‘จิตแพทย์’ เผยปมซ่อนเร้นสุขภาพจิตคนในเครื่องแบบ พบความเครียดใต้ภาพลักษณ์ความเข้มแข็ง พร้อมเสนอ 5 นโยบาย ดึงระบบราชการออกจากวังวนอำนาจนิยม-ปรับมุมมองความเป็นชายชาตรี
วันนี้ (30 พ.ย. 2567) นพ.เดชา ปิยะวัฒน์กูล จิตแพทย์และนักวิชาการอิสระ ระบุใน รายการนโยบาย by ประชาชน ได้นำเสนอ นโยบายสุขภาพจิตในบุคลากรฝ่ายความมั่นคง โดยระบุว่า เหตุการณ์กราดยิงที่โคราช และหนองบัวลำภู ซึ่งผู้ก่อเหตุในทั้งสองกรณีมีความเกี่ยวข้องกับบทบาทด้านความมั่นคง โดยในเหตุการณ์แรก ผู้ก่อเหตุเป็นทหาร และในเหตุการณ์หลัง ผู้ก่อเหตุเป็นอดีตตำรวจ เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาสุขภาพจิตที่มีความซับซ้อนมากกว่าปัจจัยด้านคุณภาพชีวิตทั่วไป
ปัญหาสุขภาพจิตในกรณีนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับแรงกดดันจาก “ระบบอำนาจนิยม” ในองค์กรและค่านิยม “ชายชาตรี” ที่ผลักดันให้ต้องปกปิดความอ่อนแอและความเปราะบางภายในจิตใจ ผู้ที่อยู่ในระบบดังกล่าวมักหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธการเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์หรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมบำบัด ส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้รับการแก้ไขและอาจพัฒนาไปสู่พฤติกรรมรุนแรงในที่สุด
หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เราเห็นความพยายามในการตื่นตัวเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจิต แต่ไม่นานความสนใจก็เงียบหายไป ไม่มีการเก็บข้อมูลหรือการติดตามผลจากการคัดกรองที่เคยดำเนินการไว้ ส่งผลให้ปัญหาเดิมยังคงอยู่ เช่น ระบบฐานข้อมูลที่ล้าสมัย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และยากต่อการนำไปศึกษาวิจัยหรือพัฒนาต่อยอด นอกจากนี้ การบันทึกข้อมูลและระบบทะเบียนยังถูกบิดเบือนด้วยอำนาจรัฐ ทำให้ความน่าเชื่อถือของข้อมูลลดลง
อีกทั้งการบริหารราชการในลักษณะแนวตั้งยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะในบริบทที่ต้องการความร่วมมือแบบบูรณาการ ทัศนคติอำนาจนิยมที่ฝังรากลึกในระบบราชการยิ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางการรณรงค์ทางสังคมยุคใหม่ที่เน้นการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส ปัญหาเหล่านี้ยังรวมถึงความไม่เป็นเอกภาพภายในหน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการแก้ไขปัญหาในภาพรวม
นพ.เดชา ยังกล่าวด้วยว่า จนถึงปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 5 ปี เมืองไทยยังไม่มีการนิยามอย่างชัดเจนเกี่ยวกับ Active Shooter ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในการจัดการเหตุกราดยิง ลักษณะของ Active Shooter แตกต่างจากการยิงทั่วไปตรงที่ไม่มีเหตุผลชัดเจน เช่น การยิงเพื่อป้องกันตัวหรือการปล้นทรัพย์ แต่เป็นการยิงเพื่อความสะใจ ยิงเอามัน และมุ่งหวังให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด
แต่ในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานหรือกลุ่มทำงานเฉพาะกิจที่จัดการนิยามหรือจัดหมวดหมู่เหตุการณ์เช่นนี้อย่างเป็นระบบ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงที่ควรทำหน้าที่ดังกล่าวกลับขาดบทบาท ทำให้หน้าที่นี้ตกไปอยู่กับสื่อมวลชนที่นิยามไปตามความเข้าใจส่วนตัว ซึ่งมักคลาดเคลื่อนและไม่เป็นมาตรฐาน
ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีล่าสุด เช่น เหตุการณ์ที่ผู้ก่อเหตุใช้ปืนยิงสมาชิกครอบครัว รวมถึงตัวเอง คำถามที่เกิดขึ้นคือ เหตุการณ์แบบนี้ควรถูกจัดอยู่ในหมวด Active Shooter หรือไม่? ควรมีการบันทึกข้อมูลไว้ในระบบอย่างไร ? และมาตรการต่อจากนี้ควรเป็นอย่างไร? ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการกำหนดนิยามที่ชัดเจน และพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูล รวมถึงแนวทางรับมือกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้อย่างเป็นระบบและทันสมัย
นพ.เดชา ได้เสนอ 5 นโยบายเพื่อพัฒนาสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ดังนี้:
1. พัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพจิตที่ทันสมัย
จัดทำฐานข้อมูลสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่รัฐที่ติดอาวุธในทุกระยะของอาชีพ ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกเข้ารับราชการจนกระทั่งปลดประจำการ เพื่อให้สามารถติดตาม ดูแล และประเมินสุขภาพจิตได้อย่างต่อเนื่อง
2. ปรับปรุงการประสานงานระหว่างหน่วยงาน
เสริมสร้างการประสานงานระหว่างหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานด้านสุขภาพจิต เพื่อให้การดูแลและแก้ไขปัญหามีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
3. รณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตในผู้ชาย
มุ่งลดตราบาปและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มผู้ชาย โดยเฉพาะในเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่มักต้องแบกรับบทบาทของ “ชายชาตรี” ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเปิดเผยปัญหาและการเข้ารับการรักษา
4. จัดตั้งหน่วยงานจิตวิทยาอาชญากรรมและวิเคราะห์พฤติกรรม
ก่อตั้งหน่วยงานเฉพาะทางที่ทำหน้าที่วิเคราะห์พฤติกรรมอาชญากรและให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาอาชญากรรม เช่นเดียวกับที่มีในหลายประเทศ เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
5. จัดตั้งคณะทำงานและทีมวิจัยเกี่ยวกับ “Active Shooting”
ศึกษาและกำหนดนิยาม รวมถึงเกณฑ์ชี้วัดของ Active Shooting อย่างเป็นระบบ พร้อมจัดตั้งทีมวิจัยข้ามหน่วยงานเพื่อพัฒนาความเข้าใจและแนวทางรับมือกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้
นพ.เดชา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตในผู้ชาย ซึ่ง สสส. สามารถทำได้เลย โดยชี้ให้เห็นถึงแนวทางสำคัญที่สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงค่านิยมและมุมมองเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิต ดังนี้
1. การขอความช่วยเหลือคือความปกติ
การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือบุคคลใกล้ชิดไม่ควรถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ แต่ควรถือเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลตัวเองที่สำคัญ
2. สร้างจินตนาการใหม่เกี่ยวกับความเป็นชาย
การสร้างนิยามใหม่ของ “ความเป็นชาย” ที่ไม่ได้ยึดติดกับความแข็งแกร่งทางกายภาพหรือการปิดกั้นอารมณ์ แต่ยอมรับถึงความหลากหลายและความเปราะบางที่เป็นธรรมชาติ
3. รู้ก่อน ช่วยได้ดีกว่า
การตระหนักรู้และเข้าถึงความช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นแนวทางที่ประหยัดทั้งทรัพยากรและเวลา อีกทั้งยังให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับการแก้ไขปัญหาที่เรื้อรัง
4. รักษาความเชื่อมโยงกับผู้อื่น
ความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงกับผู้อื่นในสังคมเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความสมดุลทางจิตใจและลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพจิต
5. ความสุขมีหลากหลายหนทาง
ความสุขไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว การเปิดใจยอมรับวิถีชีวิตที่หลากหลายสามารถช่วยให้ค้นพบสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองได้มากขึ้น
“สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจคือค่านิยมความเป็นชายที่ผิด ๆ โดยเฉพาะคนที่มีความเป็น ชายเว่อร์ๆ แบบสุดโต่ง ต้องระวังให้ดี พวกที่มีลักษณะเหมือนโจรแต่ฝันอยากเป็นตำรวจ ถ้าเราไม่เข้าใจปัญหาตรงนี้ มันจะแก้ไม่ได้ ต้องรอให้ปัญหาบานปลาย เช่น ติดเหล้า ติดยา แล้วไปก่อเหตุรุนแรง อย่างเอาปืนมายิงคนอื่นถึงจะเห็นผลกระทบ”
นพ.เดชา บอกด้วยว่า เราต้องปรับมุมมองเรื่องความเป็นชายใหม่ ให้มองว่าผู้ชายก็เป็นมนุษย์ธรรมดา มีปัญหาก็ต้องแก้ไปตามความเป็นจริง ไม่ต้องปิดบังหรือฝืนตัวเอง เพราะถ้าเริ่มรักษาตั้งแต่ตอนมีอาการเบื้องต้น เช่น ซึมเศร้า การรักษาจะง่ายกว่ามาก อีกเรื่องที่สำคัญคือการดูแลความสัมพันธ์กับคนรอบตัว การเชื่อมโยงกับคนอื่นช่วยให้เรายังคงสมดุลในชีวิตได้ เพราะมนุษย์ที่โดดเดี่ยวมักจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและอันตรายที่สุด
“สุดท้าย อยากบอกว่าอย่าหลงเชื่อว่าความสุขต้องมาพร้อมกับความร่ำรวย อำนาจ หรือตำแหน่งใหญ่โต มันไม่จริงเลยครับ ชีวิตไม่ได้ง่ายแบบนั้น การรณรงค์ทางสังคมควรเน้นย้ำเรื่องพวกนี้ให้มากขึ้น”
ขณะที่ รศ.พันตำรวจโท กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวถึงปัญหาสุขภาพจิตในเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เนื้องานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความกดดันและเครียดสูง ตัวอย่างเช่น พนักงานสอบสวนต้องรับมือกับการแจ้งความในคดีต่าง ๆ อย่างคดีฉ้อโกงออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่สามารถทำงานได้ทันตามกำหนด ก็จะถูกกดดันทั้งจากผู้บังคับบัญชาและผู้เสียหาย ฝ่ายสืบสวนเองต้องเผชิญความกดดันในการจับกุมผู้ต้องหา โดยเฉพาะในคดีที่อยู่ในความสนใจของสังคม ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีปัญหาด้านทรัพยากร เช่น งบประมาณสนับสนุนที่ไม่เพียงพอ บางครั้งเจ้าหน้าที่ต้องควักเงินส่วนตัวเพื่อจัดหาอุปกรณ์ ทำให้เกิดความเครียดสะสม
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายที่อาจขาดความโปร่งใส และแรงกดดันจากผู้บังคับบัญชา ซึ่งบางครั้งไม่มีภาวะผู้นำหรือความเข้าใจในเนื้องาน ส่งผลให้การสั่งงานไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือบางกรณีอาจมีการสั่งการในลักษณะที่ขัดต่อหลักการหรือความสามารถของเจ้าหน้าที่ สิ่งเหล่านี้สะสมจนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่บางรายตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง
อาชีพตำรวจยังมีความเสี่ยงในการเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่าย ซึ่งเมื่อเกิดความเครียด โอกาสที่จะลงมือฆ่าตัวตายสำเร็จจึงสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ เคยมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายใช้อาวุธปืนทำร้ายผู้บังคับบัญชาด้วยความกดดันจากคำสั่งที่ไม่เหมาะสม
รศ.พันตำรวจโท กฤษณพงค์ เสนอว่า ควรมีการวางแผนให้คำปรึกษาในระดับชุมชน ไม่ใช่แค่ส่วนกลาง แม้ว่าจะมีสายด่วนให้คำปรึกษา แต่ก็ไม่สามารถทดแทนการพูดคุยอย่างลึกซึ้งและเห็นหน้ากันได้ ผู้บังคับบัญชาควรมีความเข้าใจในเนื้องานและเข้าถึงจิตใจของผู้ใต้บังคับบัญชา การสั่งงานควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเมตตา
นอกจากนี้ อยากให้ประชาชนเข้าใจถึงความยากลำบากในงานของตำรวจด้วย เพราะการคาดหวังหรือกดดันเกินไป ยิ่งเพิ่มความเครียดให้เจ้าหน้าที่
ขณะที่ปัจจุบันมีความพยายามคัดกรองสุขภาพจิตของตำรวจทั่วประเทศ แต่ด้วยจำนวนข้าราชการตำรวจที่มีกว่า 200,000 ราย และจิตแพทย์ที่มีจำกัด ทำให้การประเมินทั้งหมดเป็นเรื่องยาก การทำงานเชิงรุก เช่น การเข้าไปพูดคุยกับตำรวจในสายงานที่มีความเครียดสูง เช่น ฝ่ายสืบสวนและฝ่ายปราบปราม จะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้าน สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง โดยเน้นการดำเนินงานในทุกระดับ ได้แก่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ
1. ต้นน้ำ
- ลดอำนาจนิยมในระบบ
- ยกระดับคุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้พวกเขามีเวลาและโอกาสไปใช้ชีวิตในสิ่งที่ชอบ นอกเหนือจากภาระงาน
2. กลางน้ำ
- ให้ความรู้ด้านสุขภาพจิต
- ส่งเสริมการฝึกฟังอย่างไม่ตัดสินและไม่ตีตรา active listening มองเจ้าหน้าที่ไม่ใช่แค่ลูกน้อง แต่เป็นเพื่อนมนุษย์ในสังคมเดียวกัน
- พัฒนาระบบสนับสนุนในองค์กร โดยให้มีบุคคลที่รับบทบาท “ซับพอร์ตเตอร์” เพื่อช่วยสร้างพื้นที่แบ่งปันความเครียดหรือปัญหา
3. ปลายน้ำ
- กระจายการบำบัดรักษาสุขภาพจิตไปสู่ระดับท้องถิ่น
- เพิ่มบุคลากรด่านหน้า เช่น นักจิตบำบัด ให้กลับมาทำงานดูแลเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิดก่อนส่งต่อไปยังจิตแพทย์
- สนับสนุนการทำกิจกรรมบำบัด เพื่อลดความเครียดและฟื้นฟูสภาพจิตใจ
สิริลภัส ยังชี้ว่า มีงานวิจัยจำนวนมากที่สามารถนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลในการออกแบบนโยบายที่เหมาะสม แต่ปัจจุบัน นโยบายด้านสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก หลายเรื่องยังไม่ได้ถูกเสนอเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการหรือผลักดันในรัฐสภา
เธอระบุว่า พร้อมรับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชน เพื่อนำไปขับเคลื่อนเชิงนโยบายให้เกิดการดูแลสุขภาพจิตของผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพมากขึ้น