คนทำงานด้านอนุรักษ์ รวมตัวที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ร่วมกิจกรรม ‘ศศิน’ ชี้ แม้มีการทบทวนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความพยายามผลักดันอีกในอนาคต
33 ปีมาแล้ว ที่วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี คนทำงานด้านอนุรักษ์ จะไปรวมตัวกันที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อรำลึกถึง บุคคลที่เป็นตำนานของนักอนุรักษ์ คือ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ซึ่งกิจกรรมในปีนี้ ถือว่ามีความสำคัญ เพราะนอกจากจะครบรอบ 33 ปี การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร ยังเป็นการครบรอบ 10 ปี กิจกรรมเดินเท้าคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ของมูลนิธิสืบฯ ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวด้านการอนุรักษ์ครั้งใหญ่ที่สุด หลังการเสียชีวิตของ ‘สืบ นาคะเสถียร’
ช่วงเช้าที่ผ่านมา (1 ก.ย. 2566) เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง เจ้าหน้าที่มูลนิธิ สืบนาคะเสถียร หน่วยงานภาครัฐและองค์กรด้านการอนุรักษ์ ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศล และวางพวงมาลาหน้ารูปปั้น ‘สืบ นาคะเสถียร’ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ตอนยังมีชีวิตอยู่ เป็นต้นแบบของข้าราชการที่อุทิศตัวเพื่องานอนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533 เขาตั้งใจจบชีวิตตัวเอง เพื่อส่งสัญญาณถึงสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้หันมาสนใจปัญหาป่าไม้และสัตว์ป่า
ขณะที่เมื่อวานนี้ (30 ส.ค. 2566) วันแรกของกิจกรรมรำลึกครบรอบ 33 ปี ช่วงกลางวัน มีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ การจัดนิทรรศการของหน่วยงานราชการและองค์กรด้านการอนุรักษ์ มีการพานักเรียนและนักท่องเที่ยว ทำกิจกรรมศึกษาและสำรวจธรรมชาติ
ส่วนช่วงกลางคืน มีกิจกรรมดนตรี และล้อมวงเสวนาพูดคุยถึงการทำงานอนุรักษ์ โดย อรรถพล เจริญชันษา รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่า การทำงานด้านอนุรักษ์นั้น บุคลากรถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยตอนนี้กรมฯ ได้จัดทำหลักเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งของหัวหน้าหน่วยงานอนุรักษ์ต่าง ๆ เพื่อป้องกันการวิ่งเต้น และให้ได้คนที่มีคุณสมบัติ และเหมาะสมมาทำงาน ส่วนเรื่องสวัสดิการได้พยายามของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อปรับค่าตอบแทนและสวัสดิการของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า หลังจากไม่มีการปรับมากว่า 11 ปี
ส่วนเวทีสืบทอล์กมี ศศิน เฉลิมลาภ และภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบฯ ร่วมพูดคุยประเด็น ครบ 10 ปี กิจกรรมเดินเท้าจากแม่วงก์-ถึงหอศิลป์ กทม. เพื่อคัดค้าน EIA เขื่อนแม่วงก์ โดย อาจารย์ศศิน บอกว่า ที่เลือกใช้การเดินเท้าเพราะเป็นวิธีสื่อสารที่ทำให้คนหันมาสนใจได้ดีที่สุดในเวลานั้น ซึ่งตลอด 13 วันของการเดิน ได้เห็นพลังของคนที่มาร่วมตลอดทั้งเส้นทาง ถือเป็นกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดในนามของมูลนิธิสืบฯ
แม้ปัจจุบันจะมีการทบทวนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความพยายามผลักดันอีกในอนาคต แต่สุดท้ายก็เชื่อว่า เขื่อนแม่วงก์จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะพลังของนักอนุรักษ์หลากหลายรุ่นที่ออกมาร่วมกิจกรรมตอนนั้นยังคงอยู่ เห็นได้จากการคัดค้านเขื่อนรอบเขาใหญ่ในปัจจุบัน ก็เป็นนักอนุรักษ์ที่เคยเดินร่วมกันเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ปิดท้ายกิจกรรมเมื่อคืนนี้ ด้วยการจุดเทียนรำลึกที่รอบฐานรูปปั้น สืบ นาคะเสถียร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการสืบสานแนวคิดและอุดมการณ์ เปรียบเสมือนการส่งต่อแสงเทียน จากเทียนที่ สืบ นาคะเสถียร เคยจุดไว้เมื่อ 33 ปีที่แล้ว