พีมูฟ จี้ ‘วราวุธ’ กันพื้นที่ใช้ประโยชน์ พ้นเขต อช.ออบขาน ขู่ฟ้องศาล รธน.-เวที APEC

วอนฟังเสียงชาวบ้าน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ มีมติเอกฉันท์ ให้กันพื้นที่ 24,513 ไร่ ออกจากแนวเขตทับซ้อนพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ ออบขาน หลังเดินสำรวจร่วม พบ ชาวบ้านใช้ประโยชน์ กว่า 300 จุด 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 ต.ค.65 อุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) ภายใต้กำกับของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน เพื่อกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน จ.เชียงใหม่ ณ ที่ว่าการอำเภอสะเมิง จ.เชียงใหม่ โดยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับการเตรียมการประกาศอุทยานฯ ทั้ง 9 หมู่บ้านใน อ.สะเมิง มีมติเอกฉันท์ ไม่เห็นด้วยกับการประกาศอุทยานฯ ทับซ้อนพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ 24,513 ไร่ ที่ชาวปกาเกอะญอ บ้านแม่ลานคำ หมู่ที่ 6 และบ้านป่าคา หมู่ที่ 11 ต.สะเมิงใต้ จ.เชียงใหม่ ยืนยันว่า เป็นพื้นที่การใช้ประโยชน์จากป่าและพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชน

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เปิดเผยกับ The Active ว่า กระบวนการหลังรับฟังความคิดเห็นในระดับพื้นที่ จะส่งไปถึงคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติพิจารณา ก่อนนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีนั้น ควรพิจารณาจากผลกระทบที่ประชาชนในระดับพื้นที่สะท้อน รวมถึงผลการดำเนินการร่วมกันของพีมูฟและรัฐบาล โดยก่อนหน้านั้นได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กรณีพื้นที่ เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน จ.เชียงใหม่ 

และหลังการเดินสำรวจร่วมกันให้มีข้อมูลในเชิงประจักษ์ ตั้งแต่วันที่ 16-28 ม.ค.62 พบข้อมูลว่า ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในพื้นที่อยู่ 386 จุด ในพื้นที่ทั้งสิ้น 24,513 ไร่ มีลักษณะการใช้ตั้งแต่การเก็บหาของป่า การเลี้ยงสัตว์ และการใช้เป็นพื้นที่จิตวิญญาณ หรือพิธีกรรม ชุมชนจึงได้เสนอให้กันพื้นที่นั้นออกจากการเตรียมการประกาศอุทยานฯ ผ่านกลไกของพีมูฟ

ที่ปรึกษาพีมูฟ เห็นว่า ที่ผ่านมา วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทส. กลับไม่เคยมีท่าทีว่าจะนำข้อเท็จจริงและข้อมูลเชิงประจักษ์จากการสำรวจพื้นที่ร่วมกันมาเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา จนขณะนี้เรื่องกำลังจะเข้าสู่คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ที่ รมว.ทส.เป็นประธานเช่นกัน ซึ่งขัดต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาของพีมูฟที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการชุดใหญ่

“กรณีอุทยานแห่งชาติออบขาน เรายังไม่พบว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ วราวุธ ศิลปอาชา ได้นำข้อมูลข้อเท็จจริงที่สำรวจร่วมกันมาประกอบการพิจารณาและมีข้อเสนอแต่อย่างใด ซึ่งถ้าหากว่ามีข้อเท็จจริงมาแล้วและ ทส. ไม่กล้าตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องเสนอให้ พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟตัดสินใจ สั่งการ หรือถ้าสั่งไม่ได้ ก็ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการสั่งการหรือใช้อำนาจต่างๆ ในกลไกนี้เพื่อแก้ไขปัญหา”

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาพีมูฟ
ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาพีมูฟ

ที่ปรึกษาพีมูฟ ยังย้ำว่า คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติต้องพิจารณากันพื้นที่ 24,513 ไร่ออกจากการประกาศอุทยานฯ ออบขาน ตามที่ชุมชนต้องการ หากไม่กันพื้นที่ออกจะติดเงื่อนไขข้อจำกัดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เนื่องจากกฎหมายไม่มีการอนุญาตให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวิถีดั้งเดิมหากมีการประกาศหลังปี 2562 ที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ จึงสมควรต้องกันออกก่อนให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังเดิมแล้วจึงค่อยหาวิธีการทำแผนจัดการร่วมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะเป็นการลดความขัดแย้งและความตึงเครียดในระดับพื้นที่

“เพื่อลดความขัดแย้งเฉพาะหน้า ถ้าต้องประกาศอุทยานฯ จริงๆ ก็ตัดพื้นที่ที่ซ้อนทับและมีปัญหาออกจากพื้นที่ประกาศไปก่อน ส่วนกระบวนการหลังจากนี้จะให้กรมอุทยานฯ มาร่วมทำแผนบริหารจัดการร่วมกันเลย ว่าเขามีวิถีอย่างไร ใช้ประโยชน์อย่างไร และกรมอุทยานฯ จะใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตราไหนของกฎหมายในการจะให้ชาวบ้านสามารถใช้พื้นที่ได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจร่วมกันทั้งสองฝ่าย รวมทั้งให้ความเชื่อมั่นด้วยว่าชุมชนจะสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต มีข้อตกลงเป็นที่ยุติ และยอมรับกันได้เป็นลายลักษณ์อักษร”

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาพีมูฟ

ประยงค์ ย้ำด้วยว่า ที่ผ่านมา ทส. ไม่ได้ฟังเสียงของประชาชน การประกาศอุทยานฯ ออบขานในครั้งนี้ หากไม่กันพื้นที่ออก จะเป็นเหมือนการใช้กฎหมายปิดปากชาวบ้าน และอาจบีบให้ชาวบ้านต้องใช้ช่องทางศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะส่งเสียงถึงเวทีประชาคม APEC ที่จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. นี้

“ถ้าประกาศทับไป ไม่ได้สนใจผลกระทบของชุมชน ชุมชนก็อาจลุกขึ้นมาใช้สิทธิในกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะการกระทำของ ทส. ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มันเหมือนการใช้อำนาจทางกฎหมายในการปิดปากชาวบ้าน เหมือนปิดประตูตีแมว ชาวบ้านก็มีสิทธิที่จะเรียกร้อง หรือแสดงออกให้เห็นในเวทีนานาชาติเขามีสิทธิไปฟ้องให้ประชาคม APEC ได้รับรู้ถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเรื่องทรัพยากรเป็นประเด็นสำคัญที่จะหารือกันใน APEC ด้วย และที่ผ่านมา ทส. ไม่เคยรับฟังเสียงชาวบ้าน” 

ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาพีมูฟ

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) มีเนื้อที่ทั้งหมด 141,756.26 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 9 ตำบล 4 อำเภอของ จ. เชียงใหม่  ประกอบด้วย ต.น้ำแพร่ ต.บ้านปง อ.หางดง ต.แม่สาบ ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง ต.ดอนเปาต.บ้านกาด ต.แม่วิน และ ต.ทุ่งปี๊ อ.แม่วาง และต.น้ำบ่อหลวงอ.สันป่าตอง โดยได้มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียไปแล้ว 6 เวที ระหว่างวันที่ 17-22 ต.ค. 2565 ซึ่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ร่วมกับอุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) จะจัดทำรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทราบ ต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active