วิเคราะห์ปัจจัย พบ ผู้คนใช้รถส่วนตัวเดินทางน้อยลง แห่ใช้ขนส่งสาธารณะกลับภูมิลำเนา สอดคล้อง ตำรวจ บังคับใช้กฎหมายเข้มข้น ช่วยลดความเสี่ยง ขณะที่ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนฯ ระบุสถิติ 6 วัน หยุดยาวสงกรานต์ อุบัติเหตุ 1,377 ครั้ง เจ็บ 1,362 คน ตาย รวม 200 คน กรุงเทพฯ สูญเสียมากสุด
วันนี้ (17 เม.ย. 68) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย รายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 16 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นวันที่ 6 ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” พบการเกิดอุบัติเหตุ 155 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 149 คน ผู้เสียชีวิต 22 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 39.35, ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 19.35 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 18.06
สำหรับยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.76 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 82.58, ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.42, ถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.90, ถนนในเมือง (เทศบาล) ร้อยละ 15.48

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 15.01 -18.00 น. ร้อยละ 21.29, เวลา 18.01 – 21.00 น. ร้อยละ 17.42 และเวลา 12.01 – 15.00 น. ร้อยละ 14.19 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 16.96
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (9 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ลำปาง (9 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น, ชัยภูมิ, ปทุมธานี, อ่างทอง และเพชรบุรี (จังหวัดละ 2 คน)
ทั้งนี้สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (11 เมษายน – 16 เมษายน 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,377 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,362 คน ผู้เสียชีวิต รวม 200 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 15 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ จ.พัทลุง (52 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ จ.ลำปาง (56 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (16 ราย)
ส่องปัจจัย สงกรานต์ 68 ความเสี่ยงอุบัติเหตุลดลง
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยกับ The Active ว่า ในช่วงผ่านมา 6 วันของเทศกาลสงกรานต์ปีนี สิ่งที่พบคือ แนวโน้มความเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต โดยเฉลี่ยลดลงเกือบ ร้อยละ 20 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี
ทั้งนี้หากวิเคราะห์ลึกลงไป จะพบว่า การลดลงเกิดขึ้นในช่วงการเดินทางมากที่สุด โดยข้อมูลจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า สงกรานต์ปีนี้ผู้คนออกเดินทางเร็วขึ้น ขณะที่บางส่วนยังตกค้างไม่ยอมเดินทางกลับในช่วงวันหยุดนี้ ดังนั้นอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้การเดินทางปีนี้ยังไม่มากนัก

อีกปัจจัยคือเทศกาลปีนี้ ผู้คนในรถยนต์ส่วนบุคคลลดลง เห็นได้จากการที่ผู้คนเข้าไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น อย่าง ระบบราง มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 30 รถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7 นอกจากนั้นในช่วงการฉลองเทศกาล พบข้อมูลลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ต้องขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่บังคับใช้กฎหมายเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ความเสี่ยง เช่น เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว การกระทำผิดกฎหมาย ต่าง ๆ ทำให้ภาพรวมในช่วงการฉลองเกิดอุบัติเหตุลดลง ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดีขึ้น
“ข้อสังเกตในส่วนของปริมาณคนที่เดินทางออกมาสังสรรค์ ออกมาเล่นน้ำสงกรานต์ปีนี้ มีข้อบ่งชี้พบว่าลดลง ซึ่งการลดลงนี้โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน ก็สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ดีขึ้น หลายภาคส่วนผนึกกำลัง ดูแล ควบคุมมาตรการชุมชน ผนึกกำลังการบังคับใช้ มีด่านชุมชน มีด่านตำรวจเสริมกัน ปีนี้ประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายดีขึ้น”
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์
ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ย้ำว่า แนวโน้มความเสี่ยงอุบัติเหตุที่ลดลงนั้น นโยบายสำคัญที่จะต้องเอามาใช้ในช่วงปกติ และช่วงเทศกาลถัดไป คือในเชิงของการบังคับใช้กฎหมาย เพราะเมื่อสามารถเพิ่มการบังคับใช้ มีการกำกับของตำรวจตั้งแต่ระดับภาค จังหวัด หรือแต่ละ สน. กำกับดูแลเข้มงวด ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการบังคับใช้ในภาพรวมมีประสิทธิผล ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ พร้อมทั้งการเสริมมาตรการที่ต้นทาง คือ มาตรการชุมชน ร้านค้า องค์กรต่าง ๆ มาเสริมร่วมด้วยไม่ใช้แค่ตำรวจฝ่ายเดียว