เรียกร้องยกเลิกการออกกฎหมาย พบการละเลยความเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วย ขัดหลักรัฐธรรมนูญ ห่วงเนื้อหามีนัยแฝงสร้างเงื่อนไขเข้าควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนอย่างแยบยล
วันนี้ ( 28 เม.ย.65 ) ขบวนประชาชน 5 ภาค ได้ออกแถลงการณ์ ถึงพรรคประชาธิปัตย์ ให้รับผิดชอบ กรณีสนับสนุนกฏหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลมีความพยายามจำกัดและควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนด้วยการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. โดยเฉพาะได้มีการมอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมี จุติ ไกรฤกษ์ เป็นรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์จัดรับฟังความเห็นจากองค์กรประชาชนที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายนี้ และองค์กรประชาชนส่วนมาก ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ทั้งฉบับ ทั้งในเวทีการรับฟังความคิดเห็นที่จัดโดยกระทรวงฯ ทั้งการชุมนุมและการรวบรวมรายชื่อเสนอข้อคัดค้านต่อรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และนายกรัฐมนตรี
เมื่อครบระยะเวลาการรับฟังความเห็นและมีองค์กรประชาชนแสดงความไม่เห็นด้วยโดยส่วนใหญ่ แทนที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะประมวลรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนและประเมินผลกระทบในการออกกฎหมาย กลับทำในสิ่งตรงกันข้าม โดย จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. ได้สั่งการให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจัดทำเอกสารชี้แจงโดยอ้างประเด็นความเข้าใจผิดที่ทำให้องค์กรแสดงความเห็นในเชิงลบต่อร่างกฎหมาย และส่งให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเพื่อประชาสัมพันธ์ต่อสภาองค์กรชุมชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม อีกทั้งมีการขยายระยะเวลาการรับฟังความเห็นออกไปอีก ถือเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการรับความเห็นตามรัฐธรรมนูญ ที่ผู้รับผิดชอบรับฟังความเห็นจะต้องเป็นวางตัวเป็นกลาง ไม่แทรกแซงหรือกดดันความเห็นของประชาชน
“พวกเรายืนยันว่า เนื้อหาของกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า มีนัยแฝงที่ต้องการสร้างเงื่อนไขผ่านกฎหมายเข้ากำกับควบคุมการรวมกลุ่มรวมตัวของประชาชนอย่างแยบยล แต่กลับอธิบายว่าเป็นการจัดระเบียบและส่งเสริมองค์กรไม่แสวงหากำไร ทั้งที่ความจริงแล้วสาระสำคัญในหลายมาตรา เต็มไปด้วยการจำกัดบทบาทหน้าที่ขององค์กรประชาชนให้กระทำ หรือไม่ให้กระทำการใดตามความของรัฐเท่านั้น ที่มากไปกว่านั้นคือการสถาปนาอำนาจเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายเกินอำนาจศาลยุติธรรมที่สามารถชี้เป็นชี้ตาย กับกลุ่มองค์กรประชาชนได้ ซึ่งรัฐบาลกำลังสร้างเครื่องมือชนิดใหม่ เพื่อจำกัดหรือควบคุมการรวมกลุ่มทางสังคมไว้ในกำมือของตนเท่านั้น ซึ่งหากกลุ่มองค์กรใดขัดขืนหรือไม่ดำเนินการตามความต้องการของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะมีบทลงโทษที่หนักเกินกว่าเหตุ “
แถลงการณ์ระบุ
ขบวนประชาชน 5 ภาค ยังมีความเห็นว่าร่างกฎหมายนี้ เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น เพราะการการควบคุมองค์กรทางสังคมของประเทศไทย มีกฎหมายอื่นที่สามารถนำมาใช้ได้อยู่แล้วหลายฉบับ ทั้งกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายการฟอกเงิน หรือระบบระเบียบอื่นๆอีกมากมาย และเป็นการสร้างความหวาดวิตกให้บุคคลทั่วไปที่จะรวมกลุ่มกันทำประโยชน์สาธารณะ เพียงเพราะเกรงว่าจะผิดกฎหมายและอาจจะถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้โดยง่าย จนไม่อยากจะเข้ามารวมกลุ่มกัน อันถือเป็นการขัดกับเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนสากลในระบอบประชาธิปไตย
“ด้วยเหตุดังกล่าว การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เพียงแต่ไม่สนใจ และไม่เข้าใจถึงภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นกับการรวมตัวขององค์กรประชาชนภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าว ละเลยเพิกเฉยไม่ฟังความเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยอย่างแพร่หลายที่ดำเนินการรับฟังตามรัฐธรรมนูญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังพยายามยังบิดเบือนกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนอีกด้วย ”
แถลงการณ์ระบุ
กรณีที่อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งกำลังถูกดำเนินคดีข่มขืน อนาจาร ล่วงละเมิดทางเพศ กับผู้เสียหายมากกว่า 15 รายนั้น ได้สร้างความเสื่อมเสียรุนแรงต่อพรรคและสร้างความไม่พอใจอย่างสูงยิ่งกับพี่น้องประชาชน แต่ก็ยังไม่ปรากฏท่าทีที่ชัดเจนของรัฐมนตรีคนเดียวกันในกรณีนี้ ทั้งที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ประกอบกับการมุ่งผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว
ขบวนการประชาชน 5 ภาค จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องรับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าว ด้วยการยกเลิกการสนับสนุนกฏหมายฉบับดังกล่าวในทันที พร้อมกับต้องทบทวนอุดมการณ์ของพรรคเสียใหม่ว่ายังเชื่อมั่นและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนสากลในระบอบประชาธิปไตยอยู่อีกหรือไม่
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2565 เครือข่ายภาคประชาชนจากทั่วประเทศ ที่รวมตัวกันในนาม “ขบวนการประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน” ได้ชุมนุมที่กระทรวงพม. เพื่อต่อต้านร่างพ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร.. ทุกฉบับ วันนั้น จุติ ออกมารับหนังสือ หลังเครือข่ายฯ ประกาศหากไม่ออกมารับฟังเสียงประชาชนจะเข้าไปพบในกระทรวง
โดยตัวแทนเครือข่ายฯ ได้แถลงปัญหาข้อเรียกร้องว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาที่กว้าง คลุมเครือ แทรกแซงการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม ที่ไม่แสวงหารายได้ หรือการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน อีกทั้งยังกำหนดข้อหา ความผิดที่อ้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี สร้างความแตกแยก และ กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เป็นเหตุให้สามารถสั่งหยุดดำเนินการ หรือยุติการดำเนินงานขององค์กรได้ ที่สำคัญยังมีบทลงโทษในอัตราสูงด้วย จึงถือได้ว่า ขัดต่อเสรีภาพการรวมกลุ่ม การแสดงความคิดเห็น ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อบทบาทของภาคประชาชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในการตรวจสอบนโยบายสาธารณะ และการทำงานภาครัฐ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศ นอกจากนี้ ในส่วนของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ พม.ดำเนินการอยู่ ไม่ครอบคลุม และไม่ตรงตามข้อเท็จจริง
ก่อนที่ จุติ จะรับหนังสือ และตอบเพียงสั้นๆว่า จะนำข้อเรียกร้องความเห็นของเครือข่ายเสนอทุกผ่านที่เกี่ยวข้อง ด้านภาคประชาชนในวันนั้นได้แถลงจะจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด