เครือข่ายภาคประชาชนหวัง ความเท่าเทียมเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ‘เปลี่ยนเบี้ยสงเคราะห์เป็นบำนาญถ้วนหน้า’ รองประธานสภาฯ ชี้ ประชาชนมีสิทธิร่วมถกเถียงในสภาฯ
วันนี้ (21 ธ.ค. 2566) เวลา 10.00 น. ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายภาคประชาชนรวมตัวกันเพื่อเข้ายื่น 43,826 รายชื่อ เสนอ พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ โดยมี มุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานกรรมาธิการสวัสดิการสังคม เป็นตัวแทนรัฐสภาในการรับ
โดยในครั้งนี้มีเครือข่ายภาคประชาชนจากหลายเครือร่วมยื่นรายชื่อ ทั้ง เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือสลัมสี่ภาค เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงนอกระบบ เครือข่ายแรงงานในระบบ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ฯลฯ
สมชาย กระจ่างแสง ผู้ประสานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ บอกว่า การรวบรวมรายชื่อในครั้งนี้ใช้เวลา 1 เดือนกว่า เชื่อว่าเป็นความต้องการของประชาชนที่เฝ้ารอการแก้ไขเรื่องนี้ ซึ่งภายในระยะเวลาไม่นานก็สามารถรวบรวมรายชื่อได้ถึง 43,826 รายชื่อ
ซึ่งหลักการของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือ ต้องการดำเนินเรื่องบำนาญถ้วนหน้าให้กับประชาชน ในอัตราเส้นความยากจนหรือประมาณ 3,000 บาท ให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าทุกคน ไม่เลือกคนจนหรือคนรวย โดยทางเครือข่ายภาคประชาชนก็มีความคาดหวังว่าอยากจะให้รัฐบาลรับร่างเอาไว้ และให้นายกรัฐมนตรีนำเข้าสภาฯ เนื่องจากเป็นกฎหมายทางการเงินจึงต้องผ่านการพิจารณาจากนายกรัฐมนตรี แต่ในร่างกฎหมายฉบับที่แล้วในรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้รับการพิจารณาและถูกปัดตกไป
หากการเสนอครั้งนี้ผ่านวาระแรกก็จะได้เริ่มตั้งกรรมธิการกฎหมาย และนอกจากการยื่น พ.ร.บ. ให้กับสภาฯแล้ว ยังต้องยื่นรายชื่อของตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนที่คาดว่าจะเป็นกรรมาธิการไปด้วย ซึ่งจะมีประมาณ 20 รายชื่อ เป็นโอกาสที่จะทำให้ภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย และสามารถให้รายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งวัตถุประสงค์ และข้อมูลของกฎหมายแต่ละมาตรา
สมชาย บอกอีกว่า ใน พ.ร.บ. ผู้สูงอายุมีข้อกำหนดการจ่ายเบี้ยยังชีพอยู่แล้ว แต่ในฉบับนี้เป็นการแก้ พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ โดยการให้เปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้าในอัตราเส้นความยากจน ซึ่งในอนุกรรมาธิการที่แล้ว แนะนำว่าใช้วิธีการนี้น่าจะง่ายกว่า เป็นการใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว และในร่างนี้ยังมีการแจ้งแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาเป็นเงินบำนาญถ้วนหน้าไว้อย่างชัดเจน
ด้าน นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) บอกว่า ตอนนี้ทางเครือภาคประชาชนได้มีการทำงานร่วมกับกรรมาธิการสวัสดิการสังคม เป็นอนุกรรมาธิการจัดวางระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน และจะมีการร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ และบำนาญพื้นฐานของทางกรรมาธิการด้วย ซึ่งจะเป็นการร่วมมือกันของสภาฯ และพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยก่อนหน้านี้มีร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลเสนอไปแล้ว ซึ่งครั้งนี้ก็หวังว่าร่างกฎหมายที่เสนอไปจะได้นำไปประกบกันเพื่อนำไปพิจารณาขั้นตอนต่อไป
หลักการของฉบับที่แล้วกับฉบับนี้ยังเหมือนเดิม มีสามส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง การพัฒนาเบี้ยสงเคราะห์ให้เป็นบำนาญพื้นฐานให้กับประชาชน เมื่ออายุ 60 ปี ส่วนที่สอง จากที่จะพัฒนาจาก 600 เป็น 1,000 บาท ปรับมาเป็นอัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งตอนนี้เส้นความยากจนของประเทศไทยอยู่ที่ 2,997 บาท โดยการรณรงค์ของทางเครือข่ายนั้น เริ่มรณรงค์ตั้งแต่เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,500 บาท และส่วนที่สามคือใช้หลักการของระบบถ้วนหน้า
ในส่วนของกฎหมายจะมีความต่างกันเล็กน้อย คือ มีกลไกเป็นกองทุน เพื่อให้งบประมาณต่าง ๆ มารวมอยู่ในกองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งได้มีการตรวจสอบแหล่งที่มาของงบประมาณต่าง ๆ 16 แหล่ง รวมทั้งกฎหมายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต กฎหมายที่จะทำให้เกิดรัฐสวัสดิการ สะท้อนความเท่าเทียมเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เช่น กฎหมายภาษีความมั่งคั่ง จัดเก็บจากคนที่มีฐานะรายได้สูง เริ่มจากหนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไปก็จะมีการจัดเก็บภาษีส่วนนี้ และภาษีจัดเก็บกำไรจากการซื้อขายหุ้นหรืออสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ เหล่านี้ก็ได้ระบุเอาไว้ในกฎหมายนี้ด้วย
การยื่นเสนอในครั้งนี้ นิติรัตน์ มองว่าด่านสำคัญ คือ นายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคหลัก เนื่องจากกฎหมายการเงินต้องส่งไปที่นายกฯ โดยในรัฐบาลที่แล้วกฎหมายนี้ก็ถูกปัดตกไปถึง 5 ฉบับ ทั้งของภาคประชาชนและพรรคการเมือง แต่ก็คิดว่ารัฐบาลเพื่อไทยเองก็จะฟังเสียงของประชาชนมากกว่าเดิม
ในการยื่นรายชื่อครั้งนี้ เครือข่ายประชาชนได้บอกกับ มุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าให้ช่วยกระตุ้นให้นายกฯ พิจารณาและรับรองร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะเป็นกฎหมายการเงิน ด้าน มุข สุไลมาน ย้ำว่าสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ เพราะเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุทุกคน และเต็มใจช่วยด้วยความยินดี
ส่วน ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร บอกว่า เบี้ยยังชีพในตอนนี้ไม่สามารถยังชีพได้ เพราะเส้นความยากจนอยู่ที่ 2,900 บาทแล้ว มองว่าการถกเถียงในสังคมค่อนข้างจะไปในทิศทางเดียวกัน แต่แน่นอนว่าในฝั่งรัฐบาลนั้นจะกระทบงบประมาณมากแน่นอน เนื่องจากในรัฐธรรมระบุไว้ว่ากฎหมายอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการเงินก็ต้องให้ฝ่ายบริหารรับรองก่อนว่าจะสามารถนำเข้าสภาฯได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้ตนก็ต้องทำตามกลไกรัฐธรรมนูญ แต่ก็อยากจะเรียกร้องไปยังฝ่ายบริหารด้วย เพราะตอนนี้มีกฎหมายที่ถูกตีความว่าเป็นเรื่องการเงินจำนวนมากก็ยังไม่ได้ถูกรับรองให้มีการเข้ามาถกเถียงกันในสภาฯ ซึ่งก็เชื่อว่าต่อให้เป็นภาระทางการคลัง แต่การได้เข้ามาถกเถียงกันในสภาฯ และช่วยกันดูงบประมาณภาพรวม เป็นสิ่งที่ประชาชนควรมีสิทธิ์ในการเข้ามาร่วมด้วยได้
และเชื่อว่าเรื่องสวัสดิการประชาชนจะเป็นวาระใหญ่ที่สุดวาระหนึ่ง ในการประชุมงบประมาณที่จะมาถึงในเดือนมกราคมนี้ เพราะนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลจะถูกนำเสนอผ่านทางสภาฯ ว่าใช้งบประมาณได้อย่างเหมาะสมและเป็นไปตามนโยบายหาเสียงหรือไม่ ฉะนั้น ตนจะทำหน้าที่ในส่วนของสภานิติบัญญัติให้ดีที่สุด
พร้อมย้ำว่าในส่วนของร่างกฎหมาย ประชาชนชนไม่ต้องห่วงว่าเมื่อถูกแก้แล้วจะสมบูณณ์มากน้อยแค่ไหน เพราะจะมีฝ่ายสำนักเข้าชื่อเสนอกฎหมายช่วยทำให้ร่างกฎหมายนั้นสมบูรณ์ และรีบบรรจุให้เร็วที่สุด
ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานกรรมาธิการสวัสดิการสังคม พร้อมกับสมาชิกคณะกรรมาธิการ กล่าวว่าในปี 2567 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยเกี่ยวการเตรียมรับมือและรองรับสังคมผู้สุงอายุ แต่จนใกล้เข้าปี 2567 ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าของการดูแลผู้สุงอายุที่ดีพอ และเบี้ยที่ผู้สูงอายุได้รับก็ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไข ซึ่งประเด็นนี้นั้นมีการต่อสู้มาอย่างยาวนาน
สำหรับวันนี้เครือข่ายประชาชนที่ขับเคลื่อนประเด็นผู้สูงอายุมาอย่างยาวนานมาพร้อมกับ 4 หมื่นกว่ารายชื่อที่รอคอยความหวัง และมีประชาชนอีก 10 กว่าล้านคนที่รอคอยความหวังอยู่เช่นกัน เพราะฉะนั้นคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมขอยืนยันว่าจะไม่นิ่งนอนใจ และจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด นอกเหนือจากการรับรายชื่อ หนังสือ และการแถลงความคืบหน้าของอนุกรรมาธิการ หวังว่ารัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะเห็นความสำคัญของสวัสดิการ และทุกพรรคการเมืองที่ได้หาเสียงในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการพูดถึงเรื่องเงินผู้สูงอายุ ซึ่งหลายพรรคการเมืองพูดเหมือนกันว่าเงินผู้สูงอายุไม่เพียงพอ ต้องปรับเพิ่มขึ้น ส่วนปรับเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นั้นต้องมาพูดคุยกันในคณะกรรมาธิการ แต่ในเบื้องต้นขอฉันทามติของประชาชนในครั้งนี้ให้นายกฯ ได้อนุมัติรับรองและนำมาพูดคุยกันในสภาฯต่อไป
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาชนต่าง ๆ ที่มาร่วมในวันนี้ ได้ออกมากล่าวถึงประเด็นปัญหาและความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาล
ตัวแทนเครือข่ายพลังผู้สูงวัย กล่าวว่า ได้ยื่นเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ก็ถูกปัดตก ซึ่งก็ยังคงมีความหวัง แม้ในตอนนี้จะอายุเยอะแล้ว ไม่รู้ว่าจะต่อสู้ไปได้อีกกี่ครั้ง หากไม่ได้ในรุ่นของตนก็ขอให้ส่งต่อไปถึงรุ่นลูกหลาน จะได้มีสวัสดิการที่สบายกว่านี้
ผู้สูงอายุบางคนต้องใช้เงินเบี้ยยังชีพ เพราะลูกหลานก็มีภาระที่ต้องดูแลครอบครัว ผู้สูงอายุต้องช่วยตัวเอง จึงอยากฝากพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้
ด้าน ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค กล่าวว่า ประชาชนคนไทยไม่ได้อยู่ดี ๆ ต้องมาเป็นภาระให้กับรัฐบาล แต่กว่าที่เขาจะได้รัฐบาลดูแล ประชาชนก็เสียภาษีดูแลประเทศมา มีความเหลื่อมล้ำในสังคมเกิดขึ้น เพราะบางคนมีวันเกษียณอายุราชการ มีบำนาญเลี้ยงชีพ แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่มีโอกาสแบบนั้น บางคนต้องหาเลี้ยงตัวเองตลอดชีวิตจนหมดลมหายใจสุดท้าย
คิดว่าควรจะถึงเวลาในการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ คือ เมื่อประชาชนทุกคนเมื่อมีอายุ 60 ปีขึ้นไปต้องมีความมั่นคงอย่างเท่าเทียมกัน