- รมว.สธ. ยังไม่ได้รับหนังสือมติแพทยสภาอย่างเป็นทางการ แต่เตรียมพิจารณาอย่างรอบคอบภายใน 15 วัน แม้จะมีสายสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย
- ทีมแพทย์ที่ถูกลงโทษยื่นขอความเป็นธรรม โดยอ้างว่ามีข้อมูลใหม่ที่แพทยสภายังไม่พิจารณา และพยายามสร้างกรอบเรื่องเล่าใหม่ เพื่อมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของ รมว.สธ.
- คำตัดสินของ รมว.สธ. เป็นบททดสอบความโปร่งใส และอิสระของระบบ จับตา วีโต้ มติเดิม กระทบต่อความน่าเชื่อถือของวงการแพทย์ และอาจถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่ ?
ท่ามกลางกระแสสังคมที่จับตาอย่างใกล้ชิดต่อกรณีแพทยสภา มีมติให้ลงโทษแพทย์ 3 คน จากกรณีการรักษา ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คำถามสำคัญกำลังพุ่งเป้าไปที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ สภานายกพิเศษแพทยสภา ซึ่งมีอำนาจให้ความเห็นต่อมติดังกล่าว ว่าจะยึดตามมติเดิม หรือ วีโต้ ให้ทบทวน!
‘ยังไม่ได้รับหนังสือ’ แต่ต้องเตรียมตอบคำถามสังคม
สมศักดิ์ ยืนยันต่อสื่อมวลชนเมื่อ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือมติแพทยสภาอย่างเป็นทางการ แต่รับทราบจากข่าวว่าเรื่องนี้อยู่ในความสนใจของสาธารณะ พร้อมย้ำว่า เมื่อหนังสือส่งมาถึง จะพิจารณาอย่างรอบคอบภายใน 15 วันตามกรอบเวลา และอาจตั้งคณะทำงานส่วนตัวขึ้นมาช่วยกลั่นกรองข้อมูลก่อนให้ความเห็น

รมว.สธ. ย้ำชัดว่า ไม่ได้รู้สึกกดดัน พร้อมตอบทุกคำถามจากสังคม และยึดหลักเหตุผลเป็นที่ตั้ง แม้จะมีความเชื่อมโยงทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ระบุว่า “ยิ่งต้องทำงานให้ละเอียด” เพราะประสบการณ์การเมืองกว่า 40 ปี ทำให้รู้ว่าความชัดเจน และเหตุผลเท่านั้นจะรักษาความน่าเชื่อถือได้
ทีมหมอทักษิณ เคลื่อนไหว ยื่นขอความเป็นธรรม
เนติธร หลินหะตระกูล ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก พล.ต.ท. นพ.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ หนึ่งในแพทย์ที่ถูกลงโทษ เดินทางมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อสภานายกพิเศษฯ โดยอ้างว่าข้อมูลที่แพทยสภาใช้ในการวินิจฉัยยังไม่ครบถ้วน และมีข้อมูลใหม่ที่ชี้ว่าผู้ป่วยมีอาการวิกฤตจริงในช่วงเวลานั้น พร้อมแนบหลักฐานจากเวชระเบียนมายืนยัน
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ แม้จะมาก่อนที่ รมว.สาธารณสุข จะได้รับหนังสือมติแพทยสภาอย่างเป็นทางการ แต่สะท้อนว่า ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามสร้าง กรอบเรื่องเล่า ที่แตกต่างจากสิ่งที่แพทยสภาชี้ไว้ เพื่อให้มีน้ำหนักต่อการพิจารณาของรัฐมนตรี หรือไม่ ?
15 วันของความไว้วางใจ และคำถามเรื่องความโปร่งใส ?
แม้ รมว.สาธารณสุข ประกาศชัดว่า “ไม่กลัวทัวร์ลง” และจะไม่ยื้อเวลา แต่ความกังวลในหมู่ประชาชนยังคงอยู่ เพราะประเด็นนี้แตะต้องทั้งความน่าเชื่อถือของวิชาชีพแพทย์ และความเป็นธรรมของกลไกรัฐบาลที่มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับผู้ได้รับการรักษา
กรอบเวลา 15 วันหลังได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการ กลายเป็นเส้นตายสำคัญที่ต้องจับตา เพราะหาก รมว.สาธารณสุขให้ความเห็น “ไม่เห็นด้วย” กับมติแพทยสภา หรือ วีโต้ กลับไป จะต้องผ่านการลงมติของคณะกรรมการแพทยสภาอีกครั้ง โดยใช้เสียง 2 ใน 3 ในการยืนยัน หรือกลับมติ
ศึกในวงการแพทย์ที่กลายเป็นศึกทางการเมือง ?
กรณีนี้สะท้อนความเปราะบางของเส้นแบ่งระหว่าง วิชาชีพแพทย์ กับ ผลประโยชน์ทางการเมือง การตัดสินใจของ รมต.สมศักดิ์ จึงไม่ใช่แค่การรับรองหรือโต้แย้งมติแพทยสภา แต่คือบททดสอบความเป็นอิสระของกระทรวงสาธารณสุข และมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพที่ควรอยู่เหนืออิทธิพลใด ๆ
เมื่อสังคมกำลังเฝ้ารอดูว่า “ใครจะวีโต้ใคร ?” คำตอบสุดท้ายจึงไม่ใช่แค่คำตัดสินของรัฐมนตรีคนหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นคำตอบต่อความไว้วางใจในระบบ และการพิสูจน์ว่า หลักวิชาชีพ จะหนักแน่นพอต้านแรงดึงดูดของ การเมือง ได้จริงหรือไม่ ?