มองบทบาทท้องถิ่น สกัด ‘บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า’ ภัยเงียบคุกคามเด็ก เยาวชน

หวังการมีส่วนร่วมกลไก อปท. 200 แห่ง ทั่วประเทศ ช่วยปกป้องชุมชนจากบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า เชื่อเข้าใจปัญหา สอดคล้องยุทธศาสตร์ควบคุมยาสูบแห่งชาติ ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ สร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ พร้อมบังคับใช้กฎหมาย และบำบัดรักษาผู้ติดบุหรี่

เนื่องใน วันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พ.ค. ของทุกปีจะมาถึง นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. ระบุว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนสำคัญกับการเข้ามามีส่วนร่วมปรับเปลี่ยนเพื่อสุขภาพของประชาชน เพราะเป็นกลไกที่อยู่ใกล้กับประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะประเด็น บุหรี่ และ บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจาก เมื่อดูอายุเฉลี่ยของคนไทย พบว่า ผู้ชายอายุขัยเฉลี่ยต่ำกว่าผู้หญิงถึง 9 ปี ผู้ชายอายุขัยเฉลี่ย 72 ปี ขณะที่ผู้หญิง มีอายุขัยเฉลี่ย 81 ปี และจากสถิติพบว่า ผู้ชายสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

“บุหรี่ไปทำลายถนนหลวง หรือหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคหัวใจ อัมพาต โรคไต เกือบทุกโรค นอกจากนั้นยังมีโรคมะเร็ง มะเร็งปอด มะเร็งหลอดลม และมะเร็ง อื่น ๆ ส่วนใหญ่เวลามีคนเสียชีวิตก็มักจะนึกถึงสาเหตุที่มาจากบุหรี่เพราะว่าสูบมานาน ที่สำคัญบุหรี่มีความอันตรายที่ร้ายกาจหากผู้ชายเดินมา 3 คน มักจะมี 1 ใน 3 ที่สูบบุหรี่ และวันนี้อาจมาแทนด้วยบุหรี่ไฟฟ้า”

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์

นพ.พงศ์เทพ ยังย้ำถึง ความสำคัญของท้องถิ่นต้องเข้ามาขับเคลื่อนเรื่องนี้ เนื่องจากบุหรี่ ถือว่า เป็นสารเสพติด ที่ให้อันตรายมากกว่าการกินของหวาน ที่ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน

“เรากินของหวานเราได้รับความสุข เราไม่กินก็ได้ ไม่เป็นอะไร ถ้าเราสูบบุหรี่ เราจะได้รับความสุขปลอม เมื่อเราไม่สูบมันก็มาลงโทษเรา คนที่ไปสูบจึงเป็นเหมือนเหยื่อ ไม่ใช่เขาไม่อยากเลิก ส่วนใหญ่เขาอยากเลิกแต่เลิกไม่ได้เพราะมันเสพติดไปแล้ว ทำให้ท้องถิ่นต้องเข้ามาร่วมมีบทบาทเรื่องนี้เพราะท้องถิ่นอยู่ใกล้กับประชาชนมากที่สุด โดยอาศัยกองทุนประกันสุขภาพตำบล ที่สามารถนำไปใช้ในการขับเคลื่อนป้องกัน บำบัดรักษา เพื่อให้ชุมชนเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ได้อย่างยั่งยืน”

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์

นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. บอกถึง ความสำคัญในการใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานขับเคลื่อนเรื่องบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากมีทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจหน้าที่ ที่สำคัญ คือ มีความใกล้ชิดกับประชาชน และบทบาทในการที่จะสามารถดึงผู้นำท้องถิ่นอย่าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน โดย สสส. ให้การสนับสนุนเครื่องมือการประเมินประสิทธิภาพ ที่สามารถนำไปสู่การวัดผลของชุมชนได้

ทั้งนี้การมีเครือข่ายรณรงค์ในระดับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะให้ อปท. ได้เห็นถึงปัญหา สถานการณ์ของชุมชนตัวเอง จะช่วยนำสู่การแก้ไขปัญหาของพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ควบคุมยาสูบแห่งชาติ ทั้งเรื่องมิติการพัฒนากำลังคน และการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ การสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ การบังคับใช้กฎหมาย และการบำบัดรักษาผู้ติดบุหรี่

‘สันนาเม็ง – เมืองมหาสารคาม’ ต้นแบบ อปท. ปลอดบุหรี่

สวาท โกชุม นายกเทศมนตรีตำบลสันนาเม็ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

สวาท โกชุม นายกเทศมนตรีตำบลสันนาเม็ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จุดแข็งของเทศบาล คือการทำงานเชิงรุกกับเครือข่าย ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ร้านค้าในพื้นที่ รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการทำงานกับ รพ.สต. ในโครงการ “สันนาเม็งรวมใจ ต้านภัยควันบุหรี่” โดยมีคลินิกเลิกบุหรี่ และนวัตกรรมสมุนไพรเลิกบุหรี่ ซึ่ง มีเป้าหมายลดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ไปพร้อมกับการลดจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) นอกจากนี้ยังจัดพื้นที่ปลอด ควันบุหรี่ในชุมชนเพื่อป้องกันผลกระทบในภาพรวม

และที่สำคัญยังมีการทำข้อตกลงกับผู้จัดงานไม่ว่าจะเป็นงานมงคล งานศพ ในพื้นที่ โดยขอความร่วมมือไม่ให้เจ้าภาพจัดให้มีการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ภายในงาน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

นัฏฐิยา โยมไธสง ผอ.สำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองมหาสารคาม อ.เมือง จ. มหาสารคาม

ขณะที่ นัฏฐิยา โยมไธสง ผอ.สำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองมหาสารคาม อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม บอกว่า เทศบาลขับเคลื่อนเรื่องบุหรี่ ในพื้นที่มานานกว่า 20 ปี จากการสำรวจ พบกลุ่มเด็กและเยาวชนสูบบุหรี่สูงถึง 20% จากการร่วมขับเคลื่อนภายใต้โครงการนี้ ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ในพื้นที่ลดลง ผ่านการดำเนินงานสำคัญ ได้แก่ 1. การรณรงค์ให้ความรู้ พัฒนาชุดกิจกรรมเพื่อการสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น นักเรียน ผู้สูงอายุ 2. การเข้มงวดเรื่องการห้ามจำหน่ายบุหรี่ให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด การกำชับกฎหมายการจำหน่ายและครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า และ 3. การบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ อาศัยความร่วมมือของคนในชุมชนในการช่วยกันสอดส่องดูแล 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active