ปักหลักยื่น 6 ข้อเสนอ แก้ไขปัญหากฎหมายป่าอนุรักษ์ละเมิดสิทธิชุมชน แนวร่วม “ คนอยู่กับป่า ”ชี้ หากการเจรจาติดขัด พร้อมยกระดับการเคลื่อนไหว

วันนี้ (29 มี.ค.2568) สืบเนื่องจากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า พร้อมด้วยแนวร่วมประชาชนเครือข่ายชาติพันธุ์กว่า 2,000 คน ปักหลักชุมชุม ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งยื่นข้อเรียกร้องเพื่อแก้ไขปัญหากฎหมายป่าอนุรักษ์ละเมิดสิทธิชุมชน โดยระบุว่าการปักหลักชุมนุมใหญ่ครั้งนี้มาจากปัญหาความเดือดร้อนที่พวกเรากลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง และเกษตรกรรายย่อย ต่างถูกรุกไล่ด้วยกฎหมายด้านป่าไม้-ที่ดินอยู่ในพื้นที่บ้านของตัวเอง
ล่าสุดมีรายงานว่า ตัวแทน สชป.และ สกน.ที่เข้าเจรจากับ สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมด้วย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, รองอธิบดีกรมอุทยานฯ, ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ โดยไม่มีตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทยที่มีความเกี่ยวข้องในการรับผิดชอบดูแลประเด็นเรื่องสัญชาติและสถานะบุคคล เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งทางตัวแทนเครือข่ายประชาชนได้สรุปผลการเจรจาหารือโดยสังเขป ดังนี้
1. ความคืบหน้าข้อเรียกร้องข้อ 1 (กฎหมายป่าอนุรักษ์ 3 ฉบับ),2 (คทช.) และ 3 (โฉนดชุมชน) มีความเป็นไปได้ในการได้แนวทางดำเนินการร่วมกันตามข้อเรียกร้องของสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่าและสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
2. ตัวแทนกระทรวงมหาดไทยไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุม เพราะฉะนั้น ข้อเรียกร้องในเรื่องสัญชาติจึงไม่มีความชัดเจนจากทางตัวแทนรัฐบาล กระทบต่อสิทธิในที่ดินและทรัพยากรของกลุ่มผู้ที่มีปัญหาเรื่องสัญชาติและสถานะบุคคล แม้ว่าจะมี มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 แต่กระทรวงมหาดไทยยังไม่มีระเบียบปฏิบัติลงไปยังระดับพื้นที่ จึงไม่สามารถดำเนินการได้
3. รองนายกรัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทอง ยื่นข้อเสนอว่าจะเข้าร่วมประชุมด้วยวิธีการ VDO Conference เนื่องจากมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเร่งด่วน และรองฯ ประเสริฐเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงต้องอยู่กำกับดูแลเรื่องการเตือนภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติ
อย่างไรก็ตาม ทางประชาชนยืนยันว่า ไม่ยอมรับการประชุมผ่าน VDO Conference ดังนั้น รองนายกรัฐมนตรีจะต้องเดินทางมาพบประชาชนที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ด้วยตนเอง
ซึ่งกำหนดการเดิม วันนี้จะมีการนัดเจรจากับ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี แต่มีรายงานว่า ประเสริฐ ไม่สามารถมาเจรจาได้ตามนัดหมาย ติดประชุมด่วนเหตุแผ่นดินไหว
นอกจากนี้ สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) และ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 โดยระบุว่า รัฐบาลต้องเห็นชอบ 6 ข้อเรียกร้อง รับรองผลการเจรจาเร่งนำเข้า ครม. เพื่อคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน
ซึ่งข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ของ สชป.และ สกน. ที่ระบุว่าต้องบรรลุในการชุมนุมครั้งนี้
1. แก้กฎหมายป่าอนุรักษ์ และหยุดผลกระทบจากพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
2. ปรังปรุงแก้ไขโครงการจัดที่ดิน คทช. ให้เป็นการรองรับสิทธิชุมชน
3. เดินหน้าผลักดันแนวทางโฉนดชุมชนให้เป็นทางเลือกการจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ยั่งยืน
4. แก้ไขปัญหาด้านสัญชาติ และเร่งมีมาตรการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของพี่น้องที่มีปัญหาสิทธิสถานะบุคคล
5. เร่งแก้ปัญหาคดีความที่ดิน-ป่าไม้ และผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน
และสุดท้าย 6. หากผลการเจรจาบรรลุไปได้ด้วยดี รองนายกรัฐมนตรีต้องนำผลการเจรจาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบในวันที่ 1 เม.ย. 2568
โดยส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ระบุว่า พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ก็ล้วนเกิดขึ้นในช่วงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเผด็จการนั้น สืบเนื่องมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันที่ก็ยังสืบทอดมรดกบาปนี้ให้ยังคงดำเนินต่อไปด้วยการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของปะชาชน เดินหน้าปล้นที่ดินของบรรพชนเราไม่จบสิ้น
“เราขอพูดในนามคนอยู่กับป่า ในนามผู้บุกเบิก อยู่อาศัย ทำกิน และดูแลรักษาป่า ไม่ใช่ผู้ทำลายป่าดังที่หน่วยงานรัฐตีตราใส่ร้าย เราขอส่งพลังไปยังพี่น้องตัวแทนของเราทุกคนที่จะเข้าไปเจรจากับตัวแทนของรัฐบาลวันนี้ และจะจับตาท่าทีของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดว่าจริงใจจะแก้ปัญหาของพี่น้องภาคประชาชนหรือไม่”
ในแถลงการณ์ระบุช่วงท้ายว่า หากการเจรจาติดขัด ไม่เป็นผล จะยกระดับการเคลื่อนไหวและระดมกำลังพี่น้องจากทางบ้านมาร่วมติดตามปกป้องสิทธิ์ของตนเองให้ยิ่งเข้มข้นกว่านี้ เพื่อมาทวงสัญญาที่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร โดยรองนายกรัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทอง เคยให้ไว้
“เราขอให้รัฐบาลพึงตระหนักในเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นคนของพวกเรา ขอให้เข้ามาบริหารประเทศเพื่อการแก้ปัญหา ไม่ใช่การสร้างปัญหาเพิ่มเราขอยืนยันสิทธิ์ของเราในนามคนอยู่กับป่าอีกครั้ง ว่าวันนี้เราพร้อมเอาทั้งชีวิตและจิตวิญญาณของเราต่อสู้เพื่อปกป้อง ผืนป่า ผืนสุดท้ายของเราให้ตนเองและลูกหลาน”