ผู้รับบริการด้านสุขภาพจิต ต้องไม่ตกเป็นเหยื่อคุกคามทางเพศ โดย ‘นักจิตวิทยา’

ผู้เสียหาย ยื่นหนังสือ กมธ.สาธารณสุข เร่งแก้กฏหมายคุ้มครองผู้ป่วยทางจิต จากเหตุถูกฉวยโอกาสคุกคามทางเพศ โดย ‘นักจิตวิทยาการปรึกษา’ หวังให้มีใบประกอบโรคศิลปะ พร้อมมาตรการตรวจสอบจริยธรรมทางวิชาชีพ  

วันนี้ (24 ก.ค. 68) ผู้เสียหายถูกล่วงละเมิดทางเพศ จากการรับบริการทางจิตวิทยาการปรึกษา เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฏร เพื่อเรียกร้องให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้รับบริการทางจิตวิทยาการปรึกษา และนำไปสู่การเรียกร้องให้มีใบประกอบโรคศิลปะ เพื่อควบคุมจรรยาบันและมาตรฐานทางวิชาชีพ

โดยมี สิริลภัส กองตระการ โฆษก กมธ.การสาธารณสุข และ สกล สุนทรวาณิชย์กิจ อนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองเรื่องที่เข้าสู่การพิจารณาและติดตามการดำเนินงานตามมติของคณะกรรมาธิการ กมธ.การสาธารณสุข เป็นผู้รับมอบหนังสือ

ลินินา พุทธิธาร ผู้เสียหาย และผู้ก่อตั้ง Safe Zone Project เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ อธิบายว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่เคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกนักจิตวิทยาละเมิดจรรยาบรรณในเชิงทางเพศ (sexual misconduct, ethical violation and sexual exploitation in therapy) โดยเป็นการฉวยโอกาสจากความอ่อนไหวและเจ็บป่วยในช่วงเวลาที่ตนเองเข้ารับการบำบัด เพื่อนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการล้ำเส้นแบ่งทางจริยธรรม และละเมิดจรรยาบรรณวิชาชีพขึ้นรุนแรง

โดยที่ในปัจจุบันยังไม่มีระเบียบ ข้อกำหนด หรือกฏหมายใดที่ช่วยคุ้มครองผู้เสียหายได้อย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากระบบการควบคุมกำกับมาตรฐานทางวิชาชีพด้านจิตวิทยาการปรึกษาในไทยยังมีช่องโหว่อยู่มาก

“เราเป็นผู้เสียหายจากการถูกผู้ที่อยู่ในวิชาชีพด้านสุขภาพจิตละเมิดจรรยาบรรณ และฉกฉวยผลประโยชน์ทางเพศ ที่ผ่านมา เราพยายามแสวงหาความยุติธรรม แต่สิ่งที่พบคือ ยังไม่เคยเกิดการดำเนินการไต่สวน พิจารณาลงโทษทางวินัยที่ชัดเจน นี่อาจเป็นช่องว่างทางกฏหมาย นโยบาย และโครงสร้าง ของสภาวิชาชีพ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพจิตในไทย”

ลินินา พุทธิธาร

ที่ผ่านมา ผู้เสียหาย ระบุว่า ตนได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ สมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงเพื่อร้องเรียนถึงพฤติกรรมในการล่วงละเมิดทางเพศของนักจิตวิทยาการปรึกษาดังกล่าว ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ เพื่อขอให้จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตามสมาคมจิตวิทยาการปรึกษาฯ ระบุว่า ไม่มีอำนาจดำเนินการทางวินัยได้ในเวลานี้ เนื่องจากต้องมีคำพิพากษาของศาลก่อน

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปดูถึงระเบียบของทางสมาคมฯ ก็พบว่าได้มี ประกาศที่ระบุถึงมาตรฐานและคุณสมบัติของนักจิตวิทยาการปรึกษา รวมถึงสิทธิในการเพิกถอนใบรับรองไว้เช่นกันใน ประกาศสมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทย (Thai Counseling Psychology Association) ที่ ๑ / ๒๕๖๗ เรื่อง การรับรองมาตรฐานคุณสมบัติของนักจิตวิทยาการปรึกษา พ.ศ. ๒๕๖๗

โดยมีระเบียบบางข้อที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว คือ

ข้อ ๔ สมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทยมีสิทธิ์ในการเพิกถอนใบรับรองที่ได้ให้ไว้กับผู้ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณสมบัตินักจิตวิทยาการปรึกษา ตามกรณีต่อไปนี้  

๑) ผู้ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณสมบัตินักจิตวิทยาการปรึกษาสิ้นสุดสถานภาพความเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทย  

๒) ผู้ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณสมบัตินักจิตวิทยาการปรึกษาถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมที่ละเมิดต่อจรรยาบรรณตามที่สมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทยได้ประกาศไว้  และสมาคมฯ ได้ พิจารณาแล้วมีมติให้เพิกถอนใบรับรองหรือเพิกถอนความเป็นสมาชิกของสมาคมของผู้ที่ได้รับการร้องเรียน

 ประกาศ ณ วันที่  ๒๒  กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ 

โดย ลินินา ระบุว่า ในการยื่นหนังสือครั้งนี้ จึงเป็นการยื่นหนังสือครั้งที่ 2 เพื่อขอเสนอให้อนุกรรมาธิการพิจารณากลั่นกรองเรื่องที่เข้าสู่การพิจารณา และติดตามมติของกรรมาธิการฯ ให้พิจารณากําหนดวาระ เพื่อจุดประสงค์ดังต่อไปนี้

  1. ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบทบาทและขอบเขตอํานาจของ สมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทย และสมาคมวิชาชีพจิตวิทยาอื่น ๆ ในประเทศ ว่าสามารถดําเนินการทางวินัยต่อสมาชิกในกรณีละเมิดจรรยาบรรณโดยไม่จำเป็นต้องรอผลคำพิพากษาศาลอันถึงที่สุดได้หรือไม่
  1. ประเมินแนวทางการป้องกัน และแก้ไขการละเมิดจรรยาบรรณในปัจจุบันของสมาคมหรือชมรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตที่มีอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ สอดคล้องกับเจตนารมย์ของกรมสุขภาพจิต ในการคุ้มครองผู้รับบริการด้านสุขภาพจิตหรือไม่
  1. ศึกษาแนวทาง และสร้างกลไกในการควบคุม กำกับ ดูแล มาตรฐานทางวิชาชีพ ตลอดจนจรรยาบรรณขององค์กร หน่วยงาน ที่ให้บริการด้านสุขภาพจิตในประเทศไทยที่ยังไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายจากนักบําบัดหรือนักจิตวิทยาเหล่านี้ ต้องเผชิญการถูกผลักไส จากทั้งมาตรการทางกฎหมาย และทางวินัย (เช่น การเสนอแนะเครื่องมือทางกฎหมายที่เหมาะสม การประสานงานกับกรมสุขภาพจิต การวางแผนจัดตั้งสภาวิชาชีพ และกาาจัดตั้งคณะกรรมกาารไต่สวนทางวินัยที่โปร่งใส ยุติธรรม)

ลินินา ยังระบุอีกว่า หากไม่เร่งแก้ไข อุดช่องว่างของระบบสุขภาพจิตไทย ในอนาคตอาจจะมีผู้ป่วยทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ที่เข้ารับการบำบัดรักษาและต้องเผชิญกับการถูกละเมิดอย่างไร้จรรยาบันเช่นนี้อีก และหากยังไม่มีมาตรการควบคุมกำกับดูแล และผู้กระทำผิดยังคงประกอบวิชาชีพได้ต่อไปได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในขณะที่ผู้เสียหายกลับไม่เคยได้รับการเยียวยาใด ๆ 

“หากเราไม่พูดถึงเรื่องนี้ อาจมีผู้เสียหายอีกจำนวนมากในอนาคต ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพทางสุขภาพจิตต้องหารือร่วมกัน ว่าจะมีแนวทางป้องกัน เยียวยา และทำอย่างไรให้วงการจิตวิทยามีความปลอดภัยกับผู้ใช้บริการมากที่สุด”

ลินินา พุทธิธาร

ขณะที่ สิริลภัส ยืนยันว่า ผู้ป่วยจิตเวช คือ ผู้ที่มีบาดแผลทางใจที่ต้องได้รับการเยียวยา แต่การที่ถูกละเมิด คุกคามทางเพศจากบุคลากรทางจิตวิทยาอีก เป็นเรื่องที่ไม่สมควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง และต้องรีบแก้ไขโดยด่วน พร้อมทั้งระบุว่า หากมีผู้เสียหายในกรณีเช่นนี้อีก ขอให้ออกมาส่งเสียงเพื่อผลักดันประเด็นดังกล่าวด้วย

“ผู้มีบาดแผลทางใจจำเป็นต้องได้รับการเยียวยา แต่การถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนักบำบัดเป็นการสร้างบาดแผลทางใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องเร่งพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และต้องเร่งปรับปรุงแนวทางการออกใบประกอบวิชาชีพ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นการซ้ำเติม และสร้างบาดแผลให้เหยื่อมากขึ้นอย่างทุกวันนี้”

สิริลภัส กองตระการ

ในขณะที่ สกล เห็นพ้องว่า แม้เรื่องร้องเรียนในวันนี้เคยมีการส่งพิจารณาแก่ กมธ.สาธารณสุข แล้วครั้งหนึ่ง แต่ตอนนี้ความเสียหายยังคงอยู่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่คณะอนุกรรมการ เพื่อหารือและนำไปสู่การแก้ไข โดยตนยืนยันว่าจะติดตามและผลักดันเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active