“เครือข่ายสุขภาพและโอกาส” ติงแนวคิด “รมว.กลาโหม” บำบัดในค่ายทหาร สวนทางกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ แนะยกระดับบริการโดยชุมชมที่มีความพร้อม ลดภาระด้านสาธารณสุข
จากกรณีที่ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเพื่อไทย ลดปัญหายาเสพติดให้เป็นรูปธรรมภายในเวลา 1 ปี 12 ด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้านจิตเวช โดยระบุว่า ครั้งนี้กองทัพคงต้องมีค่ายบำบัดโดยปรับตามกฎหมายใหม่ ให้เป็นในลักษณะการปรับค่ายทหารใหม่ หรือทหารเกณฑ์ เป็นค่ายบำบัดยาเสพติดด้วย เพราะต้องยอมรับว่าเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่เข้ารับการเกณฑ์ทหารติดยาเสพติด ซึ่งกองทัพเคยมีค่ายวิวัฒน์พลเมือง
เนื่องใน “วันสิทธิมนุษยชนสากล” 10 ธ.ค.66 ทฤษฎี สว่างยิ่ง ผู้อำนวยการเครือข่ายสุขภาพและโอกาส (Health and Opportunity Network : HON) เปิดเผยกับ The Active ว่า แนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จะนำผู้ใช้สารเสพติดไปเข้ารับการบำบัดด้วยกระบวนการในค่ายทหาร มีบทเรียนมาหลายสิบปีแล้วว่าไม่เคยสำเร็จได้ และถ้ารัฐบาลจะใช้มาตรการนี้อาจจะไม่สอดคล้องกับนโยบายยาเสพติดฉบับใหม่ ซึ่งต้องการลดปัญหาการเป็นอาชญากร ส่งเสริมให้คนเข้าสู่กระบวนการบำบัดด้วยความสมัครใจ แต่ยอมรับว่ากระบวนการที่ผ่านมาอาจจะไปไม่ถึงเรื่องความสมัครใจเนื่องจากมีทางเลือกน้อย เช่น ค่ายวิวัฒน์พลเมือง หรือแม้แต่ใช้กลไกของวัดต่าง ๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับการบำบัดที่เกี่ยวข้องกับมิติสุขภาพ หรือแนวทางที่เป็นสากล จะต้องทบทวนว่ากระบวนการที่มีอยู่ในค่ายทหาร เหมาะสมกับผู้ใช้สารเสพติดหรือไม่ บทบาทของทหารที่แท้จริงใช่ของการเป็นผู้บำบัดหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่สังคม และภาคประชาสังคมตั้งคำถาม
“ความจริงแล้วการบำบัดภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ควรอยู่ในมือ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถูกฝา ถูกตัว มากกว่าที่จะส่งไปที่ค่ายทหาร ซึ่งไม่อาจจะพูดได้ว่าจริง ๆ แล้วมีความสอดคล้องกับเรื่องของวิธีการบำบัดผู้ใช้ยาซึ่งอาจจะต้องใช้ยาบางตัว แม้แต่กระบวนการที่ใช้ฝึกวินัยจะช่วยอย่างไรกับการที่จะทำให้คนเลิกยาได้ ที่ผ่านได้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมมือในการจัดให้บริการส่งเสริม ให้การบำบัดในสังคม ที่มีประสบการณ์ เช่น ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสุขภาพ และเอชไอวี มาก่อน แค่มีการพัฒนาเพิ่มเติมบริการบางอย่างเข้าไป”
ทฤษฎี สว่างยิ่ง
ย้ำนโยบายเปลี่ยน “ผู้เสพ” เป็น “ผู้ป่วย” ต้องคิดไกลกว่ามิติสุขภาพ
ทฤษฎี ยังบอกด้วยว่า การเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษา ฟื้นฟู ในโรงพยาบาล ตามนโยบายของรัฐบาล จำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ที่อาจจะยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องของแนวทางการลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) ซึ่งในระดับสากลไปไกลกว่ามิติสุขภาพ แต่ครอบคลุมเรื่องความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ความเสี่ยงมาตรการทางสังคม, มาตรการทางกฎหมาย
สิ่งเหล่านี้รัฐบาลจำเป็นต้องออกแบบยุทธศาสตร์การทำงาน Harm Reduction ที่เกี่ยวข้องกับประเทศว่าจะมีแนวทางในการดูแลสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้สารเสพติดอย่างไร โดยเปิดให้หารือร่วมกับภาคประชาสังคมทำความเข้าใจกับแนวคิด Harm Reduction ให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มองอย่างไร สำหรับตัวผู้ใช้สารเสพติดเป็นอย่างไร เพราะในการทำงาน เช่น ในมุมมองของตนเองที่ทำงานกับผู้หญิงและทรานส์ที่ใช้สารเสพติด พบว่ามีความเปราะบางที่แตกต่าง มีความละเอียดอ่อน ไม่สามารถที่จะมองเรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องของอาชญากร กระทำความผิด เกิดการคุ้มคลั่ง ซึ่งเป็นการมองแบบผิวเผิน และทำให้สังคมมองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง
ขณะที่การทำงานในปัจจุบัน HON และภาคีเครือข่าย พยายามทำงานกับคนที่เป็นผู้ใช้สารเสพติดในชุมชนด้วยกัน เช่น ผู้ใช้สารเสพติดจะต้องรู้ความเสี่ยงในการใช้ เพื่อไม่ให้เกิดกระทบกับตัวเอง หรือความเสี่ยงกับคนรอบข้าง ส่งเสริมให้คนที่ต้องการหยุดใช้สารเสพติดไม่กลับไปใช้ซ้ำ รวมถึงสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง คือ สร้างการเชื่อมโยงระหว่างตัวผู้ใช้สารเสพติด ชุมชน ครอบครัว และไปสู่การบำบัด สิ่งนี้จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การสมัครใจการเข้าบำบัด” ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการเข้าใจของคนรอบข้าง และผู้ใช้สารเสพติดจะตัดสินใจเข้าสู่การบำบัดหรือไม่เป็นการตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่การถูกบังคับหรือให้ทางเลือกแค่ไม่กี่ทางเลือกที่มีอยู่เท่านั้น
ทั้งนี้ HON ยังได้ร่วมกับ เครือข่ายผู้หญิงและทรานส์ที่ใช้สารเสพติด (We-TrUST) ร่วมรณรงค์เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล (Human Rights Day) 10 ธ.ค.66 ภายใต้แนวคิดการรณรงค์ปีนี้ที่ว่า “ศักดิ์ศรี เสรีภาพ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพให้กับเพื่อนผู้ใช้ยา และเพื่อนที่ถูกกระทำความรุนแรง ละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงอคติ การตีตราในสังคม