‘ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้‘ จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งปรับปรุงออกแบบเมือง ที่เหมาะสมกับ คนพิการ ผู้สูงอายุ เสนอตั้ง ‘คณะกรรมการพัฒนาเมืองที่ไม่ทิ้งใคร’ปฏิวัติการออกแบบสถานที่เพื่อคนทุกกลุ่ม
ในงานประชุมวิชาการ ‘เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน’ ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ ร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็น การพัฒนา ‘เมืองที่ไม่ทิ้งใคร’ เพื่อผลักดันการปรับปรุง ออกแบบเมืองให้เหมาะสมกับคนพิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงทุกคนที่ใช้ถนน และอาคาร ทั้งในพื้นที่ กทม. และต่างจังหวัด
โดยสะท้อนปัญหาการพัฒนาไปสู่เมืองที่ไม่ทิ้งใคร เพราะขาดการมีส่วนร่วมของผู้คน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ดิจิทัล การคมนาคม ยังไม่ครอบคลุม ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัย ทั้งอุบัติเหตุ มลพิษ ไปจนถึงเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทาง ส่งผลกระทบต่อประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ทั้ง คนพิการ คนจนเมือง ผู้หญิง คนเดิน ผู้ใช้จักรยาน และเด็ก
ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย เรียกร้องให้ กระทรวงคมนาคม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานอื่น ๆ เร่งดำเนินการ
- จัดทำแผนพัฒนาเมืองที่ไม่ทิ้งใครให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่สาธารณะ การเดินทางบนถนน ทางเท้า โดยใช้แนวคิดการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล และเมืองอัจฉริยะ
- จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเมืองที่ไม่ทิ้งใคร เพิ่มการมีส่วนร่วมให้กับประชาชนในการพัฒนาเมือง
- ออกบัญญัติหรือกฎหมายท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง
- จัดทำโครงการนำร่อง 1 จังหวัด 1 ทางเท้า 1 ทางข้ามปลอดภัย รวมถึงการพัฒนาเมืองที่เน้นการเดิน การปั่นจักรยาน และขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ค่าใช้จ่ายน้อย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ กฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล สะท้อนปัญหาการใช้บริการสนามบินของคนพิการ โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเดินทางโดยเครื่องบินของมนุษย์ล้อ ฑูตอารยสถาปัตย์ ทั้ง 4 ภูมิภาค ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้ใช้บริการสนามบินทุกคน เรียกร้องให้สนามบินในจังหวัดต่าง ๆ นำทางลาดออกมาใช้งาน เพื่อความสะดวกต่อการขึ้นเครื่องบินของผู้โดยสาร ซึ่งคนพิการมักจะถูกแบกหามขึ้นเครื่อง หากมีทางเดินเป็นบันไดก็มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกายได้ และในบางครั้งรู้สึกว่าร่างกายถูกคุกคาม
ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ฝากข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ต้องช่วยกันผลักดันให้กรมท่าอากาศยาน สนามบินต่าง ๆ นำทางลาดออกมาใช้อำนวยความสะดวกแก่ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแค่คนพิการ 2. ขอให้นักออกแบบ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของสถานที่ต่าว ๆ ช่วยออกแบบให้เป็นอารยสถาปัตย์ ซึ่งต้องมีทางลาดอยู่ด้านหน้าอาคาร 3. ปฏิวัติการออกแบบสถานที่ที่ไม่มีทางลาด โดยมีเป้าหมายจะเดินขบวนทั่ว กทม. รวมถึงเรียกร้องให้นักออกแบบ ปรับทัศนคติเพื่อให้ประเทศมีอารยสถาปัตย์