กรมอนามัย เล็งออกแบบแผนตรวจเลือดประชาชนพื้นที่เสี่ยงหลังสงกรานต์ เร่งตรวจสอบน้ำผิวดิน น้ำบาดาล พบระบบกรองน้ำชุมชน ยังมีโลหะหนักปนเปื้อน สั่งระงับใช้น้ำกก อุปโภค บริโภค
จากกรณีผู้เชี่ยวชาญมีข้อเสนอผ่าน The Active ต้องการให้ภาครัฐ ตรวจเลือด ตรวจเส้นผม ของชาวบ้านริมน้ำกก จ.เชียงใหม่, เชียงราย ภายหลังพบสารหนูปนเปื้อนน้ำกก เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบ และคัดกรองผู้มีสารโลหะในร่างกายเกินค่ามาตรฐานให้เข้าสู่การบำบัดรักษาอย่างทันท่วงทีนั้น
สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ The Active ว่า ผลกระทบทางสุขภาพประเด็นนี้ยังไม่ได้รับรายงาน แต่กรมอนามัยได้ประกาศให้ประชาชนได้รับทราบว่าน้ำแม่น้ำกกช่วงนี้ต้องหยุดนำมาบริโภค หรือมาปรุงอาหาร อาจเกิดปัญหาสารตกค้างในร่างกาย

เมื่อถามว่า เนื่องจากแม่น้ำกก เป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาด้วย จะต้องหยุดใช้น้ำประปาด้วยหรือไม่ รมว.สธ. หันไปถามผู้บริหารกระทรวง ว่า “มันก็น่าเหมือนกันมั้งท่านอธิบดี”
เมื่อถามว่าต้องตรวจเลือดประชาชนริมน้ำกกหรือไม่นั้น สมศักดิ์ ระบุว่า เข้าใจว่าประเด็นปัญหาเพิ่งเกิด ก็ต้องไปประเมินปริมาณ หรือการตรวจสอบให้ละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้ง เพราะการดำเนินการเป็นเรื่องใหญ่ ตอนนี้เพียงแต่ให้ระงับการใช้น้ำในแม่น้ำกกตรงนี้ไปก่อน
ขณะที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่ชาวบ้านริมแม่น้ำกกสะท้อนความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษที่อาจปนเปื้อนในน้ำ โดยระบุว่า สารบางชนิดหากรับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากหรือต่อเนื่อง อาจก่อให้เกิดอันตรายในระยะยาว
“กรมอนามัย โดยศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว ขณะเดียวกันเราก็ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบทั้งแหล่งน้ำผิวดินและน้ำบาดาล เนื่องจากการปนเปื้อนอาจมีแหล่งต้นน้ำจากที่ห่างไกล”
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์

นอกจากการติดตามคุณภาพน้ำจากแม่น้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ และประปาหมู่บ้านซึ่งอยู่นอกความดูแลของการประปาภูมิภาคหรือการประปานครหลวง กรมอนามัยยังให้ความสำคัญกับการตรวจสอบว่ากระบวนการกรองน้ำในแต่ละพื้นที่สามารถกำจัดสารปนเปื้อนหรือเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
“ผลการตรวจสอบเบื้องต้น เรายังพบทั้งโลหะหนักและเชื้อโรคในน้ำ แม้จะเป็นน้ำที่ผ่านระบบกรองของชุมชนแล้วก็ตาม รวมถึงยังมีความขุ่นและปัญหาคุณภาพน้ำอื่นๆ ด้วย เราจึงได้แนะนำให้ปรับปรุงกระบวนการกรอง เช่น การใช้ระบบ RO เพื่อให้สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้อย่างปลอดภัย”
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์
ส่วนข้อเสนอให้ตรวจเลือดหรือตรวจเส้นผมประชาชนในพื้นที่เสี่ยงนั้น อธิบดีกรมอนามัย เห็นว่า ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีการบริโภคหรือใช้น้ำที่มีความเสี่ยงสูง ควรพิจารณาการตรวจสุขภาพเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด เพื่อคัดกรองผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหากพบข้อมูลที่น่ากังวล ก็จะต้องประสานกับโรงพยาบาลหรือหน่วยสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด โดย การตรวจเลือดชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงนั้นกรมฯ ขอไปออกแบบและดำเนินการอย่างเร่งด่วนในช่วงหลังสงกรานต์
อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องดำเนินการตรวจสุขภาพประชาชนในวงกว้าง กรมควบคุมโรคจะเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบด้านการป้องกันและควบคุมโรค ขณะที่หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กรมทรัพยากรน้ำ หรือกรมน้ำบาดาล ก็จะต้องเข้ามาร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาในภาพรวม

มาตรการสาธารณสุข เพื่อรับมือปัญหามลพิษในน้ำแม่กก
อธิบดีกรมอนามัย ยังสรุปมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ว่า จะมีการดำเนินงานในหลายมิติอย่างเป็นระบบ โดยเน้นทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การสื่อสารความเสี่ยง และการดูแลสุขภาพประชาชน โดยมีรายละเอียดหลัก ๆ ดังนี้
1. การเก็บตัวอย่างและตรวจวิเคราะห์ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง
- การเก็บตัวอย่างน้ำให้ครอบคลุมและกว้างขวางในทุกจุดที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีข้อสงสัยว่ามีการปนเปื้อนสารหรือเชื้อโรค เราจะตรวจทั้งน้ำผิวดิน น้ำบาดาล และแหล่งประปาท้องถิ่น เพื่อประเมินคุณภาพน้ำอย่างละเอียด
2. การสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่
- หน่วยงานสาธารณสุขจะเร่งสื่อสารข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์และสามารถดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม เช่น การกรองน้ำอย่างถูกวิธี รวมถึงการจัดเก็บน้ำสะอาดสำรองไว้ใช้อย่างปลอดภัย
3. การเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน
- สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อาจได้รับสารปนเปื้อนในระดับสูง จำเป็นต้องติดตามสุขภาพอย่างใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติที่อาจเชื่อมโยงกับสารเคมี เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีอาการทางระบบประสาท หรือผิวหนังผิดปกติ ก็จะต้องส่งต่อเพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
4. การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ
- เนื่องจากปัญหานี้เกี่ยวข้องกับหลายด้าน ทั้งน้ำ อาหาร สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จึงจำเป็นต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมน้ำบาดาล กรมควบคุมโรค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดำเนินการแก้ไขตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
5. การใช้ข้อมูลสุขภาพเป็นฐานในการวางแผนระยะยาว
- กรมอนามัยเก็บรวบรวมจากการตรวจน้ำและติดตามสุขภาพประชาชนจะถูกนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อพัฒนามาตรการป้องกันในระยะยาว โดยมีเป้าหมายเพื่อลดโอกาสการเจ็บป่วยของประชาชนจากมลพิษสิ่งแวดล้อม