ภาค ปชช. แถลงประณาม พม. แจง ก.ม.ควบคุมรวมกลุ่มฯ – ขู่ม็อบใหญ่ หากดันเข้า ครม.

หลัง รมว.พม. สั่งการ พอช. ชี้แจงเครือข่ายภาคประชาชน ปมคัดค้านกฎหมาย อ้างไม่ “ควบคุม” แค่ “กำกับดูแล” ภาคประชาชน ย้ำ ร่างกฎหมายขาดความชอบธรรม จำกัดสิทธิ เสรีภาพ การรวมกลุ่ม เรียกร้อง พอช. ประกาศจุดยืนชัด รวมคัดค้านกฎหมาย เคียงข้างภาคประชาชน

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ร่วมแถลงการณ์
ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน

วันนี้ (7 เม.ย.65) ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน แถลงการณ์ผ่านช่องทางออนไลน์ ประณามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ… ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มองว่า บิดเบือน ไม่เป็นกลาง สืบเนื่องจากที่องค์กรภาคประชาชนทั่วประเทศ ได้เคลื่อนไหวคัดค้านที่กระทรวง พม. เพื่อคัดค้าน และขอให้ยุติการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร หรือที่รู้จักว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ภาคประชาชนค้าน ร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร

จากนั้น พม. มีหนังสือด่วนที่สุดถึง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ระบุว่า จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรี พม. มีข้อสั่งการให้ พอช. ดำเนินการชี้แจงประเด็นความเข้าใจผิดใน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต่อสภาองค์กรชุมชน และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจใน 5 ประเด็น

เช่น กฎหมายไม่ได้มีลักษณะ “ควบคุม” ไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพ องค์กรไม่แสวงหากำไร ยังคงมีอิสระรับเงินอุดหนุน หรือเงินบริจาค แต่หากเป็นกรณีรับเงินจากต่างประเทศ องค์กรมีหน้าที่รายงานให้นายทะเบียนทราบ และต้องนำเงินอุดหนุนไปใช้ตามวัตถุประสงค์เท่านั้น ขณะเดียวกัน พม.ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ได้ให้อำนาจเบ็ดเสร็จ ต่อนายทะเบียนเพื่อตรวจสอบ ออกคำสั่งยุติการดำเนินงานขององค์กร หากนายทะเบียนออกคำสั่งไปแล้ว องค์กรยังมีสิทธิโต้แย้งอุทธรณ์คำสั่ง และสามารถฟ้องศาลปกครองได้

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) ในนามตัวแทนขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับร่าง พ.ร.บ.ที่อาจทำลายสิทธิเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชน โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน พร้อมทั้งเห็นว่า คำชี้แจง และการดำเนินการของหน่วยงาน และคณะกรรมการต่าง ๆ ภายใต้สังกัดกระทรวง พม. เป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เป็นกลาง ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา และอาจบิดเบือนเจตนารมณ์ หลักการของกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์ ผลกระทบของร่างกฎหมาย การดำเนินการจึงปราศจากความชอบธรรม และไม่เป็นที่ยอมรับ

“คำชี้แจงของ พม. สะท้อนการตีความกฎหมายที่พยายามแก้ต่าง ว่ากฎหมายไม่ได้มาควบคุม แต่เพื่อกำกับดูแลภาคประชาชน ซึ่งมองว่า ถึงยังไงก็เป็นการควบคุม เพราะกฎหมายกำหนดโทษ และความผิด การจะอ้างว่าให้สิทธิเสรีภาพ แต่ต้องทำตามกรอบ ก็ตีความว่าคือการจำกัดสิทธิเสรีภาพ การดำเนินกิจกรรม ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ความพยายามที่เกิดขึ้นของภาครัฐ จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า ต้องการออกกฎหมายมาควบคุม และจำกัดสิทธิ เสรีภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากภาครัฐ”

ขบวนการต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน จึงเรียกร้องให้ กระทรวง พม. และรัฐบาล ยุติการเสนอ และผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ฉบับนี้ และร่างที่เกี่ยวข้องโดยทันที พร้อมเรียกร้องให้ พอช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานร่วมกันสภาองค์กรชุมชน ร่วมเดินหน้าคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ร่วมกับภาคประชาชน

นอกจากนี้ ขบวนการต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ย้ำด้วยว่า หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าผลักดันกฎหมาย และนำเข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรี พวกเขาจะมารวมตัวกันเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาลทันที

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active