หน.หน่วยวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ สวสส. เสนอ ล้อมคอกมาตรฐานสถานให้บริการนวดเพื่อสุขภาพ พบ ใช้เทคนิคนวดจัดกระดูก แบบครูพักลักจำ ไม่ผ่านการเรียน อบรมอย่างถูกต้อง ทำผู้ใช้บริการเกิดความเสี่ยง เสนอปรับแก้ ใบอนุญาตให้บริการนวดเพื่อสุขภาพตลอดชีพ เป็นทุก ๆ 5 ปี ปิดจุดบอดการให้บริการกระทบต่อผู้บริโภค
จากกรณีที่ปรากฎเป็นข่าวมีผู้เข้ารับบริการนวดไทย ซึ่งระบุว่าเป็นการนวดบิดคอจนส่งผลให้เสียชีวิต ซึ่งข่าวเกิดขึ้นทำให้ผู้คนตื่นตกใจ และสร้างผลกระทบต่อกิจการนวดไทย แม้ล่าสุดมีข้อมูลทางการแพทย์ออกมายืนยันแล้วว่า การเสียชีวิตดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนวด แต่การวินิจฉัยพบว่า เป็น โรคไขสันหลังอักเสบ ซึ่ง สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ย้ำว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแนวปฏิบัติ การตรวจคุณภาพต่าง ๆ รวมถึงเรื่องการนวดไทยด้วย
สำหรับประเด็นดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก หัวหน้าหน่วยวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) ให้คำอธิบายไว้ว่า ผู้ประกอบอาชีพในร้านนวดเพื่อสุขภาพ ต้องอบรมนวดหลักสูตร 150 ชั่วโมง จึงไม่ถูกเรียกว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย” เพราะเน้นเพื่อบำรุงสุขภาพ ผ่อนคลาย เท่านั้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ นั่นคือ ผู้ให้บริการนวด อาจทำมากกว่าที่อบรม หรือไปครูพักลักจำจากศาสตร์อื่น ๆ เอามาให้บริการกับลูกค้า จนอาจเกิดอันตรายตามมา
“ช่องทางสื่อสารออนไลน์ ทำให้รับรู้การใช้ศาสตร์อื่น ๆ มากขึ้น ผู้ให้บริการนวดบางคนจึงใช้วิธี ครูพักลักจำ เอาวิธีนวดจัดกระดูกมาใช้กับลูกค้า ซึ่งเป็นข้อน่าเป็นห่วงและสร้างความน่ากังวล เพราะการใช้เทคนิคเหล่านี้ มีไว้สำหรับ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เรียนรู้ด้าน กายวิภาควิทยาของร่างกาย และ ต้องตรวจโรคเป็น สามารถใช้เครื่องมือเอกซเรย์ (X-ray) หรืออื่น ๆ เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจถึงโครงสร้างของข้อต่อกระดูกในส่วนต่าง ๆ เช่น การนวดจัดกระดูกแบบไคโรแพรกติก (Chiropractor treatment) คือ การนวดจัดกระดูกที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาเส้นประสาทในกระดูกและข้อกระดูกให้กลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพื่อจัดตำแหน่งโครงสร้างของกระดูก และข้อต่อตามร่างกายให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติอีกครั้ง ผู้เรียนด้านนี้เป็นมืออาชีพ ใช้เวลาเรียนเฉพาะศาสตร์นี้ 5-6 ปี เพราะต้องแม่นยำด้านกายวิภาคสรีระวิทยาของมนุษย์ เช่น การตรวจ การอ่านผลเอกซเรย์ ซึ่งการนวดจัดกระดูกแบบไคโรแพรกติก ถือเป็นศาสตร์ทางเลือก”
ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก
ภก.ยงศักดิ์ ย้ำว่า ในประเทศไทยการเรียนการสอนนวดจัดกระดูกแบบไคโรแพรกติกไม่มี แต่จะมีสอนเฉพาะที่สหรัฐฯ ซึ่งมีคนไทยจำนวนน้อยที่ไปเรียน เมื่อกลับมาเมืองไทยได้มาขอใบประกอบโรคศิลปะ เพื่อประกอบอาชีพ ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะอนุญาตให้เป็นรายกรณี ส่วนกายภาพบำบัด ก็ถือเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง ที่มีการดัดคอและข้อต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นความรู้เฉพาะทาง และ แพทย์แผนไทย คือ ผู้ประกอบวิชาชีพ ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพ มีใบประกอบโรคศิลปะอย่างถูกกฎหมาย ดังนั้น ปัญหาผู้ประกอบอาชีพในร้านนวดเพื่อสุขภาพ บางคนใช้วิธี ครูพักลักจำ เอาวิธีนวดจัดกระดูกมาใช้กับลูกค้า จึงเกิดคำถาม จะควบคุมมาตรฐานให้บริการให้อยู่ในขอบเขตที่ได้รับการอบรมอย่างไร
ภก.ยงศักดิ์ บอกอีกว่า เป็นหน้าที่ของ ผู้ดำเนินการสถานประกอบการ ต้องควบคุมมาตรฐานดำเนินการให้อยู่ในกรอบของอบรมนวดหลักสูตร 150 ชั่วโมง ที่ห้ามมิให้มีการดัด หรือ ดึง ร่างกายส่วนต่าง ๆ ของผู้มารับบริการนวด อย่างเด็ดขาด แต่ปัญหาคือ ผู้บริโภคที่เป็นผู้รับบริการ ไม่สามารถรู้ขอบข่ายการให้บริการในร้านนวดมีขีดความสามารถแค่ไหน จึงถือเป็นจุดที่มีปัญหา ดังนั้น ก่อนให้บริการนวด ผู้ดำเนินการสถานประกอบการ ต้องแจ้งลูกค้าให้รับทราบถึงขอบข่ายที่สามารถให้บริการ โดยเฉพาะการให้ข้อมูลความรู้ถึงจุดต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
อย่างไรก็ตาม การกำหนดมาตรฐานที่เป็นกรอบชัดเจนเหมือนกันทั่วประเทศ เพื่อปิดช่องโหว่ของปัญหา จึงขอเสนอให้ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, ตัวแทนวิชาชีพ, ตัวแทนผู้บริโภค, ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวกับการนวดไทย ให้มาช่วยกันกำหนดแผน ช่วยกันดูในเรื่องการให้ข้อมูลสถานบริการนวด รวมถึง ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการนวดเพื่อให้เกิดการรับรู้ที่ตรงกัน
ภก.ยงศักดิ์ ย้ำว่ายังมีอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก คือ ใบอนุญาตให้บริการนวดเพื่อสุขภาพเป็นแบบตลอดชีพ (ไม่ใช่ใบประกอบวิชาชีพ) จึงขอเรียกร้องไปยัง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่ออกใบอนุญาตให้กับบุคคลที่เรียน, โรงเรียนสอนนวดเพื่อสุขภาพของเอกชน, มูลนิธิ, สมาคม, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยเสนอให้ต้องต่ออายุทุก ๆ 5 ปี เหมือนกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ อีกทั้งในช่วงการต่ออายุใบอนุญาต ผู้ให้บริการนวดเพื่อสุขภาพต้องเข้ารับการอบรมเป็นระยะ รวมถึงเข้าใจในกฎระเบียบ ข้อห้าม ข้อควรระวัง จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง
ขณะที่ วีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า โดยปกติการนวดบริเวณคอต้องนวดด้วยความระมัดระวัง ที่สำคัญการเรียนการสอนนวดไทย ไม่สอนให้บิดคอ หักคอ และท่านวดพิสดาร วิชานวดไทยสามารถบำบัดรักษาได้แต่ต้องเป็นหมอนวดได้ใบประกอบวิชาชีพฯ ที่มีทักษะในการดัดดึงเพื่อรักษา ผู้บริโภคควรเลือกร้านนวดที่ได้รับการขึ้นทะเบียน และหมอนวดต้องผ่านการอบรมอย่างถูกต้องซึ่งมีนวดเพื่อสุขภาพและนวดบำบัดอาการโดยวิชาชีพฯ
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้กับ ธุรกิจสปา, นวดเพื่อสุขภาพ, หรือ เสริมความงาม ตามประกาศของ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ สปา-นวดไทย มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ได้แก่ สถานที่สะอาด, ผู้ประกอบการ/ผู้ดำเนินการมีคุณสมบัติครบถ้วน, ผู้ให้บริการผ่านการอบรมจากหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง และมีมาตรฐาน, การให้บริการ และความปลอดภัยขณะให้บริการ
“พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมคุณภาพ มาตรฐาน การดำเนินธุรกิจสปา-นวดโดยตรง เป็นกฎหมายฉบับแรกของโลก ไม่มีในต่างประเทศ จึงมั่นใจได้ว่าจะช่วยผลักดันธุรกิจนี้ รวมทั้งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ที่อยู่ในสายอาชีพนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพโดยตรง ทั้งนี้ธุรกิจสถานประกอบการเพื่อสุขภาพของไทย จะไม่มีบริการแอบแฝงใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของนวดไทยให้สมศักดิ์ศรี ความเป็นมรดกของภูมิปัญญาไทย และจะเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมในอนาคต”
วีรพงษ์ เกรียงสินยศ
ส่วนผู้จะมาเป็นผู้ให้บริการนวดนั้นต้องผ่าน หลักสูตรวิชาชีพนวดไทยเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง ที่สอนศิลปะการนวดเริ่มจากพื้นฐานอย่างถูกต้องตามแบบฉบับดั้งเดิมของวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นต้นแบบการนวดแผนโบราณของไทยและฝึกประสบการณ์ การนวดให้เป็นมืออาชีพ ที่สามารถนำไปปฏิบัติงานได้ ทั้ง มารยาท การวางมือ ท่านวด การจัดท่านวด ตำแหน่ง และแนวเส้นที่นวด ข้อควรระวัง และข้อห้ามในการนวด เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ ที่จะได้รับการบำบัด ขจัดความเมื่อยล้า คลายเส้นที่ตึง ดึงเส้นที่หย่อนให้เข้าที่ ผ่อนคลายความเครียด สร้างเสริมความพร้อมและพลังกายให้มีสมรรถภาพ พร้อมที่จะประกอบการงาน หรือออกกำลังกาย
จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันกลับมาทบทวน นวดไทย ให้สมกับการเป็นมรดกของชาติ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี 2554 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น ตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในปี 2562 ซึ่งประกาศรับรองโดย องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก-UNESCO)