้ นักศึกษาจะสามารถขอรับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือ วท.บ. (วิทยาศาสตร์การแพทย์) ได้เมื่อครบตามเงื่อนไขที่หลักสูตรกำหนดไว้
ขณะที่ เวธินี สืบนุการณ์ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปี 6 บอกว่า ได้มีโอกาสนำร่องได้รับการประเมินแบบ S/U ในบางรายวิชา พบว่า ช่วยลดความเครียดจากการสอบ โดยอยากจะใช้เวลาเรียนรู้และเข้าใจภาวะของผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
พร้อมทั้งเห็นว่า เมื่อจบออกไปก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับจำนวนคนไข้ที่มาก ซึ่งมองว่าปัญหาบุคลากรแพทย์ไม่เพียงพอยังคงเป็นปัญหาหลักของระบบสุขภาพไทย ทั้งยังหวังว่าจะเห็นค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับภาระงาน และการสร้าง “หมอครอบครัว” ช่วยส่งเสริมให้ระบบสุขภาพเท่าเทียมและยั่งยืนมากขึ้น
เช่นเดียวกับ เสกสรร ยอดสนิท นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 4 บอกว่า ไม่เฉพาะแต่เรียนรู้เรื่องการรักษาโรค แต่อาจารย์ยังพยายามสอดแทรกเรื่องระบบสุขภาพลงไปในทุกรายวิชา โดยเฉพาะเวชศาสตร์ชุมชน ซึ่งมีนักศึกษาแพทย์สนใจประเด็นเชิงนโยบายระบบสุขภาพจำนวนมาก มีการตั้งชมรม และอาจารย์ก็ชวนลงไปร่วมทีมวิจัย โดยเฉพาะกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ยังพบช่องโหว่ในการเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของนโยบายนี้ แต่ยังไม่สามารถทำได้อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ คณะแพทย์รามาฯ ผลิตแพทย์จบใหม่ปีละ 220 คน และแพทย์ประจำบ้าน เฉลี่ยปีละ 800 กว่าคน พยายามปรับกระบวนการเรียนแพทย์ ให้นักศึกษาแพทย์รามาฯ มีความเป็น Change agent หรือ ผู้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลง ทั้งในระดับนโยบายและกิจกรรมต่าง ๆ ภายในและภายนอกคณะ นอกจากรักษาคนได้แล้ว ยังต้องมีความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงระบบสุขภาพทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบายได้
อย่างไรก็ตาม โรงเรียนแพทย์ที่มีการเปลี่ยนเกณฑ์การประเมินนักศึกษาแพทย์เป็น S/U แห่งแรกคือ
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มในปีการศึกษา 2567 ต่อด้วยคณะแพทย์ รามาฯ เป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ที่มีการเปลี่ยนเกณฑ์การประเมินนักศึกษาแพทย์เป็นแบบ S/U