ขณะที่ผลเจรจา ‘พัชรวาท’ พอเห็นความคืบหน้า ยันแก้ปัญหาที่ดินเร่งด่วน 13 กรณี ต้องจบที่ชุมนุมรอบนี้ ส่วนอีก 169 กรณี เร่งแก้ไขภายใน 100 วัน เตรียมจับตามติ คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบฯ พรุ่งนี้
วันนี้ (6 ก.พ. 67) กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ( ขปส.) หรือ พีมูฟ ยังคงปักหลักชุมนุม ที่บริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีเป้าหมายและข้อเรียกร้องสำคัญในวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอเข้าพบ เจรจากับระดับนโยบาย ที่รับผิดชอบโดยตรงในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มพีมูฟ คือ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธาน คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และกำกับดูแล คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อขอให้สั่งการเดินหน้านโยบายโฉนดชุมชน
รวมถึงขอเข้าพบและเจรจากับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขณะนี้พีมูฟมีกรณีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มากถึง 169 กรณี คิดเป็นจำนวนมากถึง 63.5 ของจำนวนกรณีปัญทั้งหมดในพีมูฟ และมีกรณีเร่งด่วนมากถึง 13 กรณี ที่ชาวบ้านกำลังถูกไล่ จับกุมดำเนินคดี
และดูเหมือนว่าข้อเรียกร้องเป็นผล เมื่อ ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วย รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนรัฐบาล ประสานงานมายังกลุ่มพีมูฟ ให้ส่งตัวแทน 5 คน เข้าพบ พล.ต.อ.พัชรวาท
ภายหลังการหารือ ตัวแทนกลุ่มพีมูฟ ร่วมกันแถลงข้อสรุปผลการเจรจา โดยย้ำหลักประกันทางนโยบาย ‘คณะทำงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ ต้องดำเนินการไปตามแนวนโยบายที่ฝ่ายรัฐมีคำสั่งใช้ในการแก้ไขปัญหาประชาชน
“โดยกรณีปัญหาเร่งด่วนพีมูฟ 13 กรณี ต้องแล้วเสร็จภายในการชุมนุมครั้งนี้, กรณีปัญหา 169 กรณี ที่เหลือต้องจัดทำแผนคณะทำงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใน 100 วัน และ หลักการแก้ไขปัญหาให้ยึดความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ”
พร้อมย้ำว่า ตัวชี้วัดความจริงใจในการแก้ปัญหา คือผลการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่นัดหมายประชุมในวันพรุ่งนี้ (7 ก.พ. 67) ซึ่งต้องมีความชัดเจนแก้ปัญหา ทั้งกรณีปัญหาเร่งด่วน 13 กรณี และกรณีปัญหา 169 กรณีที่เหลือ
ส่วน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ (ฉบับพีมูฟ) อยู่ระหว่างการรอนายกรัฐมนตรีลงนามโดย พล.ต.อ. พัชรวาท และ ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่า จะติดต่อประสานงานไปยังนายกฯ ลงนามรับรองให้ทันการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเห็นชอบโดยสภาฯ พร้อมกับร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ฉบับรัฐบาลที่ผ่านการพิจารณาของ ครม. ในวันนี้
จากนั้นในช่วงบ่าย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้เปิดห้องประชุมเจรจากับตัวแทนกลุ่มพีมูฟ นำโดย ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาพีมูฟ โดยมีตัวแทนคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คสทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน
ภายหลังการเจรจา ตัวแทนพีมูฟ ระบุว่า ข้อสรุปออกมาในทางลบ เพราะข้อเรียกร้องให้ประชุมคณะกรรมการจัดให้มีโฉนดชุมชน ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการจะกำหนดวันเวลา ไม่รู้จะประชุมเมื่อไร ซึ่งรองนายกฯ ภูมิธรรม ยังเห็นด้วยกับคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ว่า ไม่สามารถดำเนินการจัดให้มีโฉนดชุมชนในพื้นที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากติดข้อกฎหมายป่าไม้หลายฉบับ แต่ตรงข้ามการเดินหน้าของ คทช. ที่ไปดำเนินการในพื้นที่อุทยานฯ หรือกระทรวงทรัพยากรฯ กลับเดินหน้าได้หลายพื้นที่ ก็เป็นคำถามว่าแล้วทำไมโฉนดชุมชนดำเนินการไม่ได้ ดังนั้นจึงยังคงปักหลักชุมนุม เตรียมเคลื่อนไหว เพื่อยกระดับการเจรจากับนายกฯ ต่อไป
วอนรัฐจริงใจ แก้เรื่องเร่งด่วนตามที่เคยรับปากชาวบ้าน
ขณะที่ รศ.ธนพร ศรียากูล ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ให้สัมภาษณ์รายการตรงประเด็น ไทยพีบีเอส ระบุจากที่ได้มีโอกาสหารือร่วมกับแกนนำพีมูฟ ทราบว่ามีเรื่องเร่งด่วน อยู่ประมาณ 2-3 เรื่อง คือ 1. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ การแก้ไขปัญหาของคนที่อยู่ในป่า แล้วเข้าไม่ถึงระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา ทั้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมไปถึงพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมีชุมชนอาศัยอยู่ ถึงแม้ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะมีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี ผ่านมติคณะรัฐมนตรี ให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหานี้ และต้องรายงานต่อนายกรัฐมนตรีภายใน 1 เดือน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ทำให้กลุ่มพีมูฟต้องเข้ามาถามรัฐบาลในประเด็นนี้
“รัฐบาลต้องรีบแก้ไขปัญหานี้ อย่างน้อยที่สุดในเรื่องสาธารณูปโภค ซึ่งมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ผ่านมติคณะรัฐมนตรีออกมาแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้รัฐบาลต้องตอบให้ได้ ว่า ชาวบ้านจะสามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคได้เมื่อไหร่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลสามารถทำได้เลยเร็วที่สุดไม่เกิน 15 วัน”
รศ.ธนพร ศรียากูล
เรื่องที่ 2 เป็นประเด็นของแนวนโยบาย เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลแก้ไขปัญหานี้ ผ่านนโยบายโฉนดเพื่อการเกษตร คือการเปลี่ยนชื่อจาก ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร กลุ่มพีมูฟได้เรียกร้องว่าการออกโฉนดแบบนี้ จะนำไปสู่ปัญหาการสูญเสียโฉนดในระยะยาว เพราะอาจเกิดการขาย หรือการเปลี่ยนมือของผู้ถือโฉนด นั่นยิ่งจะทำให้ปัญหาการขาดที่ดินในมือคนจนจะรุนแรงขึ้น จึงเสนอแนวทางโฉนดชุมชน คือการให้ชุมชนบริหารจัดการกันเอง ซึ่งแนวทางนี้จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติซึ่งมี รองนายกฯ ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน
“รัฐบาลต้องเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติโดยด่วน และให้ที่ประชุมเห็นชอบกับนโยบายนี้ก่อน ส่วนเรื่องรายละเอียดจะเป็นยังไง สามารถตั้งคณะทำงานมาคุยกันได้ในภายหลัง”
รศ.ธนพร ศรียากูล
ส่วนประเด็นสุดท้าย คือ เรื่องของการแก้ไขปัญหากระบวนการบังคับใช้กฏหมายกับคนจน ซึ่งเดิมทีกลุ่มพีมูฟสามารถตกลงกับรัฐบาลได้แล้วว่า จะจัดตั้งคณะกรรมการที่ทำงานร่วมกัน โดยมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เป็นประธาน ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ดำเนินการให้เกิดคณะกรรมการชุดนี้ขึ้น ทั้งที่เรื่องนี้เข้าสู่ ครม.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นรัฐบาลควรต้องรีบดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการนี้ขึ้นมา ตามที่มีข้อตกลงร่วมกับกลุ่มพีมูฟไว้ก่อนหน้านี้ เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นการบังคับใช้กฎหมาย ที่กระทบกับคนจน ทางพีมูฟจึงอยากหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับภาครัฐ
“สรุปคือกลุ่มพีมูฟเริ่มขับเคลื่อนเรื่องนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม ที่ผ่านมา จนมาถึงปัจจุบันนั้นยังไม่มีอะไรที่ขยับเป็นชิ้นเป็นอัน ต่อข้อเรียกร้องของพวกเขา ทำให้ทางกลุ่มพีมูฟต้องออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน เพื่อเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้ชาวบ้าน”
รศ.ธนพร ศรียากูล
มองพัฒนาการ ‘พีมูฟ’ กับบริบทการเมืองปัจจุบัน
รศ.ธนพร ย้ำว่า การชุมนุมของกลุ่มพีมูฟไม่มีประเด็นทางการเมือง ขอให้ผ่านความเห็นตรงนี้ไป เพราะว่าการเรียกร้องของกลุ่มพีมูฟทั้ง 3 ข้อที่กล่าวไว้ข้างต้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เรียกร้องไว้ตั้งแต่ในสมัยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งข้อเรียกร้องเหมือนเดิมกับทุกรัฐบาล แม้กระทั่งในยุคของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ก็มีข้อเรียกร้องนี้ 20 กว่าปีผ่านมาแล้ว เพราะฉะนั้นไม่มีประเด็นอะไรเกี่ยวกับเรื่องการเมืองแน่นอน เป็นเพียงเรื่องปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังเท่านั้น
“คนจนนั้นไม่ได้มีทางเลือกการเคลื่อนไหว ในสังคมจะมีบุคคลที่แสดงความคิดเห็นต่อกลุ่มนี้ว่า ทำไมไม่ใช้ social media หรือวิธีการอื่น ๆ ในการขับเคลื่อน อยากให้ลองมานั่งคุยกับพี่น้องที่มาชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาลในตอนนี้ดู แล้วจะรู้ว่าสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องง่ายนั้น กลับไม่ใช่เรื่องง่ายของชาวบ้านกลุ่นนี้ แค่ลำพังจะมีรายได้พอต่อปากท้องของตัวเองก็เป็นเรื่องยากแล้ว จึงทำให้วิถีทางการต่อสู้ของคนจนมีวิธีทางเดียว ก็คือการเมืองบนท้องถนน ซึ่งคิดว่าวิธีนี้ก็ยังเป็นการทำงานทางการเมือง ที่สามารถทำให้รัฐบาลหันมาสนใจและมาแก้ไขปัญหาได้”
รศ.ธนพร ศรียากูล