ชี้สถานการณ์การเงินฟ้อง ค่ายา ค่าแรงหมอ ‘สมศักดิ์’ ย้ำ ทุ่มงบฯ ส่งเสริมป้องกันโรค หวังลดยอดคนป่วย ‘นพ.จเด็จ’ ยันมะเร็งรักษาทุกที่ ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว คาดได้ข้อสรุปกับหน่วยบริการ 15 ม.ค. นี้
สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณา และเห็นชอบ “ข้อเสนองบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2569” ดังนี้
งบประมาณรวม
• วงเงินรวม: 272,583.32 ล้านบาท
• งบฯ เหมาจ่ายรายหัว: 204,174.99 ล้านบาท (เฉลี่ย 4,298.24 บาทต่อคน)
• ดูแลประชากร: 47.50 ล้านคน
• งบฯ ค่าบริการนอกเหมาจ่ายรายหัว: 68,408.32 ล้านบาท
• เมื่อหักเงินเดือนภาครัฐ: เหลืองบประมาณสำหรับบริหาร 201,136.87 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบกับปีงบฯ 2568 เพิ่มขึ้น 36,196.80 ล้านบาท หรือ 19.51% โดยงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้น 442.16 บาท ถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)
งบค่าบริการนอกเหมาจ่ายรายหัว (68,408.32 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 25.42%
รายละเอียดค่าบริการ
• ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์: 4,574.06 ล้านบาท
• ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง: 16,074.98 ล้านบาท
• โรคเรื้อรัง: 1,584.95 ล้านบาท
• หน่วยบริการในพื้นที่กันดาร/เสี่ยงภัย: 1,490.29 ล้านบาท
• บริการระดับปฐมภูมิ/นวัตกรรม: 4,188.96 ล้านบาท
• องค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาล/เมืองพัทยา/กรุงเทพฯ: 4,110.35 ล้านบาท
• ผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน: 6,267.29 ล้านบาท
• องค์การบริหารส่วนจังหวัด: 541.07 ล้านบาท
• เงินช่วยเหลือผู้รับ/ให้บริการ: 562.23 ล้านบาท
• สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั่วไป: 27,761.92 ล้านบาท
• สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค NCDs: 1,252.27 ล้านบาท
กรอบวงเงินสำหรับยาและเวชภัณฑ์ (13,617.10 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 33.2%
• รวมถึงยาจำเป็น, อุปกรณ์ทางการแพทย์, รากฟันเทียม, วัคซีน, ถุงยางอนามัย ฯลฯ
นโยบายสุขภาพของรัฐบาล (21,058.58 ล้านบาท)
• บริการแพทย์ทางไกล, ห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์, หน่วยนวัตกรรม 7 ประเภท
• บริการสร้างเสริมป้องกันโรค NCDs, ศูนย์ให้คำปรึกษาจิตเวช, สายด่วนสุขภาพจิต
สิทธิประโยชน์ใหม่ (1,276.54 ล้านบาท)
• สายด่วนเลิกเหล้า, สายด่วนท้องไม่พร้อม, ธนาคารนมแม่
• วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบในเด็ก, วัคซีนไข้หวัดใหญ่
• คัดกรองโรคกระดูกพรุน, ตรวจคัดกรอง Autistic disorder
• ชุดตรวจ Microalburnin, การดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
• บริการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในชุมชน
รมว.กระทรวงสาธารณสุข บอกด้วยว่า ในปี 2569 รัฐบาลมีนโยบายที่มุ่งมั่นยกระดับการดูแลสุขภาพให้กับประชาชน ทั้งการต่อยอดนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ลดโรคไม่ติดต่อที่สำคัญ จัดบริการสุขภาพเชิงรุก บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เป็นต้น เหล่านี้ส่วนหนึ่งจะขับเคลื่อนภายใต้งบประมาณกองทุนบัตรทองฯ ที่ เป็นข้อเสนองบประมาณปี 2569 ซึ่งบอร์ด สปสช. เห็นชอบนั้น ตนจะนำเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
ทำไมต้อง ของบฯบัตรทองเพิ่ม สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ให้สัมภาษณ์ The Active ว่า ปี 2569 ยอดงบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 19.5% โดยเพิ่มจากปีที่แล้วประมาณ 3 หมื่นล้านบาท มาจากนโยบายใหม่ ๆ เช่น การปรับปรุงการดูแลสุขภาพทุกโรค การขยายบริการเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรค ปัจจัยที่ทำให้ต้องเพิ่มงบประมาณได้แก่
- ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่ายาและค่าแรงที่สูงขึ้น (ผลจากอัตราเงินเฟ้อ)
- การคาดการณ์การให้บริการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้น หากสามารถสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ดี ก็อาจช่วยลดงบประมาณในส่วนนี้ได้ เช่น งบประมาณสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่เพิ่มขึ้นอีก 3,500 ล้านบาทในปี 2569
- สิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ และนวัตกรรมที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น เช่น การให้บริการในชุมชน การดูแลที่บ้าน การแพทย์แผนไทย เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาและทิศทางนโยบายของรัฐบาลในอนาคต โดยเฉลี่ยแล้ว งบประมาณบัตรทองจะขอเพิ่ม 3-5% ต่อปี ขณะที่ งบประมาณล่าสุดปี 2568 บัตรทองได้งบเพิ่ม 8%
’30 บาทรักษาทุกที่’ ยังต้องมีใบส่งตัว ?
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า กรณี 30 บาทรักษาทุกที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ตอนนี้ยังไม่มีการร้องเรียน หรือปัญหาใด ๆ ในสัปดาห์แรก อย่างไรก็ตาม กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ปัญหาในเรื่องบริการไม่มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่โรงพยาบาลในต่างจังหวัดสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีการจัดการที่ดีอยู่แล้ว
สิ่งที่กำลังเฝ้าระวังคือระบบหลังบ้าน เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลและใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงานปัญหาใด ๆ อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเฉพาะทางโดยไม่มีใบส่งตัว เช่น ผู้ป่วยโรคผิวหนังที่ไปสถาบันโรคผิวหนัง ซึ่งเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัว แต่ก็ยังมีการเรียกเอกสารนี้อยู่
“ตามนโยบาย เราไม่ได้บอกว่าจะไม่มีใบส่งตัว แต่ต้องการให้ใช้เพื่อดูประวัติผู้ป่วยเท่านั้น หากระบบข้อมูลเชื่อมโยงกันแล้ว ควรสามารถดูประวัติได้จากระบบโดยตรง หากมีปัญหาเกิดขึ้น เราต้องตรวจสอบว่ามาจากระบบหรือการสื่อสารที่ไม่เข้าใจในหน้างาน เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ บางครั้งอาจยังไม่เข้าใจกันทั้งหมด เราจะรับกรณีปัญหาเข้ามาเพื่อดูแลและแก้ไขต่อไป”
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
สำหรับกรณีที่กล่าวถึงโรงพยาบาล มีการเรียกเอกสารเพิ่มเติม เราจะต้องดูตามกติกาของแต่ละหน่วยบริการ ในกรุงเทพมหานคร ระบบจัดการอาจจะเฉพาะเจาะจงมากกว่าในต่างจังหวัด ซึ่งต้องมีการตกลงกันในแต่ละพื้นที่ หากเกิดปัญหาใดในพื้นที่ใด จะตรวจสอบและแก้ไขต่อไป
แต่ก็ยอมรับว่า ในกรณีที่หน่วยบริการขอดูข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอใบส่งตัว ก็เพื่อป้องกันการเบิกผิดพลาด เราเข้าใจว่านี่เป็นการตรวจสอบเพื่อความมั่นใจ หากไม่ขัดกับกติกา ก็สามารถดำเนินการได้ ถือเป็นการช่วยกันตรวจสอบเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต
‘มะเร็งรักษาทุกที่’ ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
สำหรับเรื่องการรักษามะเร็ง นพ.จเด็จ บอกว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งสามารถรับบริการทั้งตัวโรคมะเร็งและโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ที่หน่วยบริการที่มีความพร้อม ไม่จำเป็นต้องแยกไปรับบริการจากที่อื่น แม้ในอดีตจะมีความกังวลเกี่ยวกับงบประมาณ แต่ปัจจุบันมุ่งเน้นที่ประโยชน์ของประชาชนมากขึ้น
การปรับเปลี่ยนนโยบายนี้เป็นผลมาจากข้อเสนอแนะของโรงพยาบาลที่ให้บริการผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อให้บริการครอบคลุมและสะดวกยิ่งขึ้น สำหรับเรื่องงบประมาณจะดำเนินการเบิกจ่ายตามระบบ โดยช่วง 3 เดือนแรก จะมีการติดตามและประเมินผลว่าระบบนี้ทำงานได้ดีและเป็นประโยชน์จริงหรือไม่ หากพบว่าดีจะมีการพิจารณาใช้ระบบนี้ต่อไป
“ประเด็นที่มีความกังวลในอดีตเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับมะเร็งนั้นได้รับการแก้ไข โดยปัจจุบันผู้ป่วยสามารถเบิกค่ารักษาได้ทั้งหมดที่หน่วยบริการโดยไม่ต้องวิ่งไปขอใบส่งตัว หรือยืนยันจากหน่วยอื่น หากพบปัญหาในการปฏิบัติงาน เช่น โรงพยาบาลยังขอให้ผู้ป่วยไปขอใบส่งตัว ทาง สปสช. จะประสานงานเพื่อแก้ไข”
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
นอกจากนี้ ยังมีคณะทำงานที่ดูแลเรื่องยาที่ไม่อยู่ในบัญชียาหลักและปัญหาอื่น ๆ เพื่อให้ระบบบริการสุขภาพครอบคลุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเน้นการดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างเต็มที่ เพราะโรคนี้มีผลกระทบใหญ่ต่อผู้ป่วยและครอบครัว
นพ.จเด็จ เปิดเผยอีกว่า เท่าที่ทราบไม่เกินวันที่ 10 ม.ค. นี้ จะเริ่มประชุมกับหน่วยบริการที่รักษามะเร็ง โดยวันที่ 15 ม.ค. นี้ คงมีคำตอบ ว่ามีข้อเสนอแนะ และมีอะไรที่เกี่ยวข้องที่ต้องสื่อสารต่อไป