เห็นชอบกำหนดแนวเขตร่วมกัน ลดพื้นที่ประกาศอุทยานฯ กว่า 40% ชุมชน ย้ำ เดินหน้าอยู่กับป่าตามวิถี ไม่ใช่เพื่อครอบครอง แต่เพื่อรักษา หวังสร้างต้นแบบสู่การแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดิน ‘คนอยู่กับป่า’ ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ (25 เม.ย. 68) ณ ศาลาอเนกประสงค์ชุมชนบ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ได้จัดเวทีประชุมสาธารณะประชุมชี้แจงและทำความเข้าใจการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ครั้งที่ 2/2568 โดยมีผู้แทนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วม อาทิ ธนากร สิงห์เชื้อ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ), พีระเมศร์ ตื้อตันสกุล ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ,สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง), สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้นําชุมชนบ้านกลาง, สมคิด ทิศตา ผู้นำชุมชนบ้านแม่ส้าน, กรรมการสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ, สหพันธเกษตรภาคเหนือ และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของชุมชนที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่ามานานกว่า 30 ปีนับตั้งแต่มีการประกาศเตรียมการเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทเมื่อปี 2532 ซึ่งส่งผลให้ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่มาก่อนหน้านั้นต้องเผชิญกับข้อพิพาทเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และพื้นที่จิตวิญญาณที่ใช้ประกอบพิธีกรรมดั้งเดิม
ธนากร สิงห์เชื้อ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) บอกว่า เวทีในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้กรอบกฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้การประกาศพื้นที่อุทยานต้องมี “กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย” ซึ่งถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญ และเปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้มีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจ และแม้พื้นที่จะลดลงเกือบ 400,000 ไร่ ก็ได้มีการพูดคุยกับทางคณะกรรมการ กรมอุทยานฯ และยืนยันว่าถ้าจะยังให้ได้พื้นที่เท่าเดิม อีก 100 ปี ก็คงไม่ได้ประกาศอุทยานฯ
“วันนี้เป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ที่รัฐและชุมชนสามารถพูดคุยกันด้วยความเข้าใจ ร่วมกันกำหนดแนวเขตร่วมกัน โดยใช้ทั้งแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่ทหาร และข้อมูลจากการเดินแนวร่วมกันจริงในพื้นที่ เพื่อให้ได้แนวเขตที่ทุกฝ่ายพอใจและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน”
ธนากร สิงห์เชื้อ
ทั้งนี้ยังได้ร่วมกันทำบันทึกการตรวจสอบ ยอมรับแนวเขตพื้นที่กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท และเดินสำรวจแนวเขตปักหมุดหมายพร้อมระบุพิกัด GPS ชุมชนบ้านกลาง และบ้านแม่ส้าน ร่วมกันระหว่างชุมชนอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท และอุทยานแห่งชาติ




ชุมชน-รัฐ กำหนดแนวเขตร่วม เห็นชอบลดพื้นที่ประกาศอุทยานฯ กว่า 40%
ผลจากกระบวนการร่วมตรวจสอบและเจรจานำไปสู่ข้อยุติที่สำคัญ คือ การลดพื้นที่ที่เสนอประกาศเป็นอุทยานถ้ำผาไทลงจากเดิมกว่า 750,301 ไร่ เหลือประมาณ 448,910 ไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วนลดลงกว่า 40% โดยตัดพื้นที่ที่ชุมชนใช้ประโยชน์จริงออกจากแนวเขตอุทยานฯ
พื้นที่ที่ถูกกันออกนี้คือแผนที่ที่อยู่อาศัยทำมาหากิน ไร่หมุนเวียน นา สวน และพื้นที่ใช้ประโยชน์ ตามมาตรา 64 และ65 ซึ่งครอบคลุมถึงพื้นที่อนุรักษ์โดยชุมชน พื้นที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิม และแหล่งทรัพยากรสำคัญที่ใช้เลี้ยงชีพ เช่น ป่าหาของกิน แหล่งสมุนไพร และแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น
สำหรับการเดินแนวเขตร่วมกันในพื้นที่มีการใช้เทคโนโลยี GPS เพื่อความแม่นยำ และได้มีการฝังหมุดเป็นจุดสัญลักษณ์เบื้องต้น โดยจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับตำบลและระดับอำเภออย่างเป็นทางการในลำดับถัดไป เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการอุทยานฯ ส่วนกลางประกาศเป็นทางการ
ชุมชน ย้ำ อยู่กับป่าตามวิถี ไม่ใช่เพื่อครอบครอง แต่เพื่อรักษา
หวังสู่ต้นแบบแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินคนอยู่กับป่าทั่วประเทศ
สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้นำชุมชนบ้านกลาง บอกว่า การทำแผนที่ทำมือครั้งแรกมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับชาวบ้านไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะมาเรียกร้อง และวันนี้ถือเป็นวันที่เราชนะแล้ว หลังจากที่ต่อสู้กับอุทยานมานานถึง 30 ปี บางคนเกิดมาในช่วงเริ่มต้นของการต่อสู้ ตอนนี้ก็โตมีครอบครัวมีลูกมีหลานแล้ว
“เราแค่ขออยู่กับป่าตามวิถีของเรา ไม่ใช่เพื่อครอบครอง แต่เพื่อรักษา “
สมชาติ รักษ์สองพลู
ขณะที่ อรรณพ กันฑะวงศ์ ผู้แทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า คดีร้องเรียนจากชุมชนบ้านกลางในอดีตไม่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยตรง แต่ทาง กสม.ได้เสนอให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการตามแนวทางคุ้มครองสิทธิชุมชนภายใต้กรอบมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 ที่รับรองสิทธิชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ไร่หมุนเวียน และพื้นที่จิตวิญญาณ รวมถึงดําเนินการจัดทําแผนที่และประชาคมในระดับ หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอซึ่งการดำเนินงานในปัจจุบันถือว่าสอดคล้องกับหลักการนั้น
พชร คำชำนาญ ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) บอกว่า การปักหมุดเขตชุมชนและเขตอุทยานฯ ในวันนี้ นับเป็นตัวอย่างที่ดีให้พื้นที่อุทยานฯ อื่นดำเนินตาม ที่ผ่านมาชุมชนไม่ได้คัดค้านอุทยานฯ แต่ชุมชนต้องการการกันพื้นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินออก เพราะถ้าเกิดอยู่ภายใต้อุทยานฯ จะไม่สามารถอยู่ได้
“ชุมชนบ้านกลางและบ้านแม่ส้าน เป็นพื้นที่แห่งการต่อสู้ที่ยาวนาน ประวัติศาสตร์การต่อสู้กับอุทยาน ผ่านหัวหน้าอุทยานฯ มาแล้ว 9 คน ในวันนี้ถือว่าจบลงด้วยดี ด้วยชัยชนะ และความร่วมมือของประชาชน”
พชร คำชำนาญ
ย้ำยังต้องจับตาฝ่ายนโยบายเคาะตามอุทยานฯ กันพื้นที่ให้ชุมชนหรือไม่ ?
พชร ยังย้ำว่า สิ่งที่ต้องติดตามต่อคือกระบวนการขั้นต่อไป ที่จะมีการจัดเวทีระดับอําเภอ เป็นเวทีรับฟังความเห็น ซึ่งชุมชนต้องไปยืนยันอีกครั้งหนึ่ง และตรวจสอบว่าอุทยานฯ ได้กันพื้นที่ให้ตามที่ชุมชนต้องการหรือไม่ หากตรงกันชุมชนจะไม่ติดใจ และเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการแห่งชาติต่อไป
“ตอนนี้คืออยู่ที่ฝั่งนโยบายแล้วว่าจะเคาะยังไง จะเคาะตามที่อุทยานฯ มาฟังความเห็นกับชาวบ้านให้กันออกหรือไม่ ซึ่งเท่ากับว่าเรายังต้องติดตามต่อไปก็ถือว่าเป็นชัยชนะสําคัญ แต่ยังไม่ใช่ชัยชนะอย่างถึงที่สุด แต่นับว่าเป็นหมุดหมายสําคัญที่ให้ชาวบ้านได้ชื่นใจ สบายใจมากขึ้น”
พชร คำชำนาญ