ผอ.รพ.ท่าสองยาง ชี้ค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ เปรียบเสมือนหนึ่งตำบล ผุดแนวคิด รพ.สต. ดูแลสุขภาพพื้นฐาน ช่วยผู้ลี้ภัย หลัง รพ.สนามในค่ายต้องปิดตัวลง ยอมรับ แม้เป็นภาระระบบสาธารณสุขไทย แต่ก็จำเป็นในฐานะด่านหน้า คุมโรคตามแนวชายแดน
วันนี้ (3 ก.พ. 68) เป็นวันแรกที่ ทีมบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก พร้อมด้วยตัวแทนจาก กรมสาธารณสุขรัฐกะเหรี่ยง (KDHW) ลงพื้นที่เข้าไปภายใน ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ เพื่อวางระบบสาธารณสุขร่วมกัน โดยมีการขนยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์เข้าไปด้วย อย่างไรก็ตาม The Active ไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอำเภอ ให้ติดตามภารกิจของทีมแพทย์กลุ่มนี้เข้าไปภายในค่ายผู้ลี้ภัย
กัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม ในฐานะกรรมาธิการว่าด้วยการส่งเสริมกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งลงพื้นที่ชายแดน จ.ตาก เมื่อเร็ว ๆ นี้ ให้สัมภาษณ์กับ The Active ว่า การจะเข้าไปตรวจสอบหรือทำข่าวเกี่ยวกับค่ายผู้ลี้ภัยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องได้รับอนุญาตจากหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการนำเสนอข้อมูลอย่างโปร่งใส
“ลองนึกภาพว่าภายในค่ายมีระบบเศรษฐกิจเล็ก ๆ ของตัวเอง เช่น ค่าข้าวสารที่ขายถูก ๆ ค่าภาษีแฝงจากสินค้าที่หมุนเวียนในค่าย หรือแม้แต่บริการบางอย่างที่มีค่าใช้จ่าย อย่างค่ารถเข้าออกจากค่าย หรือค่าแรงที่ถูกกดต่ำกว่าค่าจ้างมาตรฐาน”
กัณวีร์ สืบแสง
เผยแนวคิดจัดตั้ง ‘รพ.สต.ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ’
นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง เปิดเผยกับ The Active ว่า ค่ายผู้ลี้ภัยซึ่งมีประชากรประมาณ 30,000 คน ควรมี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อให้ระบบสาธารณสุขในพื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้แนวทางเดียวกับระบบสาธารณสุขที่คุ้นเคย
“ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้เปรียบเสมือนเป็นอีกหนึ่งตำบล การมี รพ.สต. จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาขั้นพื้นฐานได้ก่อน และเมื่อจำเป็น ก็สามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการรักษาเฉพาะทางได้”
นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์
นอกจากนี้ นพ.ธวัชชัย ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดเตรียมยาและเวชภัณฑ์ที่เพียงพอ เพื่อให้ ศูนย์สุขภาพระดับตำบล สามารถให้การดูแลเบื้องต้นแก่ผู้ลี้ภัยได้อย่างเหมาะสม
“การที่สหรัฐฯ ตัดงบประมาณครั้งนี้ ไม่เพียงกระทบต่อการดูแลสุขภาพของผู้ลี้ภัยในค่ายเท่านั้น แต่ยังเพิ่มภาระให้กับระบบสาธารณสุขไทย ในพื้นที่ชายแดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากการรักษาพยาบาลแล้ว การควบคุมโรคเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น การฉีดวัคซีน และการเตรียมแผนรับมือในกรณีที่เกิดโรคระบาด ศูนย์สุขภาพในพื้นที่ควรเป็นด่านหน้าในการดูแลเบื้องต้น ก่อนที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม”
นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์
โดย ศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบบ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ภายหลังจากที่สหรัฐอเมริกา ตัดงบประมาณโครงการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ส่งผลให้โรงพยาบาลสนามในค่ายผู้ลี้ภัย ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยต้องปิดตัวลง
แม้จะเรียกว่าศูนย์พักพิง “ชั่วคราว” แต่ ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ตั้งอยู่มาแล้วกว่า 41 ปี จากจุดเริ่มต้นที่มีประชากรเพียง 1,100 คน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 30,000 – 40,000 คน และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากอัตราการเกิดของเด็กภายในค่าย
ทั้งนี้ในตำบลแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก มีประชากรตามทะเบียนราษฎร์สัญชาติไทย จำนวน 20,477 คน ขณะที่ประชากรในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ มีมากกว่า 30,000 คน สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ประชากรในตำบลแม่หละ มีจำนวนผู้ลี้ภัยที่มากกว่าจำนวนคนไทยที่อยู่ในพื้นที่
สำหรับศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ แห่งนี้ อยู่ภายใต้การดูแลของ ปลัดอำเภอท่าสองยาง ในฐานะหัวหน้าค่าย ร่วมกับอาสาสมัครที่คอยดูแลด้านความปลอดภัยและป้องกันการลักลอบออกจากค่ายอย่างผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ชาวกะเหรี่ยงในค่ายสามารถเดินทางไปมาหาสู่กับชาวบ้านที่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงได้ตามปกติ พวกเขาใช้ช่องทางธรรมชาติต่าง ๆ เช่น ท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเปรียบเสมือน ประตูเข้าออก ของค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่แห่งนี้
ขณะที่ โรงพยาบาลในพื้นที่ชายแดน เช่น โรงพยาบาลท่าสองยาง ถูกมอบหมายให้รับดูแลผู้ป่วยจากค่ายผู้ลี้ภัยแทนองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ เช่น IRC ที่ไม่สามารถดำเนินงานต่อได้หลังจากงบประมาณถูกตัด