เยาวชน ตบเท้าเข้าสภาฯ ขายนโยบายพัฒนา กทม.

‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ พร้อมทีมบริหารฯ รับฟังเสียงจากสภาคนเมืองรุ่นใหม่ นำเสนอนโยบายพัฒนาเมือง ครอบคลุมมิติการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน-ดูแลสัตว์จรจัด-เปิดพื้นที่สาธารณะ-รักษาต้นไม้ใหญ่ ย้ำ “น้อง ๆ กล้าคิด กทม. กล้าทำให้”

วันนี้ (11 มิ.ย.66) กรุงเทพมหานคร เปิดสภาคนเมืองรุ่นใหม่ ครั้งที่ 2/2566 ให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมนำเสนอนโยบายเพื่อพัฒนาเมือง ณ สภากรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 โดยตัวแทนผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และองค์กรภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมรับฟัง

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นโยบายสภาคนเมืองรุ่นใหม่เป็นนโยบายที่ 47 จากทั้งหมด 216 นโยบาย ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยปีนี้ได้เปิดสภามาเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ด้วยแนวคิดว่าเมืองควรจะมีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้นำเสนอไอเดียของตัวเองกับผู้บริหารเมืองได้ และไม่ใช่แค่คุยกันในห้องประชุมแต่เป็นการเปิดสภาสาธารณะ สำหรับครั้งนี้มีทีมที่สมัครเข้ามาทั้งหมด 20 ทีม คัดเลือกเหลือ 4 ทีม ตามกระบวนการ และหวังว่าจะได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น โดยจะจัดทุก ๆ 3 เดือน และมีผู้บริหารมารับฟังเพื่อนำไปดำเนินการต่อ

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.

กทม. ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนคณะกรรมการสภาพเมืองคนรุ่นใหม่ ทั้งหมด 7 คณะ (อยู่ระหว่างการแต่งตั้ง) ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ระดับกลุ่มเขต ได้แก่ กรุงเทพฯ เหนือ, กรุงเทพฯ กลาง, กรุงเทพฯ ใต้, กรุงเทพฯ ตะวันออก, กรุงธนฯ เหนือ, กรุงธนฯ ใต้ และ คณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกและติดตามกลุ่มคนรุ่นใหม่

โดยมีการแต่งตั้งหัวหน้าทีมของคณะทำงานแต่ละกลุ่มเขต เชื่อมโยงกันกับศูนย์เยาวชนที่ต่างๆ อิงตามพื้นที่ คือ กรุงเทพฯ – ศูนย์เยาวชนจตุจักร กรุงเทพฯ กลาง – ศูนย์เยาวชนเกียกกาย กรุงเทพฯ ใต้ – ศูนย์เยาวชนคลองเตย กรุงเทพฯ ตะวันออก – ศูนย์เยาวชนลาดกระบัง กรุงธนฯ เหนือ – ศูนย์เยาวชนบางกอกใหญ่ กรุงธนฯ ใต้ – ศูนย์เยาวชนบางขุนเทียน และในแต่ละกลุ่มเขตยังทำงานเชื่อมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ สภาเด็กและเยาวชนกลุ่มเขต

กระบวนการทำงานที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 volunteer สร้างเครือข่ายอาสาสมัครให้สมาชิกคนรุ่นใหม่ได้เป็นอาสาในการร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อเป็นโอกาสได้คนหาประเด็นปัญหาของเมืองที่สนใจ ระดับ 2 Upskill จัดเวิร์คช็อปพัฒนาศักยภาพและทักษะด้านต่าง ๆ ให้กับสมาชิกสภาเด็กเขตและสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ระดับ 3 Incubate จัดกระบวนการเตรียมความพร้อม และเปิดพื้นที่ทดลองโครงการตามประเด็นที่สนใจพร้อมงบประมาณสนับสนุน

เมืองสีรุ้ง เมืองที่ปลอดภัย สำหรับเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ

สำหรับวาระพูดคุยพิเศษจาก ทีมนฤมิตไพรด์ เครือข่ายเยาวชนกับความหลากหลายทางเพศ ด้วยแนวคิดเมืองสีรุ้ง หรือเมืองที่โอบกอด และปลอดภัยของเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดย ตัวแทนนักกิจกรรมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ทูตนฤมิตรไพรด์ สะท้อนปัญหาและคุณภาพชีวิตของเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ว่า มีปัญหาสุขภาพจิต เครียดบ่อย 44.2% เคยถูกคุกคาม ถูกด่าทอ บูลลี่ 42.5% มีความขัดแย้งกับครอบครัว เรื่องความคิดการใช้ชีวิต 15% ขัดแย้งทางความคิดเรื่องสังคม-การเมือง 16.4%

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบาย คือ

  1. งบประมาณเพื่อคุณภาพชีวิตของเยาวชนเพศหลากหลาย สนับสนุนกิจกรรมและเสรีภาพการแสดงออก ต้องการพื้นที่แสดงตัวตนให้เห็นว่าทุกคนโอบรับเรา
  2. งบประมาณเพื่อสนับสนุนศักยภาพ และความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนเพศหลากหลาย
  3. บทบาทและตำแหน่งเพื่อเยาวชนเพศหลากหลายและแนะแนวบุคลากรด้วยกันเอง เช่น บุคลาการทางการแพทย์ในคลินิคสุขภาพทางเพศ บุคลากรเกี่ยวกับสุขภาพจิต นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์วัยรุ่น เพื่อทำให้เยาวชนได้รับรู้ว่าได้รับความใส่ใจ
  4. พื้นที่โอบกอดและปลอดภัยสำหรับเยาวชนเพศหลากหลาย ทั้งพื้นที่ในสถานศึกษา และพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องน้ำ ถนน ภูมิทัศน์ ฯลฯ
  5. คุณค่า วิสัยทัศน์ กฎระเบียบที่สะท้อนการเคารพความแตกต่างหลากหลาย เช่น สัญญาประชาคมของหน่วยงานต่างๆ ลงในข้อกำหนด กฎระเบียบ คุณค่า และวิสัยทัศน์
  6. ยุติความรุนแรง สร้างกฎหมายที่เป็นธรรมต่อเยาวชนเพศหลากหลาย เช่น พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ มาตรา 8 มีการกำหนดเงื่อนไขว่า อายุ 7 ขวบ ต้องเข้าใจวัฒนธรรมไทย ต้องถูกพิจารณาใหม่ และสนับสนุนกฎหมายเงื่อนไขการเข้ารับบริการยืนยันเพศหรืเทคฮอร์ฌมนสำหรับเยาวชนเพศหลากหลาย

เดินหน้าแก้ปัญหาคนไร้บ้าน

สำหรับการนำเสนอนโยบาย ทีมที่ 1 นโยบายที่พักพิงชั่วคราวทางการแพทย์สำหรับคนไร้บ้าน โดย ทีมสุขภาวะข้างถนน พบว่าปัญหาของคนไร้บ้านมีหลายประการ ทั้งความยากจนความไม่มั่นคงในอาชีพ ถูกเอาเปรียบจากการจ้างงาน ขาดรายได้จากปัญหาทางสุขภาพ ขาดการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม และสิทธิการรักษาพยาบาล ปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพจิต และขาดระบบเชื่อมโยงการดูแล สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบาย คือ

  1. ให้กรุงเทพมหานครจัดหาสถานที่รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องสำหรับให้บริการที่พักพิงทางการแพทย์ โดยเสนอให้จัดสรรพื้นที่ภายในบ้านพักฉุกเฉินที่มีแผนกลับมาดำเนินการ
  2. ให้กรุงเทพมหานครสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมหรือภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมดำเนินการบ้านพักพิงชั่วคราวทางการแพทย์ที่ กทม.จัดให้ หรือสถานที่อื่นที่จัดหาได้
  3. ให้กรุงเทพมหานครสนับสนุนการฟื้นฟูคนไร้บ้านในประเด็นเชิงสังคม เช่น การคืนสิทธิทางทะเบียนการจัดหา หรือการจัดการที่อยู่อาศัยระยะยาว
  4. ให้กรุงเทพมหานคร สปสช. สสส. จัดสรรงบประมานจากกองทุนต่างๆ ให้กับทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้บริการบ้านพักพิงชั่วคราวทางการแพทย์
  5. ให้ สปสช. จัดให้บริการบ้านพักพิงชั่วคราวทางการแพทย์เป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์เฉพาะสำหรับคนไร้บ้านในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

โดยคาดว่าภาพฝันที่เกิดขึ้นจากนโยบายดังกล่าว จะช่วยลดจำนวนวันนอนโรงพยาบาลได้ 2 วัน ลดการเข้าใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 45% และทุกการลงทุนได้ผลตอบแทน

‘Pettinee’ แพลตฟอร์ม ดูแลสัตว์จรจัดในเมือง

ทีมที่ 2 นโยบายแพลตฟอร์มปรึกษาสัตวแพทย์ออนไลน์ โดย ทีม Pettinee ให้ข้อมูลว่าประชากรสุนัขจรจัดที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ปี 2559 พบ 721,879 ตัว ซึ่งคาดว่าในปัจจุบันจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเพราะสุนัขเพศเพศเมียสามารถออกลูกได้ครั้งละ 6-7 ตัว สถิติการเกิดโรค ปัญหาสุนัขจรจัดเกี่ยวข้องกับสาธารณสุขประชาชนเพราะ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า สัปดาห์ละ 2 คน และมีผู้ติดเชื้อใหม่ สัปดาห์ละ 2 คน เช่นกัน

โดยนำเสนอเทคโนโลยีแก้ปัญหาด้วย แพลตฟอร์ม Pettinee ปรึกษาสัตวแพทย์ออนไลน์ 24 ชั่วโมง สมุดบันทึกวัคซีน เปรียบเสมือนบัตรประชาชนของสัตว์เลี้ยง มีใบรับรองการฉีดวัคซีน ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแล้วกว่า 10,000 คน และปลอกคออัจฉริยะสำหรับสัตว์สุนัขและแมว ที่สามารถเก็บข้อมูลสัตว์เลี้ยงจากฐานข้อมูลออนไลน์ได้ เพื่อให้ทุกคนสามารถสแกนข้อมูลได้ หากทำได้กับสัตว์จรจัดก็จะเป็นข้อมูลสำคัญและช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับสัตว์จรจัดด้วย โครงการเหล่านี้ไม่อาจสำเร็จได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม Pettinee มีสัตวแพทย์ 7 คน สามารถช่วยฉีดยากันพิษสุนัขแพ้ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุนัขจร และเก็บข้อมูลในระบบดิจิทัล โดยตั้งเป้าทำให้ได้ 99% ของสัตว์เลี้ยงมีเจ้าของ และสำรวจสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาสามารถเข้ามาปรึกษาทางการแพทย์ได้ โดยเราจะเปิดรับอาสาสมัครสัตวแพทย์เข้ามาร่วมช่วยเหลือ พร้อม ๆ กับการพัฒนาฟังก์ชันแอปพลิเคชันปรึกษาหมอ และการส่งต่อสัตว์เลี้ยงที่ป่วยไปยังสถานพยาบาล และทำให้ กทม.​เป็นเสาหลักในการทำสัมโนวัคซีนสัตว์เลี้ยง บัตรประกันสังคมสัตว์เลี้ยง ช่วยลดจำนวนสัตว์จรจัดในกรุงเทพฯ 5% และลดโรคระบาดในสัตว์เลี้ยงได้ 50%

พื้นที่สร้างสรรค์ใกล้บ้าน

ทีมที่ 3 นโยบายพื้นที่แสดงออกสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ 15 นาทีใกล้บ้าน โดย ทีม Urban Street Bangkok เก็บข้อมูลการออกแบบพื้นที่สาธารณะ-เอกชนเพื่อการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ของเมือง โดยพบว่า ผู้คนต้องการพื้นที่สร้างสรรค์ใกล้บ้านทุกคน ให้ทุกคนเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างสะดวก เมืองที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงทรัพยากรของภาครัฐอย่างเป็นธรรม และภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ได้ร่วมกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ของเมืองได้อย่างเป็นระบบ สร้างรัฐสวัสดิการทางจิตวิญญาณ ให้เมืองเป็นแรงบันดาลใจได้ในทุกวัน

ปัญหาปัจจุบันคือ เส้นเลือดฝอย หรือคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ชื่นชอบในศิลปะ ต้องการพื้นที่แสดงออกถึงความสามารถสร้างสรรค์ แต่เข้าไม่ถึงโอกาส เข้าไม่ถึงพื้นที่ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จากภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งเรื่องของพื้นที่ ความรู้ แหล่งทุน ทรัพยากร ขาดโอกาสในการเสนอแนวทางแก้ไขข้อจำกัด และไม่มีแผนพัฒนาของภาคส่วนต่างๆ ที่เพียงพอ สุดท้ายคือ ติดข้อจำกัด เช่น พื้นที่สาธารณะหลายที่ในฤดูฝนต้องงดจัดกิจกรรม การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ไม่เพียงพอ ทำให้ความสุขไม่สามารถเกิดได้ในทุกวันธรรมดา โดยมีข้อเสนอดังนี้

  1. เพิ่มพื้นที่เรียนรู้และการแสดงออกสร้างสรรค์ของเมือง 150 ที่ ใน 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ โดยใช้พื้นที่และทำงานร่วมกับภาคเอกชน ห้องสรรพสินค้า โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงละคร
  2. เสริมโครงสร้างการบริหารงานให้แข็งแรง ยั่งยืน คล่องตัว ด้วยรูปแบบ BKK Youth Art Council คือสภาศิลปะของคนรุ่นใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐโดยตรง ให้ทีมงานคนรุ่นใหม่ได้ร่วมทำงานกับภาครัฐ และภาคส่วนต่าง ๆ
  3. เพิ่มความสุข ลดการกระจุดตัวของอีเว้นต์ ศิลปะปลายปี ด้วยโครงการนักแสดงออกสร้างสรรค์ประจำพื้นถิ่น สนับสนุนให้ทุกเขจมีเจ้าภาพ และศิลปะพื้นถิ่นของชุมชน ที่จะดูแล และพัฒนางานในพื้นที่ตนเอง
  4. ช่วยประชาชนเข้าถึงข้อมูลและรัฐสวัสดิการด้านศิลปะ ด้วยการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แบบเบ็ดเสร็จรวมศูนย์ โดยมีวิธีลดขั้นตอนงานราชการและนำเสนอนฌยบายใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว เช่น คูปองการเรียนรู้สิทธิเข้าถึงสวัสดิการด้านศิลปะ

ตั้งกองทุนดูแลรักษาต้นไม้

ทีมที่ 4 นโยบายกองทุนเพื่อไม้ยืนต้นสาธารณะกรุงเทพฯ (Bangkok Tree Fund) โดย ทีม GreenDot. สะท้อนว่า ในอนาคตจะมีต้นไม้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เป็นความท้าทายว่าจะต้องมีงบประมาณและกระบวนการดูแลต้นไม้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการโค่นล้มและสร้างความเสียหายให้กับทรัพสินและชีวิต สุดท้ายคือความยั่งยืน เพื่อให้ต้นไม่เติบโตไปกับเมือง จึงเสนอนโยบายดังนี้

กองทุนต้นไม้ยืนต้นสาธารณะกรุงเทพฯ กองทุนจากภาคประชาชนเพื่อก้าวข้ามทุกความท้าทายสู่การเป็นเมืองสีเขียวที่ยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องได้หากพบปัญหาเกี่ยวกับต้นไม้ หรืออยากเพิ่มพื้นที่สีเขียวแต่ยังไม่มีทุนเพียงพอ สำหรับกองทุนนี้ไม่มีนโยบายการสนับสนุนโดยเงินสดแต่จะเป็นรูปแบบบริหาร เช่น การประเมิน จัดการต้นไม้ ประชาชนกรุงเทพฯ สามารถขอรับทุนได้เพื่อรักษาดูแลต้นไม้สาธารณะ

กลไกหนึ่งของนโยบายนี้ คือการเป็นกองทุนเพื่อขยายโอกาสรายได้ให้ชาวกรุงเทพฯ สู่อาชีพ ‘นักสำรวจเมืองสีเขียวอิสระ’ โดยทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนต้นไม้สาธารณะ อัปเดตข้อมูลต้นไม้สาธารณะ สอดส่องและแจ้งปัญหาต้นไม้สาธารณะ ประเมินความเสี่ยงของต้นไม้สาธารณะ ให้เป็นอาชีพอิสระที่ทุกคนสามารถทำได้หลังการอบรมความรู้เบื้องต้นจากทีม โดยรายได้สนราคา 3 บาทต่อการเก็บข้อมูลต้นไม้ 1 ต้น (ใช้เวลาปฏิบัติงาน 5 นาทีต่อ 1 ต้น)

สิ่งที่อยากให้ กทม. ทำคือ 1. รับพิจารณาแบบร่างนโยบายกองทุนเพื่อไม้ยืนต้นฯ และหารือปรับปรุงนโยบายร่วมกันเพื่อทำให้นโยบายนี้เกิดขึ้นจริงอย่างมีส่วนร่วมกับทุกฝ่าย 2. อนุญาตสิทธิ์ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเมืองบนพื้นที่เป้าหมาย และ 3. ใช้สิทธิ์ชั่วคราว ทีมรุกขกรเอกชนและนักสำรวจเมืองสีเขียวอิสระ เข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการตามข้อเสนอโครงการที่ได้รับการอนุมัติ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาการรับฟังคนรุ่นใหม่อาจจะน้อย แต่เมื่อต้องส่งต่อเมืองนี้ให้คนรุ่นใหม่ จึงต้องร่วมกับแก้ปัญหา มองทางออกร่วมกัน เพราะเมืองนี้ไม่ได้มีเพื่อคนแก่ แต่ต้องช่วยกันทำและรักเมืองนี้ต่อไป ต้องทำทั้งเรื่องหมาแมวเพราะมีจำนวนมากในกรุงเทพมหานคร เรื่องคนไร้บ้านก็ต้องร่วมพัฒนาศักยภาพคืนให้เขากลับไปเป็นคนมีอาชีพ เรื่องพื้นที่สาธารณะก็ต้องขยายเพราะศิลปะดี ๆ ควรมีพื้นที่ได้แสดง เรื่องต้นไม้ก็เรื่องใหญ่ว่าเราพยายามปลูกต้นไม้กันแล้วต่อไปใครจะดูแล

“ขอบคุณน้อง ๆ ที่ช่วยกันนำเสนอนโยบาย สิ่งสำคัญคือจะต่ออย่างไร หลังจากนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกคน ให้น้อง ๆ กล้าคิด กทม. กล้าทำให้”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active