เครือข่ายรักอ่าวปากบาราฯ จี้ตรวจสอบบุกรุกที่สาธารณะ

ชาวชุมชนหมู่ 6 ต.ปากน้ำ จ.สตูล ยัน ไม่เคยเห็นการใช้ประโยชน์จากการกันที่ดินชายหาดมาก่อน ร้อง กมธ.ที่ดิน และ กมธ.ป.ป.ช. เร่งตรวจสอบ ชี้เป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์มาตลอด ด้านเจ้าของที่ดินยืนยันมีเอกสารถือครองถูกต้องสมบูรณ์

วานนี้ (19 ก.ย. 2565) ตัวแทนเครือข่ายชุมชนรักอ่าวปากบารา ประชาชนในชุมชนหมู่ที่ 6 ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ได้ประชุมหารือภายหลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสตูลชี้แจงตอบกลับกรณี เครือข่ายและชาวบ้านมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ขอให้ตรวจสอบการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์บนหาดปากบาราโดยมิชอบ และหยุดการบุกรุกที่สาธารณะหาดปากบาราซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ต่อมาได้มีหนังสือจังหวัดสตูล เลขที่ สต ๐๐๑๗.๑/๙๓๖๕ โดย สุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล แจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงลงวันที่ 8 สิงหาคม 2565 

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ตัวแทนเครือข่ายฯ ระบุว่า ประชาชนในพื้นที่ยืนยันว่า ไม่เคยเห็นการใช้ประโยชน์จากการปักเขตกันที่ดินชายหาดแปลงดังกล่าวมาก่อน โดยชาวบ้านและคนทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกันตลอด มีชาวบ้านอายุมากกว่า 60 ปี ที่เข้าร่วมประชุมวันนี้ ต่างยืนยันว่าไม่เคยพบเห็นว่าจะมีใครมากันที่ทำประโยชน์ชายหาดมาก่อนตั้งแต่เกิดมาใช้ชีวิต เพิ่งมาเห็นการก่อสร้างอาคาร เมื่อปี 2564 เท่านั้น และล่าสุด เพิ่งจะมีการนำเสาปูนมาปักในชายหาด เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 นี้เอง

ประชาชนที่ร่วมประชุม เห็นด้วยที่ปรากฏเอกสารว่า ฝ่ายปกครองท้องที่ โดยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 ต.ปากน้ำ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายอำเภอ ได้ยืนยันคัดค้านการออกเอกสารสิทธิบนชายหาด โดยคัดค้านว่าที่ชายหาดดังกล่าวน้ำท่วมถึง ไม่มีสภาพการใช้ประโยชน์มาก่อน และประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง

แต่จากเอกสารชี้แจงฯ พบว่ามีบุคคลฝ่ายบริหารในหน่วยงานท้องถิ่น ได้ออกหนังสือรับรองว่า ที่ดินดังกล่าวผู้ครอบครองเอกสารสิทธิ ได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องตลอดมา ซึ่งประชาชนเห็นว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงในพื้นที่ และบุคคลดังกล่าวไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในขั้นตอนการลงพื้นที่ ร่วมชี้ระวังแนวเขต และอาจเข้าข่ายการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อทางราชการได้

ที่ประชุมในชุมชน จึงเห็นร่วมกันว่า จังหวัดควรตรวจสอบจากพื้นที่จริง และสอบถามจากประชาชนในพื้นที่จริงไม่ใช่รับฟังจากหน่วยงานระดับพื้นที่เพียงด้านเดียว จึงตกลงให้ทำหนังสือโต้แย้งคำชี้แจงดังกล่าว และเห็นว่าควรขอให้หน่วยงานหรือองค์กรระดับประเทศ เช่น ประธานคณะกรรมาธิการที่ดินและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร มาดำเนินการตรวจสอบเพราะการให้หน่วยงานพื้นที่ตรวจสอบกันเองย่อมไม่มีความชอบธรรมโปร่งใสเพียงพอ ปัจจุบันได้เกิดคำถามขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวและประชาชนอย่างมาก ว่าระหว่างนี้ประชาชนยังสามารถเข้าไปท่องเที่ยวชายหาดบริเวณดังกล่าวพักผ่อนได้ตามปกติหรือไม่ หลังจากมีการปักหลักปูนและขึ้นป้ายห้ามบุกรุกฯ ดังกล่าว ซึ่งภาคประชาชนที่ได้สอบถามแนวทางต่อจังหวัด ว่าจะให้ประชาชนทำอย่างไรต่อไป

ด้าน คณิศร สราญฤทธิ์ เจ้าของที่ดินที่ถูกอ้างอิงถึง ชี้แจงว่า ที่ดินดังกล่าวมีการถือครองมาอย่างถูกต้อง มีเอกสาร น.ส. 3 เมื่อปี 2510 สมัยรุ่นคุณตาของเจ้าของที่ ส่วนมารดาก็อยู่ในพื้นที่เป็นครูโรงเรียนบ้านตะโละใสจนเกษียณ รวมทัั้งตนเองก็อยู่ในพื้นที่มาตลอด มีการไปดูแลพื้นที่ตลอดไม่ได้ปล่อยปละอย่างที่ทางเครือข่ายฯ กล่าวอ้าง ซึ่งในช่วงที่มีการไปร้องศูนย์ดำรงธรรม ทางเจ้าหน้าที่ทั้งจากกรมเจ้าท่า ทางอำเภอละงู ทางที่ดินอำเภอละงูก็ยืนยันถึงความถูกต้องของการถือครองที่ดิน ต่อมาปี 2564 มีการปรับเอกสารสิทธิ จาก น.ส.3 เป็น น.ส. 3 ก. ก็มีเจ้าหน้าที่มาดำเนินการอย่างถูกต้องสมบูรณ์

คณิศร กล่าวอีกว่า ในช่วงปี 2563 ทางผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งในพื้นที่ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของมารดาตน มาขอที่ดินระยะ 5 เมตร เพื่อทำทางลงเล่นน้ำ เมื่อมารดามาปรึกษาทางครอบครัวจึงตัดสินใจบริจาคที่ดิน 10 เมตร ให้เป็นของสาธารณะสำหรับเป็นทางลงเล่นน้ำ แต่ต่อมามีการรุกที่เข้ามาเกินกว่าที่ 10 เมตร ที่บริจาค จึงแจ้งให้มีการแก้ไขอย่าลุกล้ำเข้ามาเกินพื้นที่บริจาค แต่กลับถูกนำไปร้องให้มีการตรวจสอบการได้มาของเอกสารสิทธิว่าถูกต้องหรือไม่ โดยสุดท้ายก็ได้รับการยืนยันว่าถูกต้อง

“ยินดีให้ทาง กมธ. เข้ามาตรวจสอบ เพราะมั่นใจในความถูกต้องของการถือครองที่ดิน และการออกเอกสารสิทธิก็เป็นไปด้วยความถูกต้องทุกอย่าง ทั้งนี้ต้องถามกลับว่า หากทาง กมธ.ลงมาตรวจสอบแล้วไม่พบความผิดปกติ ทางเอ็นจีโอจะรับผิดชอบอย่างไร ซึ่งขอตั้งขอสังเกตกลับไปว่ามีที่ดินจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ แต่ทำไมถึงต้องมาร้องเฉพาะที่ดินของครอบครัวผมอย่างเดียว”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active