หวั่น กระทบสิทธิวิถีทำกิน มองรัฐอย่าฉวยโอกาสช่วงสุญญากาศทางการเมืองด้านอุทยานฯอ้างการเลี้ยงสัตว์ชาวบ้าน เป็นหนึ่งในสาเหตุไฟป่า ขณะที่พีมูฟ ชี้ ไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน และไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน
วันนี้ (18 พ.ค. 2566 ) ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง หมู่ 5 และบ้านแม่ส้าน หมู่ 6 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปางยื่นหนังสือขอปฏิเสธการสำรวจการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) โดยยื่นถึงหัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ), ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (ลำปาง) และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
หนังสือระบุว่า ตามที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ได้ประสานงานมายังผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง หมู่ที่ 5 และ บ้านแม่ส้าน หมู่ 6 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อสำรวจการครอบครองสัตว์เลี้ยงของราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว ในวันที่ 18 พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นชุมชนของชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่นี้มาอย่างยาวนาน และได้มีการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาด้านพื้นที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) มาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันเนื่องจากชุมชนได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าของรัฐ รวมถึงมีความกังวลต่อบทบัญญัติตามกฎหมายโดยเฉพาะพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 2562 ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน
“ซึ่งที่ผ่านมากระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานราชการในพื้นที่มีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดี เห็นได้จากการประชุมเพื่อจัดทำบันทึกการรับฟังความเห็นและตรวจสอบพื้นที่แนวเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ตามข้อเรียกร้องของชุมชนบ้านกลางและบ้านแม่ส้าน เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2566”
หนังสื่อระบุ
ชุมชนบ้านกลาง หมู่ที่ 5 และบ้านแม่ส้าน หมู่ 6 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง จึงขอปฏิเสธการสำรวจการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ด้วยเหตุผลดังนี้
1.พื้นที่ทั้งหมดของชุมชนได้รับการกันออกจากพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามข้อเรียกร้องของชุมชน ซึ่งได้มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่
2. ชุมชนอยู่ในระหว่างการแก้ปัญหาร่วมกับขบวนการประชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) และรัฐบาล ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565ว่าด้วยการเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ซึ่งตามแนวทางข้อที่ 3 ที่ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากกฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 2562
3. ขณะนี้อยู่ในระหว่างบรรยากาศในการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีกรอบระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ในขณะที่กระบวนการแก้ไขปัญหาของภาคประชาชนก็จะได้รับการสานต่อในรัฐบาลต่อไป
อุทยานฯ แจง เลี้ยงวัว-ควาย อาจเป็นเหตุไฟป่า
ธนากร สิงห์เชื้อ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ชี้แจงกับชาวบ้านว่า การดำเนินการเป็นนโยบายของ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีคนใหม่ ว่าไฟป่าที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะเกี่ยวกับเรื่องการเผาเพื่อให้หญ้าแตกออก อุทยานฯแค่ต้องการขอข้อมูลเพื่อบริหารจัดการร่วมกัน จะได้รู้ว่ามีคนเลี้ยงกี่คน เลี้ยงกี่ตัวที่ผ่านมาเราปล่อยอิสระ แต่เราจะได้บริหารจัดการร่วมกัน เจ้าหน้าที่จะได้ช่วยกันดูด้วย เผื่อมีเสือมากิน จึงขอความร่วมมือ
ส่วนที่ชาวบ้านไม่ยินยอมยื่นเอกสารส่วนบุคคล หรือบัตรประชาชน รวมถึงการกำหนดพิกัด เพราะมีข้อกังวลก็มาแลกเปลี่ยนกันดีกว่า วันนี้เป็นงานด่วน ตนก็ขึ้นมาด้วยตัวเองเพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านด้วย
โดยอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ได้นำหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้าน เรื่อง สำรวจการเลี้ยงปศุสัตว์ (โคกระบือ แพะ และแกะ) ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สาระสำคัญระบุว่า อธิบดีอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดความเสียหายแก่ป่าอนุรักษ์ ตลอดจนเกิดฝุ่นละอองและหมอกควันเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อนะบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และกระทบกับสุขอนามัยของประชาชน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรจนลุกลามเข้าพื้นที่ป่า การเผาป่าเพื่อเก็บหาของป่าและล่าสัตว์
รวมถึงการเผาป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ เป็นต้น เพื่อควบคุมและกำกับดูแล สกัดกั้นไม่ให้เกิดไฟป่าลุกลามและรุนแรงมากขึ้น จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งรัดดำเนินการสำรวจการเลี้ยงปศุสัตว์ (โค กระบือ แพะ และแกะ) ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน และพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาสัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า
ชาวบ้านยืนยันคัดค้าน อย่าหาแพะ หากแก้ไฟป่าไม่ได้! มองรัฐฉวยโอกาสสุญญากาศการเมือง
แก้ว ลาภมา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่ส้าน หมู่ 6 กล่าวว่า บ้านเราเป็นที่อุทยานฯ ที่มีการกันพื้นที่อุทยานฯออกแล้ว เราควรเป็นป่าสงวนฯ หรือไม่ ทำไมต้องมีอุทยานฯ มาดำเนินการ และเราไม่ยอมนับกฎหมายอุทยานฯ ปี 2562 เพราะมีข้อกังวลหลายเรื่อง และที่ผ่านมาเราก็ช่วยดูแลป่า บริหารจัดการป่าอยู่แล้ว แล้วสำรวจวัวควายโดยอุทยานฯ นี่มันก็จะกระทบต่อชาวบ้านด้วย เพราะวัวควายเราไม่ได้เลี้ยงแบบจำกัดพื้นที่ เราเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่ต้องไปจุดไฟให้หญ้างอกตามที่กล่าวอ้าง
ด้านสมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้าน บ้านกลาง หมู่ 5 กล่าวว่า ถ้าดูจากหนังสือของอธิบดีคือชัดเจนมากว่าเป็นการพยายามจะเอาคนในป่าเป็นแพะรับบาปในเรื่องไฟป่า ไม่ได้บอกเลยว่าไฟป่าเกิดจากพืชเชิงเดี่ยวข้าวโพด มันชอบธรรมไหมที่จะบอกว่าให้คนเลี้ยงวัวควายเป็นผู้รับบาป อยู่ ๆ คุณก็จะมาสำรวจด้วยสมมติฐานแบบนี้ ซึ่งมันเป็นความไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนในป่าที่เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ซึ่งล่อแหลมมาก
“หัวหน้ามีเงินเดือน 3-4 หมื่น ไม่ต้องเดือดร้อน แต่ผมไม่มีเงินกัน ต้องเลี้ยงลูก ส่งเรียน ก็ต้องเลี้ยงวัวควาย ถ้ามองความเป็นจริงมันคือการละเมิดสิทธิ ไม่มีความเป็นธรรม แล้วจะเอาบัตรประชาชนของชาวบ้านไปเราก็กลัวว่าใครเลี้ยงที่ไหน เกิดไฟไหม้ ผมก็ตายสิ เพราะไฟป่าทุกวันนี้เราทำสุดความสามารถแล้ว แต่มันไหม้มาจากที่อื่น มันเป็นเรื่องอคติและการเหมารวมของอธิบดี มันจะเกิดปัญหาในอนาคต”
สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้าน บ้านกลาง หมู่ 5 อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
สมชาติ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งชาวบ้านกำลังจับตานโยบายการแก้ไขปัญหาด้านที่ดิน-ป่าไม้ของรัฐบาลเช่นกันว่าจะมีทิศทางอย่างไร ก็มาดำเนินการในขุมชนในช่วงเวลานี้จึงเหมือนเป็นการฉวยโอกาสจากสุญญากาศทางการเมืองหรือไม่ และที่น่าสงสัยทำไมต้องเร่งรีบ และจริง ๆ แล้วขึ้นมาเตรียมดำเนินการเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง มีการขอเอกสารส่วนบุคคลหรือบัตรประชาชนด้วย จึงไม่แน่ใจว่ามีอะไรแอบแฝงหรือไม่ และอาจเป็นการเก็บข้อมูลไว้ใช้ดำเนินคดีกับชาวบ้านหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็เกิดปัญหาลักษณะแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง โดยให้ชาวบ้านมายอมรับในการดำเนินการต่างๆและมาดำเนินคดีชาวบ้านในภายหลัง
หลังจากนั้นชาวบ้านได้ยื่นหนังสือ โดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ตอบรับว่าจะนำไปรายงานผู้บังคับบัญชาต่อไป
พีมูฟ ชี้ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบจาก กม.ลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.อุทยานฯ ปี62
พชร คำชำนาญ กองเลขานุการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ กล่าวว่า เรื่องที่อุทยานนำมาอ้างกับชาวบ้าน ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ซึ่งข้ออ้างเรื่องการเลี้ยงสัตว์เป็นสาเหตุของไฟป่า นอกจากจะไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเร่งรัดในช่วงเวลานี้ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว และด้วยเป็นช่วงที่อยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่หลายคนจับตานโยบายด้านต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาที่ดิน ปัญหาชุมชนในพื้นที่ทับซ้อนในเขตป่า ตามมารยาทแล้วจึงไม่ควรมีการดำเนินการเช่นนี้ในช่วงเวลานี้ เพราะยังไม่เห็นทิศทางนโยบายที่ชัดเจน
“คือ พ.ร.บ.อุทยานฯ ออกมาตั้งแต่ปี 2562 มีการคัดค้านจากประชาชน เพราะขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของประชาชนมาตลอด หรือถ้าจะอ้างเรื่องต้องทำการสำรวจสัตว์เลี้ยงตามกฎหมายลำดับรอง มีเวลาตั้งนาน ทำไมไม่เห็นมาสร้างความเข้าใจ หรือรับฟังผลกระทบจากชาวบ้าน เพื่อแก้ไขหาทางออก แล้วจะมาเร่งรัดอะไรตอนนี้ นี่จึงเป็นการดำเนินการโดยกล่าวอ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน อีกรูปแบบหนึ่งอย่างชัดเจน “
พชร คำชำนาญ กองเลขานุการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ( ขปส.)
พชร ย้ำว่า เรื่องสัตว์เลี้ยงในเขตป่า ตามกม.ลำดับรองประกอบพ.ร.บ.อุทยานฯ เป็นเรื่องปัญหาข้อกังวลผลกระทบวิถีชุมชนในเขตป่า และชุมชนดังกล่าวอยู่ในระหว่างการแก้ปัญหาร่วมของพีมูฟและรัฐบาล ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2565 เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ และอยู่ระหว่างที่ให้คณะทำงานศึกษาผลกระทบจากกม.ลำดับรองประกอบ พ.ร.บ.อุทยานฯ ปี 2562 จึงขอให้อุทยานฯทบทวนชะลอเรื่องนี้จนกว่ากระบวนการคณะทำงานร่วมจะดำเนินการเพื่อสรุปแนวทางการแก้ปัญหาแล้วเสร็จ และรอรัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่เพื่อกำหนดแนวทางนโยบายต่อเรื่องนี้ที่ชัดเจน