ประกาศปักหลัก ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ ไม่มีกำหนด จนกว่าจะได้ข้อสรุปหลังไร้เงารองนายกฯ รับ 5 ข้อเรียกร้อง หวังเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ภายในวันอังคารถัดไป เพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน
วันนี้ ( 24 มี.ค. 2568 ) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า พร้อมด้วยแนวร่วมประชาชน เครือข่ายชาติพันธุ์กว่า 2,000 คน นัดรวมพลกัน ณ สวนหลวง ร.9 ตั้งแต่เวลา 9.00 น. เพื่อตั้งขบวนเดินเท้าไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนปักหลักชุมนุมยาวไม่มีกำหนดจนกว่าข้อเรียกร้อง 5 ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหากฎหมายป่าอนุรักษ์ละเมิดสิทธิชุมชน จะบรรลุ
โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินขบวนถึงศาลากลางจังหวัด มีประชาชนบางส่วนปักหลักรอบริเวณด้านในศาลากลาง และทยอยมาสมทบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริเวณด้านหน้าทางเข้าอาคารศาลากลางจังหวัด มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังกว่า 40 นาย
ผู้ชุมนุมได้เตรียมยื่นหนังสือไปถึงรองนายกรัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทอง ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดลงมารับหนังสือและพบปะประชาชน ณ บริเวณที่ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ทางตัวแทนเจ้าหน้าที่ศูนย์ราชการจังหวัดพยายามเจรจาต่อรองยืดระยะเวลาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงมารับหนังสือ โดยแจังว่าจะเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นตัวแทนมารับหนังสือแทน ภายใน 11.30 น.
“นี่คือเสียงประชาชนคนรากหญ้า คนเหมือนกันกับพวกท่าน ถ้าท่านจริงใจอยากให้เราเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ท่านต้องทำตามสิ่งที่ประชาชนสะท้อน การคุกคามในพื้นที่เกิดอย่างต่อเนื่อง เราไม่สามารถนิ่งเฉยอยู่ที่บ้านได้แล้ว ” ตัวแทนชาวบ้าน กล่าว
เวลา 11.45 น. ผู้ชุมนุมเริ่มขยับขบวนเข้าใกล้ประตูเข้า-ออกอาคารมากขึ้น หลังผ่านเวลานัดหมายว่ารองผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงมารับหนังสือ ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาตรึงกำลังเพิ่มขึ้น พร้อมปิดประตูเข้า-ออก อาคาร ทางตัวแทนเจ้าหน้าที่ศูนย์ราชการจังหวัด พยายามเจรจาขอยืดเวลาเพิ่ม แต่ทางผู้ชุมนุมยืนยันว่า รองผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องออกมารับหนังสือโดยทันที ไม่ควรยืดเยื้อเวลาไปมากกว่าที่รับปากไว้
เวลา 11.50 น. รองผู้ว่าราชการเชียงใหม่ ศิวกร บัวป้อง ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ลงมารับหนังสือจากตัวแทนเครือข่ายประชาชน โดยได้ชี้แจงว่า หนังสือที่ทางสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า และแนวร่วมเครือข่ายประชาชน ยื่นเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 68 ที่ผ่านมา เรื่องขอให้รองนายกรัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทอง เดินทางมาเป็นประธานในการประชุมเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหานั้น ทางศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ประสานไปยังปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการประสานและนำเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีแล้ว



เนื้อหาสำคัญในหนังสือที่ยื่นครั้งนี้ ระบุถึงการขอให้เกิดการประสานงานรองนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในที่ประชุมเจรจาและขอยืนยันข้อเรียกร้องสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) และ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ซึ่งมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 5 ข้อ
1) เร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยเร่งด่วน โดยคณะกรรมการนั้นต้องมีสัดส่วนที่เท่ากันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน และในระหว่างการแก้ไขกฎหมาย ขอให้ยุติการนำพระราชกฤษฎีฎาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชกฤษฎีฎาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่า ตามมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และยุติการเตรียมประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่ม จำนวน23 แห่ง จนกว่าจะมีการปรับแก้ไขกฏหมายจนแล้วเสร็จ (ตามบันทึกการหารือการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากกฏหมายป่าอนุรักษ์) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ ศาลากลางเชียงใหม่ (ครม.สัญจร)
2) เร่งดำเนินการแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 มาตรการสำหรับการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในการกำหนดเงื่อนไขมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541 การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำและแนวทางการอนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีเงื่อนไขระยะเวลาที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดสิทธิชุมชน ให้นำไปสู่แนวทางการรับรองสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่า ตามแนวทางพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 10 (4) กำหนดมาตรการหรือแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมซึ่งรวมถึงรูปแบบการจัดที่ดินในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ หรือรูปแบบในลักษณะอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ คทช. กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การใช้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด
3) ขอให้เร่งรัดนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานโฉนดชุมชน เร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนชน ตามระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 โดยเร่งด่วน เพื่อเดินหน้าการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินและส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชนอย่างยั่งยืนร่วมกัน
4) เร่งติดตาม ผลักดัน ให้มีมาตรการและกลไกในการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมพ.ศ.2567 เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร รวมถึงคนไทยติดแผ่นดินที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ โดยมีข้อสั่งการขอให้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอวาระข้อเรียกร้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ที่ดิน ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิบังคับใช้กฎหมาย
5) ขอให้รองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) ในฐานะผู้แทนรัฐบาล นำผลการเจรจาระหว่างรัฐบาล กับสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) และ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) (ตามข้อเรียกร้องข้อ 1-4) กราบเรียนนายกรัฐมนตรี และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ภายในวันอังคารถัดไปหลังการเจรจาได้ข้อยุติ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับทราบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนตามผลการเจรจาต่อไป
“ นี่คือ 5 ข้อเรียกร้องที่เราจะเจรจากับรัฐบาล แพทองธาร คู่ขนานไปกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พวกเรามาที่นี่เพื่อยืนยัน เราต้องการเจรจารัฐบาล เราไม่ได้มาสร้างปัญหาความวุ่นวาย แต่เรามาเพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลมาแก้ปัญหาให้ประชาชน ถ้าไม่ใช่พวกเราที่อยู่กับป่าดูแลป่า ป่านนี้เป็นเขาหัวโล้น เป็นเขื่อน เป็นเหมืองไปหมดแล้ว เราในนามประชาชนที่อยู่กับป่า เราขอพูดในนามคนอยู่กับป่า ไม่ใช่พูดในนามเจ้าที่รัฐที่นั่งในห้องแอร์แล้วขีดเขียนกฎหมายละเมิดสิทธิคนกับป่า รัฐบาลต้องเปิดทันที ไม่เช่นนั้นศาลากลาง จ.เชียงใหม่ จะกลายเป็นสังเวียนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่คนยากจนขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแพทองธารด้วยตัวพวกเราเอง ” พชร คำชำนาญ กองเลขานุการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) กล่าว

จากนั้น ผู้ชุมนุมประกาศ เริ่มปักหลักชุมนุมยาวอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าข้อเรียกร้อง 5 ข้อจะบรรลุ และเริ่มทยอยจัดการสถานที่เพื่อตั้งหมู่บ้าน บริเวณด้านหน้าอาคารศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่