‘ผอ.รพ.ท่าสองยาง จ.ตาก’ ชี้ รัฐมอบบริการสุขภาพชายแดน ช่วยสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ความมั่นคงชายแดน
วันนี้ (16 ธ.ค. 67) จากกรณีเพจ Drama-addict นำเสนอปัญหาจาก บุคลากรทางการแพทย์ชายแดน กล่าวถึงกรณี หญิงตั้งครรภ์จากเมียนมา เดินทางข้ามมารักษา ด้วยสิทธิชำระเงินเอง เป็น case GA 30 wks PPROM with Breech advice เรื่อง แผนการรักษา แม่ที่ต้องนอนนาน โดยระบุว่า ค่าผ่าตัดคลอดลูกที่ต้องนอน NICU นาน ค่าใช้จ่ายรวม ๆ กัน น่าจะหลายแสน ผู้ป่วยมาพร้อมกับล่ามที่พูดภาษาไทยได้ เพราะรู้ว่าหลังจากที่ลูกคลอดเขาสามารถเอาใบรับรองการเกิดลูกไปทำสิทธิเพื่อรักษาฟรีได้
“บอกตรง ๆ พยาบาลอึ้งค่ะ เขารู้กันขนาดนี้ ส่งต่อกันไปขนาดนี้ แล้วประเทศไทยจะแบกรับต่อไปไหวแค่ไหนอ่ะ ไม่ใช่เฉพาะแค่ค่ารักษา แต่ภาระงานที่เพิ่มขึ้น การเข้าถึงระบบสาธารณสุขของคนไทยที่ล่าช้าลงเพราะมีต่างชาติเข้ามาแทรกแซงในระบบสาธารณสุขไทยมากขึ้นหลายเท่า คนไข้คนไทยมา รพ.กว่าจะได้ตรวจเพราะรอคิวนานมากขึ้น ไปตรวจ OPD หรือ admit ตามวอร์ด มีแต่ต่างชาติเต็มไปหมด”
ทั้งยังระบุอีกว่า ประเทศไทยมีกองทุนสิทธิ์ ท.99 (สิทธิบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ์) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้รับรองปัญหาบุคคลข้ามชาติที่ไม่มีสิทธิ์การรักษาใด ๆ ซึ่งเมื่อคนไข้ได้สิทธิ์นี้จะไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาเลย โดยจะดึงเงินจากกองทุนมาช่วยค่าใช้จ่ายของคนไข้ให้กับโรงพยาบาลที่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายจากคนไข้เหล่านี้
“ตอนนี้ปัญหา คือ คนต่างด้าวส่งต่อกันไปทั่วแล้วว่าประเทศไทยเราสามารถสนับสนุนพวกเขาได้จากสิทธิ์ตรงนี้ ไหนจะการซื้อบัตร UC ที่ได้สิทธิ์การรักษาเทียบเท่ากับบัตรทองคนไทยทุกอย่าง อีกไม่นานระบบสาธารณสุขไทยคงล่มจม ถ้ารัฐบาลหรือกระทรวงไม่จัดการปัญหาตรงนี้ สงสารแต่บุคลากรไทยที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น และคนไทยที่เสียภาษีอย่างถูกต้องที่ต้องมาเสียผลประโยชน์จากช่องโหว่ที่ประเทศเราทำขึ้นมา สำหรับบุคลากรสาธารณสุขคนนึง เราว่าตอนนี้มันเกินคำว่ามนุษยธรรมไปมากแล้วนะ #เอ็นดูเขาเอ็นเราขาด”
พร้อมทั้งย้ำอีกว่า ตอนนี้ยอดคลอดของประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีมากกว่าคนไทย 2 เท่าแล้ว โดยเดือนที่แล้วคนไทยคลอด 80 คน จากประเทศเพื่อนบ้าน 160 คน
เปิดใจ ‘ผอ.รพ.ท่าสองยาง’ ย้ำ บริการทุกคนเท่าเทียมกัน
The Active สอบถามความเห็นประเด็นดังกล่าวกับ นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ในฐานะแพทย์ที่ทำงานดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ชายแดน อธิบายว่า ประเด็นของพี่น้องจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาล มีทั้ง 1. คนที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย และ 2. คนที่ข้ามมา เมื่อดูจากข้อมูล ทั้ง 2 กลุ่มนี้ พบว่า คนจากประเทศเพื่อนบ้าน ข้ามมาคลอดที่โรงพยาบาลท่าสองยาง มีเพียง 9% เท่านั้น
ส่วนคนที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว ซึ่งจริง ๆ เขาอาจจะเป็นคนที่ต้องมีสัญชาติไทยไปแล้ว แต่เนื่องจากความบกพร่องของกระบวนการที่ทําให้ได้สัญชาติไทย รับรองสัญชาติไทยยังมีความบกพร่องอยู่ ทําให้ไม่ได้สัญชาติไทย และกลายเป็น “ต่างด้าวเทียม” ซึ่ง นพ.ธวัชชัย ชี้ว่า “ถ้ามองว่าเขาเป็นต่างด้าว แล้วเป็นภาระกับคนไทย นี่ก็อาจจะไม่ใช่ เพราะจริง ๆ เขาควรต้องเป็นคนไทยอยู่แล้ว”
สิทธิ์ ท.99 สำหรับคนที่อยู่ไทย รอรับรองสัญชาติไทย
นพ.ธวัชชัย บอกอีกว่า สิทธิ์ ท.99 เป็นสิทธิ์สำหรับบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ์ คือ ต้องเป็นของคนที่อยู่ในไทยอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มีคนที่เข้ามาเกิดเขาจะได้สิ่งนี้ ในมุมมอง ซึ่งเข้าใจว่า รัฐบาลไทยอาจจะมองว่า คือ เขาก็จะเป็นคนที่อยู่ในประเทศไทย หรือ ว่าอยู่ใกล้ ๆ ข้ามไปมาได้
“ต้องบอกว่ามันก็เหมือนเพื่อนบ้านกัน บางคนเขามีญาติอยู่ฝั่งโน้น จนพอแบ่งประเทศ ญาติเขาก็อาจจะมาไม่ได้ แล้วก็ถูกกีดกันว่าไม่ได้เป็นคนไทย คนที่อยู่ฝั่งไทยก็ได้เป็นคนไทย แต่เขาก็มีการเคลื่อนย้ายข้ามไปข้ามมา คนไทยบางคนก็ไปทําไร่ฝั่งเมียนมา หรือบางทีคนไทยเราก็จ้างคนฝั่งเมียนมาเข้ามาทําไร่อย่างนี้ครับ คือเขาก็ไปมาหาสู่กันอยู่แล้ว”
นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์
นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า อย่างกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ จากกรณีที่เป็นข่าว ระบุถึงการคลอด ถ้ามุมมองในสาธารณสุข คือ การคลอดที่โรงพยาบาลปลอดภัยที่สุด และหากมองในพื้นที่ชายแดน โรงพยาบาลฝั่งเมียนมายังขาดความพร้อม ไม่ค่อยมีสถานพยาบาล รวมทั้งมีสถานการณ์ความไม่สงบในเขตชายแดน ทําให้หลาย ๆ โรงพยาบาลขาดแคลนบุคลากร ขาดเครื่องไม้เครื่องมือ NGO ที่เคยสนับสนุนก็ถอนตัวไป เนื่องจากความไม่สงบ ทำให้เขาเลือกที่จะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลไทย
“ถ้าเป็นผม ผมเป็นพ่อแม่ หรือเป็นญาติ ผมก็อยากให้ลูกผมหรือญาติผมได้คลอดในที่ที่ปลอดภัย อันนี้มันก็ไม่ผิดหรอกครับ ผมว่าเราก็ใช้ความรู้สึกธรรมดาอย่างนี้ครับ แต่คนทํางานก็จะมองว่ามีเขา มีเรา พอไม่ใช่พวกเรา ก็อาจจะรู้สึกไม่ดี”
นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์
นพ.ธวัชชัย ยังพยายามสื่อสารกับบุคลากรในประเด็นนี้ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้ชายแดน มีผู้ป่วยข้ามไป ข้ามมา จึงย้ำว่า ตอนนี้ประเทศไทยเราไม่แน่ใจว่า เราพึ่งเมียนมามากกว่า หรือเมียนมาพึ่งเรามากกว่า เพราะว่าถ้าเอาคนเมียนมาออกไป ประเทศไทย ก็จะได้รับผลกระทบ คือ เมียนมาเขาอาจจะพึ่งพาไทยในเรื่องเศรษฐกิจ ขณะที่ไทยเองก็พึ่งแรงงานจากเมียนมาเช่นกัน
อีกประเด็น คือ เรื่องความมั่นคงทั้งทางด้านสุขภาพ และความมั่นคงชายแดน ควรมองว่า นี่เป็นเหมือน CSR ประเทศไทยอย่างหนึ่ง ถ้านําไปขยายผลว่า ไทยดูแลคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ถ้าดูแลดี จะนำไปสู่การดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะทางยุโรป อเมริกา ที่เขามองเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสําคัญ
ส่วน ความมั่นคงในชายแดน การที่มีมากกว่าแล้วให้ จะเป็นการป้องกันชายแดนอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องไปซื้ออาวุธ แต่คนกลับมองรัฐไทย ดูแลคนไทยไม่ดีพอ เอ็นดูเขาเอ็นเราขาด
ผอ.รพ.ท่าสองยาง บอกอีกว่า พื้นที่ชายแดนไม่ใช่มีแค่ โรงพยาบาล ที่ดูแลเรื่องสุขภาพ แต่มีทั้ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อ.ท่าสองยาง ก็จะมี สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และเมื่ออยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถิ่นทุรกันดาน อาจจะไม่มีสัญญาณไฟฟ้า ไม่มีอินเทอร์เน็ต ถ้าในมุมมองเรื่องสุขภาพ ก็พยายามเข้าไปให้บริการ แล้วก็ไปตั้งจุดบริการ เช่น มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปให้บริการ ทั้งส่งเสริมเรื่องการรักษา, เรื่องการฉีดวัคซีน, เรื่องการควบคุมโรค, เรื่องการป้องกันโรค, คัดกรองโรคต่าง ๆ ถามว่า ตรงนี้ดีกว่าฝั่งเมียน มาไหม ต้องบอกว่าเมียนมาไม่มีเลยโดยเฉพาะที่ชายแดน
“ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้ดูแลคนไทย คือ เราก็ดูแลคนไทย ในส่วนที่เราได้นะครับ ตามเกณฑ์ที่กระทรวงมีตัวชี้วัด นโยบายกระทรวงที่ให้ทำ เราก็ทำตามทั้งหมด ไม่ใช่ว่าเราจะดูแลเมียนมาอย่างเดียว หมายถึงว่า เราก็ออกไปให้บริการ ถ้าถนนไม่ดี สัญญาณโทรศัพท์ไม่มี ไฟฟ้าไม่ดี อันนี้มันก็เกินศักยภาพเราครับ ยืนยันว่า ในมุมของทางการแพทย์เอง เราก็ดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม”
นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์
ส่วนกรณีที่ยอดคลอดของพี่น้องจากประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าคนไทยตามที่เป็นข่าวนั้น นพ.ธวัชชัย ระบุว่า มีความเป็นไปได้ เพราะจากข้อมูลสถิติการเกิดของประชากรไทยในช่วง 2 ปี นี้ลดลง แม้กระทั่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยมีความเชื่อเรื่องการมีลูกหลายคน นั่นอาจทำให้สัดส่วนการคลอดในกลุ่มคนจากประเทศเพื่อนบ้านสูงกว่า เพราะอัตราการเกิดยังเท่าเดิม
อ่านข่าวเพิ่ม สู้รบเมียนมา โจทย์ใหม่ สาธารณสุขชายแดน