หลัง ‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ บินด่วนเชียงใหม่ หารือ รับข้อเรียกร้องแก้ปัญหาความเดือนร้อนประชาชน จาก พ.ร.ฏ.ป่าอนุรักษ์ เดินหน้า 6 ข้อเสนอ ปลดล็อกการเข้าถึงสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรม จัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม
วันนี้ (31 มี.ค. 68) ตัวแทน สมัชชาคนอยู่กับป่า (สชป.) และ สหพันธุ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ยังคงปักหลักชุมนุมที่ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ เป็นวันที่ 8 โดยวันนี้ได้มีการระดมเครือข่ายประชาชนเพิ่มเติม เพื่อจับตาการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (1 เม.ย. 68) ที่ให้นำข้อตกลงแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา เข้าสู่ที่ประชุม ครม. รับทราบ เพื่อแก้ปัญหาความเดือนร้อนประชาชน จาก พ.ร.ฏ.ป่าอนุรักษ์
ล่าสุดสมัชชาคนอยู่กับป่า ได้ประกาศยกระดับการเคลื่อนไหว เดินหน้าบุกทำเนียบรัฐบาล โดยแถลงการณ์ ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร จะแสดงความจริงใจเพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาของคนอยู่กับป่า ตามข้อเรียกร้องของสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) และ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) หลังจากได้เจรจาและมีบันทึกการหารือร่วมกับเราแล้วเมื่อครั้งประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 67 ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ และรองนายกรัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทอง ได้มาเจรจากับพวกเราด้วยตนเองเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 68 รับปากว่า จะดำเนินการแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง และจะนำผลการเจรจาเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบในวันที่ 1 เม.ย.นี้ แต่ขณะนี้รัฐบาลกลับมีแนวโน้มจะลอยแพการแก้ปัญหาของเครือข่ายอีกครั้ง
“มีแนวโน้มตามข้อเท็จจริงที่เรารับทราบ 2 ประการ ได้แก่ 1. ยังไม่มีความชัดเจนว่าบันทึกข้อตกลงผลการเจรจาแก้ไขปัญหาระหว่างรองนายกรัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทอง กับ สชป. และ สกน. เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 68 จะไม่ถูกปรับแก้เนื้อหาจนเละเทะ และ 2. มีสัญญาณว่าผลการเจรจาร่วมระหว่างรัฐบาลกับภาคประชาชน จะได้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ ตามที่รองนายกรัฐมนตรีรับปาก หรือจะเป็นอีกครั้งที่คำมั่นของรัฐบาลนี้จะเป็นเพียงลมปาก ไม่ใช่คำสัญญาที่ออกมาจากใจของผู้มีอำนาจที่เห็นชีวิตและความทุกข์ร้อนของประชาชนว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข สรุปแล้วจะบิดพลิ้ว ลอยแพ เตะถ่วงพี่น้องประชาชนแบบนี้ต่อไปจริง ๆ ใช่หรือไม่”

พร้อมประกาศยกระดับการเคลื่อนไหว โดยการส่งมวลชนไม่ต่ำกว่า 500 คน ไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และการชุมนุมคู่ขนานที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ในวันพรุ่งนี้ (1 เม.ย. 68) ที่คาดว่าจะมีมวลชนเข้าร่วมกว่า 10,000 คน
“เพราะทุกนาทีที่ท่านล่าช้า อาจหมายถึงชีวิต ทรัพย์สิน ที่ดิน และอนาคตของเราและลูกหลานที่จะต้องถูกพรากไปอย่างไร้มนุษยธรรมจากกฎหมายป่าไม้-ที่ดินอันเป็นมรดกจากรัฐบาลเผด็จการ และเราขอส่งสารนี้ถึงพี่น้องประชาชนผู้ทุกข์ร้อนทั่วประเทศให้ได้ระดมพลเข้าร่วมการเคลื่อนไหวอันเข้มข้นของเราในวันพรุ่งนี้ จนกว่าข้อเสนอของเราจะได้รับการแก้ไขอย่างถึงที่สุด”
ทวงสัญญารัฐบาล 6 ข้อเรียกร้อง ปลดล็อกเข้าถึงสิทธิชุมชนคนอยู่กับป่า
ย้อนการเคลื่อนไหวสำคัญ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 68 ที่ผ่านมา หลังรองนายกฯ ประเสริฐ ตอบรับหารือร่วมเพื่อแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของผุ้ชุมนุมที่ จ.เชียงใหม่ ในเวลา 9.00 น. แต่กลับไร้เงา เนื่องจากอ้างเหตุผลที่ต้องร่วมประชุมเพื่อแก้ไขสถานการณ์แผ่นดินไหว และด้วยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงต้องอยู่กำกับดูแลเรื่องการเตือนภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติ
จึงมีเพียง สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมด้วย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, รองอธิบดีกรมอุทยานฯ, ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เข้าร่วมใประชุมกับตัวแทนแนวร่วมคนอยู่กับป่า โดยไม่มีตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทยที่มีความเกี่ยวข้องในการรับผิดชอบดูแลประเด็นเรื่องสัญชาติและสถานะบุคคล เข้าร่วมประชุมด้วย
โดยรองนายกฯ ประเสริฐ ได้ยื่นข้อเสนอว่าจะเข้าร่วมประชุมกับแนวร่วมคนอยู่กับป่า ด้วยวิธีการ VDO Conference แต่ทางประชาชนยืนยันว่า ไม่ยอมรับการประชุมผ่าน VDO Conference ขอให้รองนายกฯ ประเสริฐ ต้องเดินทางมาพบประชาชน ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ด้วยตนเอง


การเรียกร้องเป็นผล เมื่อเวลา 17.30 น. รองนายกฯ ประเสริฐ ได้เดินทางมาถึงศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ พบกับผู้ชุมนุมที่เรียกร้องและเสนอให้เปลี่ยนวิธีการประชุม จากการประชุมปิดภายในห้องเจรจา เป็นการหารือร่วมกับประชาชนทุกคนที่มาชุมนุมทั้งหมด เพื่อให้รับทราบผลการเจรจาหารือไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งผลการเจรจราร่วมในวันนั้น รองนายกฯ ประเสริฐ รับข้อเสนอทั้งหมด 5 ข้อ และรับปากว่าจะนำผลการเจรจราร่วมกันในครั้งนี้ เสนอเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อให้ ครม.รับทราบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามผลการเจรจาต่อไป โดยมีข้อเสนอทั้งหมด 6 ข้อ
ข้อเรียกร้องที่ 1 กรณีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 โดยเร่งด่วน โดยคณะกรรมการนั้นต้องมีสัดส่วนที่เท่ากันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน และในระหว่างการแก้ไขกฎหมาย ขอให้ยุติการนำพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และยุติการเตรียมประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่ม จำนวน 23 แห่ง จนกว่าจะมีการปรับแก้ไขกกหมายจนแล้วเสร็จ (ตามบันทึกการหารือการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากกฎหมายป่าอนุรักษ์) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 ณ ศาลากลางเชียงใหม่ (การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่) และการยุติการดำเนินการโครงการป่าอนุรักษ์ฯ ภายใต้พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ
ข้อเรียกร้องที่ 2 ให้ทบทวนมาตรการและแนวทางในการจัดที่ดิน ตามนโยบายของรัฐบาล และกำหนดมาตรการในการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของราษฎร
ข้อเรียกร้องที่ 3 ขอให้เร่งรัด สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงาน โฉนดชุมชนเร่งรัดลงนามในคำสั่งแต่งตั้งผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนองค์กรไม่แสวงหากำไร ในคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ตามระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 เพื่อเดินหน้าการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินและส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชนอย่างยั่งยืนร่วมกัน
ข้อเรียกร้องที่ 4 เร่งติดตาม ผลักดัน ให้มีมาตรการและกลไกในการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 67 เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร รวมถึงคนไทยติดแผ่นดินที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ โดยมีข้อสั่งการขอให้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอวาระข้อเรียกร้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ที่ดิน ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิบังคับใช้กฎหมาย
ข้อเรียกร้องที่ 5 ให้คณะอนุกรรมการอิสระเพื่อศึกษากำหนดแนวทาง มาตรการเร่งรัดการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่ 1/2568 รับกรณีปัญหาคดีความด้านที่ดินป่าไม้ของสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) และ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ไปพิจารณาแก้ไขปัญหา ตามหน้าที่และอำนาจของคณะอนุกรรมการ ข้อ 9
ข้อเรียกร้องที่ 6 ขอให้รองนายกรัฐมนตรี (ประเสริฐ จันทรรวงทอง) ในฐานะผู้แทนรัฐบาล นำผลการเจรจาระหว่างรัฐบาล กับ สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) และ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) (ตามข้อเรียกร้องข้อ 1 – 5) เรียนนายกรัฐมนตรี และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ภายในวันอังคารที่ 1 เม.ย. 68 เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนตามผลการเจรจาต่อไป

ย้ำหากไม่เร่งแก้ไข ประชาชนเดือดร้อนกว่า 4,042 หมู่บ้าน
พชร คำชำนาญ กองเลขานุการสหพันธุ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ย้ำว่า การนำพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 กระทบต่อชุมชนในเขตป่าเดือดร้อน กว่า 4,042 หมู่บ้าน 466,307 แปลง เนื้อที่กว่า 4.27 ล้านไร่ โดยส่งผลกระทบประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์ ดังนี้
- ชุมชนดั้งเดิมคนอยู่กับป่า จากผู้บุกเบิก ต้องเป็นผู้อยู่อาศัยภายใต้โครงการ โดยไม่ได้สิทธิในที่ดิน
- ให้อยู่อาศัยชั่วคราว โดยอนุรักษ์ตามแนวทางรัฐ และต้องคืน “พื้นที่ต้นน้ำ”
- การสำรวจ และพิสูจน์สิทธิตาม “มติ ครม. 30 มิ.ย. 41” และคำสั่ง คสช. ที่ 66/2567 ทำให้ประชาชนตกสำรวจจำนวนมาก
- เข้าโครงการได้ครอบครัวละ ไม่เกิน 20 ไร่ และครัวเรือนละ 40 ไร่
- ต้องไม่มีที่ดินอื่นนอกจากนี้ ต้องทำกินต่อเนื่อง (กระทบต่อระบบเกษตรดั้งเดิมแบบไร่หมุนเวียน) และไม่เป็นแปลงคดี (ผู้เข้าโครงการต้องไม่มีประวัติคดีความเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้ทุกฉบับ)
- ห้าม “บุกรุก แผ้วถาง หาของป่า ปล่อยสัตว์เลี้ยง” กระทบระบบนิเวศ และคืนพื้นที่ให้อุทยานฯ
- โอนให้คนนอกครอบครัวไม่ได้
- ใช้ประโยชน์ “อย่างปกติธุระ” (ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานตีความคำว่าปกติธุระแบบไหน อาจไม่สอดคล้องกับวิถีปกติของชุมชน)
- เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งห้าม สั่งออกจากพื้นที่ได้ แม้เป็นเรื่องปกติธุระก็ตาม
นี่คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นธรรมต่อประชาชนในเขตป่าทั่วประเทศ ดังนั้น สชป. และ สกน. ยังคงปักหลักค้างคืนอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ และขณะนี้เริ่มมีประชาชนทยอยกันเดินทางเข้ามาสมทบโดยมีเป้าหมายการระดมพลอยู่ที่ประมาณ 10,000 คน ในช่วงเช้าของวันที่ 1 เม.ย. 68 และจะมีมวลวชนอีกส่วนหนึ่งไปปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามการประชุม ครม. จนกว่าข้อเสนอจะได้รับการแก้ไขตามที่เรียกร้อง