ห่วง ก.ม. ออกมากำกับ ควบคุม และทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ไม่ให้มีอำนาจต่อต้านรัฐบาล ประกาศ หากยังดันเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. จะกลับมาชุมนุมใหญ่หน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง
วันนี้ (24 มี.ค.65) เครือข่ายภาคประชาชน ที่รวมตัวกันในนาม “ขบวนการประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน“ ได้นำป้ายขนาดใหญ่ที่มีข้อความว่า “หยุด พ.ร.บ.การควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน No NPO Bill พวกเราจะซวยกันหมด“ ขึงหน้าอาคาร 8 สำนักงานธนานุเคราะห์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จากนั้นได้เผาร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร โดย ทั้ง 2 กิจกรรมเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการคัดค้าน และสื่อสารไปยังรัฐบาลให้ยุติร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาของการผลักดันน่างกฎหมายฉบับนี้
จากนั้นทางกลุ่มได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ก่อนยุติการชุมนุม โดยระบุว่า การรวมกลุ่มของประชาชนตั้งแต่สองคนขึ้นไปทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะต่าง ๆ เช่น การชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ไล่ พลเอก ประยุทธ์ฯ การคัดค้านนโยบาย โครงการพัฒนาและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลาย รวมถึงการบริจาค การสงเคราะห์ การรื่นเริง การสันทนาการ การศึกษาหาความรู้ เป็นต้น ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพที่กระทำได้ตามรัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลหลายฉบับ
แต่รัฐบาลนี้ กลับมองว่ากิจกรรมทั้งหลายเหล่านี้ควรที่จะถูกควบคุมกำกับโดยรัฐทั้งหมดอย่างเข้มงวด ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้กิจกรรมทั้งหลายเหล่านี้กลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติได้ จนเลยเถิดไปถึงขั้นว่าอาจเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมประโยชน์สาธารณะที่แฝงไว้ด้วยพฤติกรรมการฟอกเงินหรือสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย จึงได้พยายามผลักดัน ‘ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ….เพิ่มเติมหลักการและแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินควบคู่กัน เพื่อต้องการกำกับควบคุมและทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะเห็นว่าการรวมกลุ่มทำให้ประชาชนมีพลังในการต่อต้านรัฐบาลมากเกินไป หรือทำให้รัฐบาลมีอำนาจอ่อนแอลงมากเกินไป
ทั้งนี้ สะท้อนสิ่งที่รัฐบาลนี้ ต้องการทำเพื่อขจัดพลังอำนาจของประชาชนให้ได้ คือ ผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อแบ่งแยกกลุ่ม องค์กร ขบวนประชาชนที่ ‘ดี’ ในสายตาของรัฐ กับกลุ่ม องค์กร ขบวนประชาชนที่ ไม่ดีในสายตาของรัฐออกจากกันให้ได้ นี่คือการกระทำที่ไม่เคยมี ที่รัฐนั้นมองเห็นประชาชนเป็นศัตรู เป็นการกระทำที่เครือข่ายมองว่าไม่ตั้งอยู่อย่างสอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะเจ้าของอำนาจอันแท้จริงคือประชาชน และประชาชนทั้งหลายล้วนเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับรัฐมาแต่ไหนแต่ไร
ดังนั้นแล้ว ‘ขบวนประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน จึงขอประกาศภารกิจของประชาชนในการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …”และกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มประชาชนทุกฉบับ ซึ่งยังไม่ได้ยุติเพียงการรวมกลุ่ม มาแสดงพลังในวันนี้
“โดยเราจะกลับไปเตรียมเสบียงอาหาร เตรียมกำลังคนให้มากกว่านี้ ในระหว่างนี้เราจะไปทำงานทางความคิดกับพี่น้องประชาชนและขยายเครือข่ายประชาชนที่ต่อต้านกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มให้มากกว่านี้เพื่อให้ประชาชนเห็นผลกระทบและจะกลับมาพบกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อใดก็ตามที่คณะรัฐมนตรีมีวาระการประชุมในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … เพื่อชุมนุมยืดเยื้อและต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ให้ถึงที่สุด เราจะไม่หันหลังกลับจนกว่าคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ จะมีมติยกเลิก เพิกถอนหรือไม่ผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้อีกต่อไป “
แถลงการณ์ระบุ
ขณะที่ จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ออกมารับหนังสือ หลังเครือข่ายฯประกาศหากไม่ออกมารับฟังเสียงประชาชนจะเข้าไปพบในกระทรวงฯ โดยตัวแทนเครือข่ายฯ ได้แถลงปัญหาข้อและเรียกร้อง ก่อนยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีพม. โดยตอบเพียงสั้นๆว่า จะนำข้อเรียกร้องความเห็นของเครือข่ายเสนอทุกผ่านที่เกี่ยวข้อง
“ตั้งใจรับฟังการเสนอความเห็นของทุกท่านที่มาชุมนุมในวันนี้ และจะนำเสนอรัฐบาลและรัฐสภาด้วย “
จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ( พม.)
ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญที่เครือข่ายฯ ออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาที่กว้าง คลุมเครือ แทรกแซงการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม ที่ไม่แสวงหารายได้ หรือการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน อีกทั้งยังกำหนดข้อหา ความผิดที่อ้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี สร้างความแตกแยก และ กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เป็นเหตุให้สามารถสั่งหยุดดำเนินการ หรือยุติการดำเนินงานขององค์กรได้ ที่สำคัญยังมีบทลงโทษในอัตราสูงด้วย จึงถือได้ว่า ขัดต่อเสรีภาพการรวมกลุ่ม การแสดงความคิดเห็น ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อบทบาทของภาคประชาชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในการตรวจสอบนโยบายสาธารณะ และการทำงานภาครัฐ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ พร้อมยังแสดงความกังวลต่อ กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ที่ พม.ดำเนินการอยู่นี้ ที่พวกเขาเห็นว่า ไม่ครอบคลุมและไม่ตรงตามข้อเท็จจริง