เชื่อโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ภาคใต้ ละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ประชาชนตลอดแนวการก่อสร้างได้รับผลกระทบหนัก ไร้ที่อยู่ ที่ทำกิน แย่งชิงทรัพยากร วอนศึกษา SEA มองผลกระทบทุกมิติ ก่อนขายโครงการฯ
วันนี้ (4 มี.ค. 67) เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนชุมพร-ระนอง คัดค้านแลนด์บริดจ์ จัดเวทีเสวนา ‘แลนด์บริดจ์ ละเมิดสิทธิมนุษยชน’ บริเวณด้านหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย ถ.ราชดำเนิน โดย เบญจวรรณ ทับทิมทอง ตัวแทนเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ระบุว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านรับรู้ถึงเรื่องราวการก่อสร้างโครงการว่าภาครัฐเข้ามาคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐในชุมชนเท่านั้น กระทั่งมารู้ว่าพื้นที่ของชาวบ้านก็อยู่ในบริเวณที่ถูกเวนคืนเพื่อไปทำโครงการ ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับรู้เพราะหลายคนนำที่ดินของตัวเองไปตรวจสอบ ที่เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ครั้งนี้ เพราะมีข้อกังวลหลายอย่าง ทั้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่เส้นทางแลนด์บริดจ์ จะตัดผ่านเส้นทางน้ำ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญ หากโครงการเกิดขึ้นจริง อาจกระทบหลายอย่าง
“ช่วงวิกฤตเอลนีโญที่ผ่านมา 3-4 อำเภอ นำน้ำจากพะโต๊ะไปใช้ ส่วน จ.ระนอง ก็ได้น้ำจากพะโต๊ะในการเป็นน้ำกินน้ำใช้ เมื่อไหร่ที่เส้นทางน้ำถูกตัด ไม่ว่าจะเป็นการขุดอุโมงค์หรือการตั้งต่อม่อ เรากังวลว่าจะถูกแย่งชิงน้ำจากการที่มีการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ สองคือเมื่อมีการก่อสร้างอุตสาหกรรมจะส่งผลให้เกิดการแย่งน้ำใช้กับเกษตรกรรม ที่สำคัญในพื้นที่เราคือเกษตรกรรมมูลค่าสูง ปลูกทุเรียน ยางพารา กาแฟ โดยเฉพาะส่วนทุเรียนมีรายได้เข้ามามากกว่า 6,000 ล้านบาท ขณะที่มังคุดก็เป็นผลไม้ส่งออกของพะโต๊ะ”
เบญจวรรณ ทับทิมทอง
ทม สินธุ์สุวรรณ ตัวแทนเครือข่ายรักษ์ระนอง บอกว่า วันนี้ไม่ได้อยากเดินทางมาเพราะลำบาก และต้องใช้งบประมาณการเดินทางส่วนตัวเธอเคยเป็นคนไทยพลัดถิ่นที่ตอนนี้ได้บัตรประชาชนแล้ว แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ ส่วนที่ดินทำกิน บริเวณ ต.ราชกรูด ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หากมีโครงการเข้ามาก็ไม่รู้จะไปอยูที่ไหนแล้ว การที่รัฐบาลทำแบบนี้ เธอมองว่าเป็นการขายแผ่นดินไทยให้ชาวต่างชาติ ซึ่งเวลานี้คนในพื้นที่กำลังตกที่นั่งลำบาก
ทม ยังเล่าว่า สิ่งที่คนไทยพลัดถิ่นเจอคือการไม่รู้ข้อมูลมาก่อน แต่กลับพบว่าเส้นทางผ่านที่อยู่อาศัยของตัวเอง ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะเข้ารับฟังการชี้แจงของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ตอนมาลงพื้นที่ เพราะไม่มีบัตรประชาชนไปลงทะเบียน
“คนที่มีบัตรไม่มีบัตรก็เดือดร้อนเหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ บอกเลยว่าจะไม่ย้ายไปไหน เพราะตรงนั้นอุดมสมบูรณ์อย่างมาก ป่าโกงกางที่มีอยู่เราไม่เคยทำลาย และอยู่ๆ จะมีท่าเรือน้ำลึกจะเข้าไปในพื้นที่ ปากโกงกางจะยังอยู่ไหม ปลา หอย ที่เคยมีจะหายไปหรือเปล่า รัฐบาลไม่เคยลงไปดูเลยว่าชาวบ้านอยู่กันอย่างไร ความลำบากของพี่น้องประชาชน เขาฟังแต่ สนข. ว่าพี่น้องชาวระนองเห็นด้วยกับแลนด์บริดจ์ แต่จริง ๆ แล้วไม่มีใครเห็นด้วย คนที่เห็นด้วยคือ นายทุน และคนที่มาวันนี้น้อยมาก เพราะไม่มีใครมีเงินที่จะมา”
ทม สินธุ์สุวรรณ
เรียกร้องทำ SEA ก่อนเดินหน้าโครงการฯ
ขณะที่ สมโชค จุงจาตุรันต์ ตัวแทนเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ บอกว่า ผลการศึกษาภายใต้การนำของ สนข. ในการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่ได้นำการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งในโครงการแลนด์บริดจ์ ยังพบว่ามีหลายโครงการย่อยตามมา เช่น การขุดทะเล, การถมทะเล ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการฯ โดยเฉพาะชาวบ้านที่ทำอาชีพประมงชายฝั่งและประมงน้ำตื้นและพื้นที่ท่องเที่ยว และระบบนิเวศน์ถูกทำลาย
อีกสิ่งที่กังวล คือ พ.ร.บ. SEC ที่อาจเป็นประตูในการยกเลิกกฎหมายเก่าที่มีถึง 19 ฉบับ ที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อีกด้วย จึงอยากส่งเสียงไปถึงรัฐบาลที่ยังเดินหน้าขายโครงการฯ แต่ยังไม่ได้ทำการศึกษาผลกระทบ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ย้อนแย้งกัน พร้อมกับเรียกร้องให้ทำ การศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้น อาจจะไม่ต่างจากกาซ่าที่โดนให้อพยพ
“จากรายงานของ สนข. จะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมหลังท่าเรือ 3 ที่ เราขอความชัดเจนนะครับ ว่าพื้นที่บริเวณนี้ ตามรายงานของ สนข. อยู่บริเวณจุดใดกันแน่ แล้วนิคมอุตสาหกรรมที่จะสร้าง ที่ท่านกล่าวมามันเป็นนิคมอุตสาหกรรมประเภทใด เพราะท่านบอกพวกเราว่าเป็นนิคมที่สร้างใช้วัตถุดิบมาจากท้องถิ่นที่ไม่เป็นพิษ อันนี้ผมไม่เชื่อ ขออย่าอ้างแค่ GDP ของ จ. ระยอง จากการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรม ถ้าดีจริง จ.ระยอง จะไม่มีคนได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะรายได้เขาสูง แต่ในทางกลับกันข้อมูลการป่วยระบบทางเดินหายใจสูงขึ้น เป็นข้อกังวลที่มาสู่การยื่นหนังสือถึง UN”
ขอยึดหลักการทำธุรกิจต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
เช่นเดียวกับ ผศ.เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ นักวิชาการอิสระ ระบุว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่นิ่งเฉยไม่ได้ เพราะมองเห็นถึงความไม่ชอบธรรมอย่างมาก แม้จะยังไม่เริ่มโครงการ โดยเฉพาะธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ซึ่งการทำธุรกิจจะต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน มีเรื่องที่กล่าวถึง 4 เรื่อง คือ 1. แผนปฏิบัติการด้านแรงงาน 2. แผนปฏิบัติการด้านชุมชนที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3. แผนปฏิบัติการด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ 4. แผนปฏิบัติการด้านการลงทุนระหว่างประเทศ 86% ที่อยู่ในพื้นที่ แม้ว่าจะยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่ตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ไทย เป็นภาคี กรณีนี้ถือว่าละเมิด ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศไม่ดูเรื่องเอกสารสิทธิ์แต่จะดูเรื่องของการครอบครองการอยู่แบบดั้งเดิมมาก่อน โดยก่อนมีโครงการฯ ต้องปรึกษาหารือ ถ้าคนในชุมชนไม่ยอมรับ รัฐไม่มีสิทธิ์ดำเนินโครงการฯ ซึ่งการลงทุนเพื่อพัฒนา ต้องมาดูความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) ตั้งคำถามกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่า กาiพัฒนาที่มาในรูปแบบนี้ คือ “การสืบทอดอำนาจพัฒนาจากรัฐบาลเผด็จการ” หรือไม่ เพราะโครงการนี้ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งบทเรียนนี้ไม่เคยถูกทบทวนและฟังเสียงจากประชาชน โดยเน้นสิทธิในการพัฒนา ต้องถามในมุมชาวบ้านคนพื้นที่ด้วย ซึ่งการพัฒนาต้องเป็นการพัฒนาที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ไม่ต่างกับ วิภาวดี แอมสูงเนิน กรีนพีช ประเทศไทย ย้ำว่า ประชาชนควรจะได้มีส่วนร่วมตัดสินใจ ไม่ว่ารัฐจะทำอะไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลมีเป้าหมายจะลดความเหลื่อมล้ำ และจะให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ ต้องย้อนกลับไปถามชาวบ้านถึงความหมายว่าการพัฒนาของชาวบ้านนั้นเป็นอย่างไร และไม่มั่นใจว่าความหมายของรัฐบาลกับชาวบ้านนั้นเหมือนกันหรือไม่ อีกเรื่องคือธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน มองว่าไทยควรให้ความสำคัญมากขึ้น และเห็นว่าการประเมินในเรื่องของสิทธิมนุษยชนอย่างเดียวไม่เพียงพอควรจะรวมในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วยโดยการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นตัวชี้วัด
ขอผู้นำ-นักลงทุนต่างชาติ เมินแลนด์บริดจ์
ขณะเดียวกัน เมื่อช่วงสายวันนี้ (4 มี.ค. 67) ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เดินสายยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง สถานเอกอัครราชฑูตจีน, ญี่ปุ่น และเยอรมณี ประจำประเทศไทย โดยเนื้อหาในจดหมาย ระบุถึงการที่ นายกรัฐมนตรี พบปะกับผู้นำและนักลงทุนในแต่ละประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมา พร้อมทั้งนำเสนอเชิญชวนให้ลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ (ชุมพร-ระนอง) อ้างถึงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน โดยจะมีการพัฒนาระบบการคมนาคมทางเรือ ทางบก และการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยเชื่อว่า โครงการเหล่านี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า และทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมากขึ้นนั้น
ในนามของเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ จ.ชุมพร-ระนอง ยืนยันว่า ภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์ ที่มีทั้งการก่อสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ 2 แห่ง, เส้นทางรถไฟรางคู่ และถนนมอเตอร์เวย์ เชื่อมต่อกับ 2 ท่าเรือ ระยะทางกว่า 90 กิโลเมตร, การสร้างการขนส่งระบบท่อใต้ดิน การสร้างนิคมอุตสาหกรรม และปิโตรเคมี, การสัมปทานแหล่งหินแหล่งทรายเพื่อถมทะเล, การก่อสร้างเขื่อนเพื่อจัดหาน้ำ, การก่อสร้างโรงไฟฟ้ารองรับการใช้พลังงาน เป็นต้น
ทั้งหมดนี้จะต้องแลกมาด้วยที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ป่าไม้ แหล่งน้ำ ทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ รวมหลายหมื่นไร่ ซึ่งหมายถึงฐานทรัพยากรสำคัญที่ประเมินมูลค่าไม่ได้จะต้องหายไป รวมไปถึงสังคมวัฒนธรรม และวิถีชีวิตพื้นถิ่น จะต้องแลกกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์ รวมทั้งโครงการนี้ จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชน และการทำลายสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ของประเทศไทย
“เราจึงขอส่งจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ผ่านสถานทูตฯ เพื่อสื่อสารให้รัฐบาล และนักธุรกิจในประเทศของท่านได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ในเบื้องต้น ด้วยเชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้จะไม่ถูกพูดถึงและจะไม่ถูกสื่อสารไปยังพวกท่านอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งประเทศของท่านเป็นประเทศหนึ่งในประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ และประชาคมโลกที่มีหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และร่วมผลักดันการลดการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ พวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล และนักธุรกิจประเทศของท่านได้โปรดพิจารณาใคร่ครวญการเข้ามาลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์อย่างรอบคอบ และไม่สนับสนุนการลงทุนในโครงการนี้ ก่อนที่ความเสียหายเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับพวกเรา และประชาคมโลกในอนาคต”
พร้อมกันนี้เครือข่ายฯ ยังได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ผู้แทนโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย ขอให้เฝ้าระวัง และตรวจสอบการประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีโครงการแลนด์บริดจ์ด้วย
สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติ (กป.อพช.) บอกว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่ใหญ่มาก จำเป็นต้องเข้ามายื่นหนังสือให้กับ องค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย โดยมี ดิป มาการ์ ผู้แทน OHCHR และ ธาริณี สุรวรนนท์ ผู้แทน UNDP รับหนังสือ
“คาดว่าทาง UN จะจัดเวทีนี้ให้เรา และ 3 เดือนหลังจากนี้ จะนำข้อมูลข้อมูลรายละเอียดผลกระทบในมิติต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นได้รับรู้ข้อเท็จจริง ไม่เพียงแค่ความเจริญจากที่นายกรัฐมนตรีพูด แต่จะมีสิ่งที่ได้รับผลกระทบกับพี่น้องในพื้นที่ด้วย คือสิ่งที่นานาประเทศจำเป็นต้องรับรู้”
สมบูรณ์ คำแหง