ชุมชนคนในวงการข้อมูล ‘Data Con 2024’ เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเครื่องมือแก้ไขปัญหา ตั้งแต่เรื่องตามหาคนหาย ไปจนถึงการสร้างประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม
วันนี้ (5 ตุลาคม 2567) ที่ True Digital Park มีการจัดงาน Data Con 2024 เกิดจากการรวมตัวกันของ Rocket Media Lab, Skooldio, WeVis, Punch Up, Boonmee Lab, HAND, 101, 101PUB และเครือข่ายองค์กรที่เชื่อในพลังของการใช้ข้อมูลในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ หวังสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเครื่องมือการทำงานและหาโอกาสใหม่ ๆ ให้คนที่ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลเกิดเป็น ‘ชุมชนคนดาต้า’ ที่อาจนำไปสู่โอกาสในการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนสังคมในอนาคต
ข้อมูลคนหาย อะไรอีกที่หายนอกจากคน
เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข มูลนิธิกระจกเงากล่าวในหัวข้อ ‘ข้อมูลคนหาย อะไรอีกที่หายนอกจากคน’ เปิดเผยสถิติผู้สูญหายว่า ในทุก ๆ 4 ชั่วโมงจะมีคนหายออกจากบ้าน 1 คน ปัจจุบันพบตัวเลขผู้สูญหายทั้งสิ้น 18,887 ราย โดยพบตัวแล้ว 16,315 ราย หรือคิดเป็น 86% ของการแจ้งเหตุ และมี 2,232 รายที่ยังอยู่ระหว่างการติดตาม
ทางมูลนิธิกระจกเงาสะท้อนว่า ที่ผ่านมาทางมูลนิธิตามหาแต่คนหายแต่ไม่ตามหาผู้สนับสนุนเลย ทำให้มูลนิธิมีความเปราะบางในการจัดเก็บข้อมูลและไม่มีเงินทุนในการติดตามกรณีผู้สูญหาย และเมื่อแนะนำให้คนลองไปตามกับภาครัฐอย่างกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ก็พบว่าหลายคนกลับมาขอความช่วยเหลือที่มูลนิธิกระจกเงา เพราะหน่วยงานราชการให้ความข่วยเหลือไม่ได้ และยังมีคนหายอยู่เรื่อย ๆ ทำให้มูลนิธิต้องเลือกให้การช่วยเหลือเป็นบางกรณี เพราะทรัพยากรมีจำกัด และยังคนจำนวนมากตกหล่นจากกระบวนการยุติธรรม
เอกลักษณ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีกรณีคนหายไปในลักษณะเดียวกัน 4 รายซึ่งมีจุดร่วมเป็นผู้ขับรถกระบะ ซึ่งถ้ามูลนิธิไม่มีการเก็บข้อมูลก็จะไม่รู้เลยว่าข้อมูลมีจุดเชื่อมโยงกัน และเมื่อประกอบข้อมูลจากรายการสถานีประชาชนของไทยพีบีเอส พบว่ายังมีผู้ขับรถกระบะที่สูญหายอีก 5 ราย ท้ายที่สุดพบว่า เหตุคนหายทั้งหมดเป็นเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องโดยอาชญากรคนเดียวกัน ผู้สูญหายทั้ง 9 รายตกเป็นเหยื่อโดยการวางยาฆ่าแมลง เพราะผู้ก่อเหตุต้องการนำรถกระบะไปขาย แต่ทั้งนี้ยังไม่พบแรงจูงใจอื่นในการลงมือก่อเหตุฆาตกรรมต่อเนื่อง เพราะฆาตกรจบชีวิตตัวเองในห้องขังลงเสียก่อน อย่างไรก็ตาม การพบจุดเน้นในข้อมูลนี้ทำให้การสูญเสียไม่ดำเนินต่อ หรือบานปลายไปมากกว่านี้
“ข้อมูลที่กระจัดจายเหล่านี้ ช่วยยับยั้งเหตุสูญเสีย และช่วยให้อีกหลายครอบครัวคนขับรถกระบะไม่ต้องสูญเสียอีก”
เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข
เอกลักษณ์ สะท้อนว่า ประเทศไทยยังไม่มีการจัดการข้อมูลของศพนิรนามอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนหน้านี้มีครอบครัวหนึ่งพยายามตามหาบุคคลในครอบครัวที่สูญหายไปกว่า 7 ปี จนต้องไปตามหาข้อมูลของห้องชันสูตรศพในทุกโรงพยาบาลในพื้นที่ที่คาดว่าจะมีข้อมูลของผู้สูญหาย ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นถูกจัดเก็บด้วยการบันทึกมือลงในสมุด ท้ายที่สุดจึงพบว่าผู้สูญหายถูกฆาตกรรมและพบร่างอยู่ใจกลางป่า และผลชันสูตรพบมีข้อมูลทางพันธุกรรมเดียวกับแม่ผู้สูญหาย อย่างไรก็ตาม ครอบครัวไม่อาจนำร่างของผู้สูญหายกลับมาได้เพราะศพนิรนามถูกล้างป่าช้าไปแล้ว ดังนั้น การมีแนวทางการจัดการข้อมูลผู้สูญหายจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นอีกหนึ่งหลักฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมกับอีกหลายครอบครัว
การเมืองแบบไข่ดาวหลายใบ: อ่านพลวัตการเมืองใหม่ผ่านข้อมูลเลือกตั้ง
ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักวิจัยแลกเปลี่ยน จากสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ISEAS Yusof-Ishak Institute สาธารณรัฐสิงคโปร์ ขึ้นกล่าวในหัวข้อ ‘การเมืองแบบไข่ดาวหลายใบ: อ่านพลวัตการเมืองใหม่ผ่านข้อมูลเลือกตั้ง’ ณพล ได้เริ่มบทสนทนาด้วยคำถามที่ว่า ‘ทำไมประเทศไทยถึงมีรัฐประหารทุก 7 ปี’ โดยเล่าผ่านแนวคิด ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ซึ่งเป็นแนวคิดทางรัฐศาสตร์ที่สะท้อนว่า คนเมืองและคนชนบทมีความคิดความเข้าใจในภาพของการเมืองไทยที่แตกต่างกัน โดยเหตุผลเป็นเพราะคนเมืองอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พร้อม มีสาธารณูปโภค และการบริการจากภาครัฐที่พอใช้ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ชนบทซึ่งมีความยากลำบากมากกว่า ทำให้คนเมืองมีความคิดทางการเมืองเป็นปัจเจก เน้นนโยบายและอุดมการณ์ส่วนตัว ในขณะที่คนชนบทยังเผชิญอุปสรรคในการดำรงชีวิต มองเห็นการเมืองเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเอง
ด้วยความแตกต่างนี้ ทำให้ผลการเลือกตั้งหลายสิบปีที่ผ่านมา พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตเมืองมักเป็นพรรคตรงกันข้ามกับเขตชนบท จนก่อให้เกิดเหตุขัดแย้งทางการเมืองอยู่บ่อยครั้งดั่งคำกล่าวที่ว่า “คนชนบทตั้งรัฐบาล คนเมืองล้มรัฐบาล”
อย่างไรก็ตาม ณพล ชี้ว่า จำนวนประชากรในเขตเมืองมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (เพิ่มขึ้นราว 30% จากปี พ.ศ. 2503) และผลการเลือกตั้งล่าสุดก็สะท้อนว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียงสูงที่สุดทั้งในเขตเมืองและเขตชนบทคือพรรคก้าวไกล เท่ากับว่าแนวคิดสองนคราประชาธิปไตยจะไม่อาจอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นแล้วหรือไม่? อาจารย์ย้ำว่า เส้นแบ่งเขตเมืองและชนบทก็ยังมีส่วนสำคัญ เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิมคือ ‘กทม. – ตจว.’ แต่เป็นในลักษณะ ‘ไข่ดาวหลายใบ’ โดย ‘ไข่แดง’ คือ ศูนย์กลางความเจริญที่เริ่มกระจายตามหัวเมืองต่าง ๆ และ ‘ไข่ขาว’ คือ เขตชนบทที่ยังคงมีตามเดิม
ณพล ได้นำข้อมูลเขตพื้นที่เมืองมาเปรียบเทียบกับข้อมูลเขตเลือกตั้ง และนำมาหาความสัมพันธ์กับข้อมูลคะแนนเสียงที่ได้รับ โดยผลการเปรียบเทียบพบว่า พรรคที่ได้รับคะแนนเสียงจากเขตเมืองในระดับสูงคือ พรรคก้าวไกล และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะที่พรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐยังคงได้รับคะแนนเสียงจากเขตชนบทมากกว่า
อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่ คือยังไม่ได้รวมคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และไม่ได้สำรวจความเห็นจากผู้ลงคะแนนว่าเลือกพรรคนี้เพราะอะไร แต่ถ้าหากตัดข้อจำกัดเหล่านี้ไป อาจารย์อนุมานว่า อาจเป็นเพราะพรรคก้าวไกลและพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่แสดงอุดมการณ์และจุดยืนของพรรคออกมาได้อย่างชัดเจนและสุดขั้วมากที่สุด จึงได้คะแนนเสียงจากคนเมืองไปได้มาก ขณะที่คะแนนของพรรคภูมิใจไทยยังสะท้อนถึงการทำงานของ ‘บ้านใหญ่’ ได้เป็นอย่างดี รวมถึงพรรคเพื่อไทยด้วยที่มีนโยบายเน้นปากท้อง เน้นคุณภาพชีวิตมากกว่า
“เราจะพบว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ มีปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ คือคนชนบทสามารถเลือกพรรคแยกกับผู้สมัครได้ แปลว่าเขามีข้อต่อรองมากขึ้น นี่อาจเป็นรูปแบบของแนวคิดสองนคราประชาธิปไตยแบบใหม่ คือเขาต้องการพรรคการเมืองที่ตอบโจทย์ทั้งนโยบายและอุดมการณ์ด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะคนเมืองหรือคนชนบท สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ ‘วิจารณญาณ’ เพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเราเอง”
ณพล จาตุศรีพิทักษ์
Data เพื่อประชาธิปไตยที่เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ร่วมแสดงทัศนะในหัวข้อ ‘Data เพื่อประชาธิปไตยที่เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม’ โดยเชื่อว่าการนำเทคโนโลยีข้อมูลจะเป็นบันไดไปสู่การมีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมได้ โดยยกตัวอย่างให้เห็นผ่าน 3 มิติทางการเมือง คือ 1) งบประมาณ 2) นักการเมือง และ 3) กฎหมาย
- งบประมาณ: ณัฐพงษ์ ยกตัวอย่างกรณีของประเทศเกาหลีใต้ ที่มีระบบ KONEPS ซึ่งเป็นเหมือนแพลตฟอร์มกลางการซื้อขายของภาครัฐ (คล้ายกับเว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์อย่าง Shopee, Lazada) โดยหน่วยงานรัฐสามารถเข้ามาจัดซื้อจัดจ้างผ่านแพลตฟอร์มโดยไม่ต้องรอการยกร่าง TOR, ไม่ต้องรอประกาศจัดซื้อจัดจ้างซึ่งใช้ระยะเวลาร่วมหลายเดือน นอกจากนี้ยังช่วยลดการทุจริตลงได้ด้วย เพราะการยกร่าง TOR เป็นการเปิดช่องให้เขียนเงื่อนไขเพื่อกีดกันผู้เข้าร่วมบางรายได้ เช่น การกำหนดอายุงาน ล็อกสเปกบางอย่าง ซึ่งอาจนำไปสู่การฮั้วประมูลได้ และยังช่วยรัฐประหยัดงบได้ปีละหลายแสนล้านบาท
- นักการเมือง: ณัฐพงษ์ ยกตัวอย่างโครงการ Parliament Watch ของ WeVis ที่จัดทำเป็นเว็บไซต์เปิดเผยประวัตินักการเมือง เปิดผลการลงมติ และติดตามร่างกฎหมาย ติดตามนโยบายรัฐบาล แต่เขาเสริมว่าหากจะต่อยอดให้ไปได้ไกลมากขึ้น อยากให้มีการร่วมมือกับรัฐสภา สร้างเป็นแพลตฟอร์มให้ประชาชนเข้าไป Subscribe ได้ เพื่อให้ส่งแจ้งเตือนการทำงานของ สส. ในสภา ทำให้ทราบได้ว่าผู้แทนที่พวกเขาเลือกไปทำงานเป็นอย่างไร ช่วยยกระดับการทำงานให้แข่งขันทำผลงานให้อยู่ในสายตาประชาชนมากขึ้น
- กฎหมาย: ณัฐพงษ์ ยกตัวอย่างโครงการ Thai Law For Everyone (อยู่ระหว่างการพัฒนา) โดยเปิดให้ AI เข้ามารวบรวมข้อมูลการเปลี่ยนแปลงการยกร่างกฎหมายทุกฉบับ ทุกกระทรวง รวมถึงข้อมูลจากชวเลข เพื่อให้เห็นวิวัฒนาการของความคิดในสังคม และให้ AI ช่วยวิเคราะห์ได้ว่าจะแก้ไขกฎหมายแต่ละฉบับอย่างไร เช่น หากจะต้องการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดการสมรสเท่าเทียม ต้องไปปรับแก้คำในกฎหมายตรงจุดไหน หรือมีกฎหมายใดบ้างที่จะต้องพิจารณาร่วมด้วย ก็จะช่วยสนับสนุนการทำงานนิติบัญญัติของ สส. ได้มากขึ้น
ณัฐพงษ์ ย้ำว่า สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทรัพยากรมนุษย์ ประชาชนทุกคนที่จะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาประเทศ และเป็นเป้าหมายของประเทศที่เขาอยากเห็น ดังนั้น ประเทศไทยจึงเป็นเหมือนเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง (Product) ที่ผู้ใช้งาน (User) หรือประชาชนสามารถมีส่วนร่วมพัฒนาได้ การนำเทคโนโลยีข้อมูลเข้ามาใช้จะช่วยสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนได้มากขึ้น ลดข้อจำกัดระหว่างรัฐและประชาชน และทำให้ทุกคนได้มองเห็นว่าเขาเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง
“ผมมีความฝัน อยากสร้างรัฐที่บอกฉันในทุกเรื่องที่สนใจ รัฐที่มีช่องทางในการมีส่วนร่วม รัฐที่บอกว่าการกระทำของประชาชนมีความหมาย รัฐที่ประชาชนเป็นเจ้าของ และรัฐนั้นเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ประชาชนทุกคนอยากร่วมพัฒนา”
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
นอกจากนี้ภายในงานยังพูดถึงอีกหลายปัญหาที่ร่วมแบ่งปันจากหลายฝ่าย ทั้งภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม บนพื้นฐานการแก้ไขปัญหาด้วยข้อมูล เช่น การนำ AI เข้ามาช่วยจับพฤติกรรมที่ ‘น่าจะ’ เป็นทุจริตในภาคงานบริการ และใช้กลไกสังคมในการตรวจสอบ ไปจนถึงการเล่าเรื่องเชิงวัฒนธรรมผ่านการ Visualization เช่น การนำข้อมูลความเสียหายกายภาพที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมในประเทศกาซา มาทำให้เห็นภาพเป็นข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อทำให้สาธารณะตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างลึกซึ้ง