สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ชวนสื่อมวลชนประกวดคลิปสั้น – ภาพถ่าย พร้อมแถลงการณ์ถึงพรรคการเมือง ไม่เอา “ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” 5 พรรคการเมืองร่วมถก ชี้ กฎหมายคุกคามเสรีภาพสื่อต้อง แก้ไข – ยกเลิก
3 พ.ค. 2566 เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) ประจำปี 2566 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ UNESCO จัดการประกวดสื่อวิดีโอสั้นในแพลตฟอร์ม TikTok หัวข้อ “#ชีวิตคนทำงานสื่อ” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการประกวดสื่อประเภทนี้ โดยผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องเป็นผู้ที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำงานในสำนักข่าว เช่น นักข่าวภาคสนาม ช่างภาพ นักข่าวประจำโต๊ะข่าวต่าง ๆ ฯลฯ โดยสำนักข่าวนั้นต้องรายงานข่าวสารเป็นกิจลักษณะ, มีช่องทางเผยแพร่ข่าวสารเป็นของตนเอง เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ หรือเว็บไซต์ และมีกองบรรณาธิการหรือผู้รับผิดชอบโดยชัดเจนโดยมีการเปิดรับสมัครผลงานตั้งแต่ วันที่ 11 เมษายน 2566
โดยการมอบรางวัลจัดขึ้นวานนี้ (2 พ.ค. 66) มีรายชื่อผู้ได้รับรางวัลคลิปสั้น บนแพลตฟอร์ม TikTok ในหัวข้อ #ชีวิตคนทำงานสื่อ ดังนี้
รางวัลชนะเลิศ
- อัญชัญ อัญชัยศรี (The Active ThaiPBS)
รางวัลรองชนะเลิศ
- นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ
รางวัลชมเชย
- คณพศ เข็มทองวงศ์, วรรณพร หุตะโกวิท, ธัญญารัตน์ ถาม่อย, ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ, พิชญาภา สูตะบุตร, สุคนธ์เพชร ผลประดิษฐานนท์, ณัฐพร สร้อยจำปา และขวัญเรียม แก้วสุวรรณ
นอกจากนี้มีการประกวดภาพถ่าย เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 2566 ในหัวข้อ #เสรีภาพสื่อเสรีภาพประชาชน ซึ่งรายชื่อผู้ได้รับรางวัล มีดังนี้
ชนะเลิศ
- เมธิชัย เตียวนะ
รองชนะเลิศ 3 รางวัล
- กันต์ แสงทอง ,ชนากานต์ เหล่าสารคาม และเมธิชัย เตียวนะ
รางวัลชมเชย
- จุมพล นพทิพย์, วัชรชัย คล้ายพงษ์, วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์, วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์, ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช, ชญานิศ อิทธิพงศ์เมธี, ฉัฐพัชร์ สุวรรณยุหะ, เมธิชัย เตียวนะ และเจมส์ วิลสัน
รางวัล Popular Vote
- เจมส์ วิลสัน
ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ถึงพรรคการเมืองที่จะเข้าทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรในอนาคต โดยเน้นย้ำถึงการเคารพเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมือง รวมถึงจุดยืนต่อ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน มีสาระสำคัญดังนี้
- คุ้มครองและพิทักษ์ไว้ซึ่งเสรีภาพการแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพสื่อ เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองที่สงบ สันติ และปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
- ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน และแก้ไขปัญหาการใช้กฎหมายปิดปากสื่อและประชาชน หรือที่เรียกว่า SLAPP (สแลป)
- สร้างกลไกตรวจสอบและเอาผิดผู้ที่คุกคามสื่อหรือใช้ความรุนแรงต่อคนทำงานสื่อได้อย่างแท้จริง เพื่อขจัดวัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวล (culture of impunity)
- ไม่นำเอา “ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” ฉบับที่ตกไปแล้วในรัฐสภาชุดก่อน ขึ้นมาพิจารณาอีกในอนาคต
- สนับสนุนกลไกการกำกับดูแลกันเองในวงการสื่อมวลชน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นอิสระ เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ และส่งเสริมจริยธรรมสื่อควบคู่ไปกับเสรีภาพสื่อพร้อม ๆ กัน
ผ่านมากว่า 32 ปี ที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อมวลชน โดยปีนี้ ยูเนสโกกำหนดหัวข้อการรณรงค์ไว้ว่า “Freedom of expression as a driver for all other human rights” หมายถึง “เสรีภาพในการแสดงออก คือบ่อเกิดแห่งสิทธิมนุษยชนทั้งปวง” เสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือประชาชน ล้วนเป็นสิทธิพื้นฐานที่สมควรได้รับการปกป้องคุ้มครอง เพราะ “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน”
นอกจากนี้ ภายหลังการอ่านแถลงการณ์ มีเสวนา “สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ในมุมมองพรรคการเมืองไทย” โดยมีตัวแทนจาก 5 พรรคการเมือง คือ รวมไทยสร้างชาติ, ประชาธิปัตย์, เพื่อไทย, ก้าวไกล และไทยสร้างไทย ร่วมเสวนา แต่ละพรรคให้ความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนและการใช้กฎหมายปิดปากประชาชน ที่ถือเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน โดยเกือบทุกพรรคไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้ยังให้ความเห็นต่อ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่นับเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ต้องมีการแก้ไข โดย รังสิมันต์ โรม จากพรรคก้าวไกล ระบุว่า หากพรรคได้เป็นรัฐบาล จะเข้าไปแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ และยกเลิกศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ขณะที่ ว่าที่ ร้อยตำรวจเอก หญิง อัยรดา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุว่า ยังมีความจำเป็นต้องมีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมอยู่ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่อง Fake News ยังมีอยู่จริง
ดูผลงานที่ส่งเข้าประกวดได้ที่
อ้างอิง