‘ศาลฎีกา’ ยกฟ้อง หลังชาวบ้าน-นักเคลื่อนไหว ถูกจับกุมดำเนินคดีฐานทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เมื่อ 24 พ.ย. 2560 ‘ภาคประชาชน’ ชี้ เป็นบรรทัดฐานให้ประชาชนมั่นใจและกล้าออกมาเรียกร้องต่อรัฐ
วันนี้ (22 ก.ค. 2566) ผู้สื่อข่าว The Active รายงานว่าจากการพูดคุยกับ กฤษดา ขุนณรงค์ ทนายความเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ หนึ่งในคณะทำงานในคดีเครือข่ายเทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ถูกจับกุมดำเนินคดี ในความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดต่อร่างกาย และความผิดต่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2560 กระทั่งเมื่อวานนี้ (23 ก.ค.) ศาลฎีกาพิจารณาและมีคำสั่งยกฟ้อง
โดยนายกฤษฎา เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ชาวบ้านซึ่งได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะมาสร้างใน อ.เทพา จ.สงขลา ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการอย่างต่อเนื่อง และรวมตัวกันเดินเท้า 75 กิโลเมตร จาก อ.เทพา เพื่อตั้งใจไปยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมาประชุม ครม. สัญจร ที่ จ.สงขลา ในวันที่ 27- 28 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เจ้าหน้าตำรวจได้วางกำลังสกัดการเคลื่อนไหวรวมตัว และจับกุมประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว
จากกรณีดังกล่าวอัยการได้มีการสั่งฟ้องจำเลย 17 คน โดยระบุความผิดต่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธาณะ ที่ไม่แจ้งการชุมนุมก่อนชุมนุม 24 ชั่วโมง ซึ่งในตอนนั้น กรณีชาวบ้านไม่ได้แจ้ง เนื่องจากเห็นว่าไม่น่าจะเป็นการชุมนุม แต่เดินเคลื่อนที่กันแล้ว และมีหนังสือจากสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ว่าเป็นการชุมนุม เครือข่ายชาวบ้านที่เคลื่อนไหวได้รีบไปแจ้งในทันที
ส่วนข้อหาที่ 2 เป็นเรื่องการขัดขวางเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน เพราะตำรวจระบุว่าตรงจุดที่ตั้งแถวสกัดตรงมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัย แต่ประชาชนเดินฝ่าต่อสู้ขัดขวาง และหลังจากนั้นระบุมีตำรวจบาดเจ็บ 3-4 คน จึงแจ้งข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ และมีเรื่องกีดขวางการจราจรด้วย ซึ่งวันนั้นจับชาวบ้านที่เคลื่อนไหว 17 คน มาที่ สภ.เมืองสงขลา ส่งเรื่องเป็นเรื่องคดีอาญา โดยอัยการมีคำสั่งฟ้องที่ศาลจังหวัดสงขลา
โดยศาลชั้นต้นพิพากษา ข้อหาแรก ไม่แจ้งการชุมนุม 24 ชั่วโมง ศาลมองว่ามีความผิด และเป็นโทษปรับ ส่วนข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน เรื่องกีดขวาง การจราจร ทำร้ายร่างกาย ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เพราะโจทย์ก็สืบพยานไม่ได้ว่าทำร้ายร่างกายอย่างไร
ส่วนในชั้นศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้มีความผิด ทั้ง 2 ข้อหา คือ ความผิดต่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ไม่แจ้งภายใน 24 ชั่วโมง และข้อหาที่ 2 ทำร้ายร่างกายก็มีความผิด โดยมองว่ามีเหตุฝ่าเข้าไปจริง แต่เรื่องกีดขวางจราจรยกฟ้อง ทางเครือข่ายและประชาชนจึงยื่นฎีกา ซึ่งเมื่อวานนี้ศาลพิจารณายกฟ้องทั้ง 2 ข้อกล่าวหา
ทนายกฤษฎา เปิดเผยรายละเอียดว่า สำหรับข้อกล่าวหาที่ 1 ศาลมองว่าการที่ชาวบ้านเดือดร้อน และมายื่นหนังสือต่อรัฐ หรือ ต่อนายกรัฐมนตรี เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ทำได้ วิเคราะห์ดูพฤติการณ์ต่าง ๆ ของชาวบ้าน เดินกันมาอย่างสงบ เป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่มีอาวุธ ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ ศาลจึงดูข้อเท็จจริงในวันนั้น คือชาวบ้านไม่แจ้งก่อนก็จริง แต่เมื่อตำรวจบอกว่านี่เป็นการชุมนุม ชาวบ้านก็รีบไปแจ้ง ศาลมองไปที่เจตนาชาวบ้าน ไม่ได้ประสงค์จะไม่แจ้ง แต่เมื่อยื่นแจ้งก็เลยเวลา 24 ชั่วโมงมาแล้ว ก็ไปยื่นผ่อนผันด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาพยายาม ไม่ได้มีเจตนาทำผิด พยายามไปแจ้ง ไปขอผ่อนผัน
“ซึ่งมาตรา 12 เปิดโอกาสอยู่แล้วว่าถ้าไปยื่นแจ้งไม่ทัน ก็ต้องไปขอผ่อนผันต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายอยู่แล้ว ข้อเท็จจริงคือผู้ว่าราชการจังหวัดเขาสั่งไม่อนุญาตให้ผ่อนผัน สั่งให้เลิกชุมนุมไปเลย ซึ่งศาลมองว่ากรณีดังกล่าวไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ในมาตรา 12 และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะรู้แผนอยู่ว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่ได้มีพฤติการณ์อะไรที่ทำให้ดูไม่สงบเลย ศาลมองว่าคำสั่งที่ให้เลิกชุมนุมของตำรวจไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นก็เลยไม่ผิด“
กฤษดา ขุนณรงค์
ดังนั้น เมื่อไม่ผิด ข้อกล่าวหาข้อที่ 2 ก็ยกไปด้วย เพราะเป็นการชุมนุมโดยสงบ ทนายกฤษฎา มองว่านี่ถือเป็นบรรทัดฐานทางการเมือง คือถ้าตามรัฐธรรมนูญเราชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ อย่างไรก็ไม่ผิดอยู่แล้ว แต่การพยายามเอา พ.ร.บ.การชุมนุมฯ มาบอกว่าผิด และทำให้การชุมนุมไม่ชอบ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะการชุมนุมถ้าจะไม่ชอบคือไม่สงบและมีอาวุธ และศาลย้ำว่าเป็นสิทธิที่สามารถออกมาเรียกร้อง
แกนนำ ย้ำ ศาลฎีกายกฟ้อง ยิ่งทำให้มั่นใจในการคเลื่อนไหวปกป้องสิทธิชุมชน
ด้าน สมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายปกป้องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สงขลา-สตูล หนึ่งในจำเลยที่ถูกดำเนินคดี กล่าวว่า ผลการตัดสินของศาลฎีกาในคดีนี้ สะท้อนชัดถึงสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมในการแสดงออก ที่เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งตนคิดว่าในคำพิพากษาศาลฎีกา ยืนยันสิทธิเรื่องนี้ไว้ชัดเจนมาก ว่าภายใต้ระบบการปกครองของระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพอันนี้ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานมาก ๆ ที่รัฐจะต้องยอมรับ และในรัฐธรรมนูญคุ้มครองเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นในข้อกล่าวหาที่ถูกตัดสินในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ที่ตัดสินไป เราถูกกล่าวหาเรื่องผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และผิดในเรื่องการขัดขวางทำร้ายเจ้าพนักงาน เหตุผลเหล่านั้นฟังไม่ขึ้น เพราะอย่างไรกฎหมายที่ใหญ่กว่าคือรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ และในกฎหมายชุมนุม มีข้อยกเว้นในเรื่องรายละเอียด เรื่องของการแจ้งชุมนุมที่มันล่าช้า ไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่แจ้งชุมนุม
“การที่ศาลฎีกามีคำตัดสินเช่นนี้ ทำให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนที่เคลื่อนไหวทางด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนมากขึ้น เพราะว่าจะทำให้เราสามารถยืนยันในหลักการได้อย่างชัดเจนว่าการออกมาเรียกร้องชุมนุมเรื่องนี้อย่างสงบและปราศจากอาวุธมันเป็นสิทธิที่ประชาชนในประเทศนี้ทุกคนสามารถทำได้ คิดว่ามาตรฐานของคำพิพากษานี้จะเป็นบรรทัดฐานให้กับกลุ่มองค์กร หรือชาวบ้านทั่วไปที่ได้รับผลกระทบด้านสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชุมชน สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะทำให้เขากล้าที่จะออกมาเรียกร้องสื่อสารสาธารณะ ในการที่จะบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมหรือโครงการอะไรก็แล้วแต่ที่กระทบต่อพวกเขาได้อย่างมีความมั่นใจมากขึ้น“
สมบูรณ์ คำแหง
นายสมบูรณ์ ยังมองว่า เป็นบรรทัดฐานที่รวมไปถึงการออกมาชุมนุมทางการเมืองด้วย ว่าถ้าออกมาชุมนุมเรียกร้องลงถนนกันอย่างสงบปราศจากอาวุธ ตนคิดว่า ประชาชนสามารถทำได้แน่นอนเรียกร้องได้ในทุกมิติ