‘เครือข่ายรักษ์ระนอง-ชุมพร’ กังวล แลนด์บริดจ์ แอบอ้างยุทธศาสตร์ชาติ เอื้อกลุ่มทุนต่างชาติ เวนคืนที่ดินไม่ชอบธรรม ขาดการมีส่วนร่วม จี้ตรวจสอบ สนข. ใช้งบฯ ศึกษาโครงการฯ
วันนี้ (6 มี.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายรักษ์ระนอง-ชุมพร ยื่นหนังสือผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ 4 คณะกรรมาธิการ ดำเนินการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ โครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ได้แก่
- คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ
- คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
- คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน
- คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยฉบับแรกที่ยื่นต่อ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ระบุว่า ตามที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำเสนอนโยบายการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ด้วยการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง – ชุมพร และอ้างว่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคและประเทศนี้โดยรวม เป็นไปได้ตามความต้องการของคนในประเทศและเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งยังเชื่อว่า จะสร้างผลตอบแทนอย่างมหาศาลให้กับคนภาคใต้ และคนไทยทั้งประเทศ ในภาพรวม ซึ่งนายกฯ ได้นำความคิดนี้ไปเสนอกับผู้นำและนักธุรกิจใหญ่ในหลายประเทศมาแล้ว แม้จะมีเสียงทักท้วงอย่างหนักทั้งจากนักวิชาการ ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์รายใหญ่ ว่า ประเทศไทยอาจจะมีความเสี่ยงหากดำเนินโครงการนี้จริง เพราะเป็นโครงการที่ขัดกับงานศึกษาทางวิชาการ และไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการด้านโลจิสติกต์ แต่ทางรัฐบาลก็ไม่เคยรับฟัง
เครือข่ายฯ จึงตั้งข้อสังเกตสำคัญที่ต้องการนำเสนอให้คณะกรรมาธิการฯ รับทราบ และนำไปสู่การตรวจสอบรัฐบาล ดังนี้
- กระบวนการศึกษาที่ผ่านมา ถือ ว่าด้อยมาตรฐานทางวิชาการและไม่เคารพการมีส่วนร่วมของประชาชน หากนับตั้งแต่วันเริ่มต้นการศึกษาออกแบบและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละโครงการย่อย ถือว่าเป็นกระบวนการที่มาตรฐานด้านวิชาการและด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนตกต่ำเป็นอย่างมาก จนมีคำถามว่าในขณะที่โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ ทำไมกระบวนการศึกษาถึงไม่สมราคา
- โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยโครงการย่อยอีกหลายโครงการ แต่กลับไม่มีการศึกษาผลกระทบและผลสัมฤทธิ์ในภาพรวม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และด้านสุขภาพ กลับพบว่าเป็นการแยกกันศึกษาเป็นรายโครงการย่อยที่ต่างคนต่างทำ เช่น โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่าง, โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมริ่ว, โครงการรถไฟรางคู่, โครงการมอเตอร์เวย์, โครงการนิคมอุตสาหกรรม (ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต) และเชื่อว่าจะมีโครงการอื่น ๆ ตามมาอีกหลายโครงการ ซึ่งวิธีการศึกษาเช่นนี้จะไม่ทำให้เห็นภาพใหญ่ของโครงการทั้งหมด อันจะทำให้ขาดระบบการประมวลผลกระทบและผลสมฤทธิ์ของโครงการที่แม่นยำ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจและการดำเนินโครงการที่ผิดพลาดได้ง่าย ซึ่งรวมไปถึงการศึกษาของ กมธ.วิสามัญ ของรัฐสภาที่ได้สรุปรายงานไปแล้ว ซึ่งถูกมองว่าเป็นรายงานที่ทำขึ้นเพียงเพื่อเอาใจรัฐบาลและนายกฯ เท่านั้น แต่กลับไม่ได้นำเสนอข้อสังเกตสำคัญที่ประชาชนในพื้นที่พยายามให้ข้อมูลไปแล้วแต่อย่างใด
- นายกฯ ต้องคำนึงถึงศักยภาพการพัฒนา จ.ระนอง-ชุมพร และภาคใต้ในมิติอื่น ๆ ด้วย กล่าวคือ ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง รัฐบาลเคยคิดไว้หรือไม่ว่าควรพัฒนา จ.ระนอง-ชุมพร ไปในทิศทางใด ซึ่งเครือข่ายฯ มีความเชื่อว่า ระนอง ชุมพร และภาคใต้ ยังมีศักยภาพอีกมากที่ไม่ถูกพัฒนาอย่างจริงจัง เช่น มิติการท่องเที่ยว, การประมง และการเกษตร ซึ่งจะสามารถสร้างการพัฒนาที่จะทำให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน มากกว่าโครงการแลนด์บริดจ์หลายเท่า
- โครงการนี้กำลังทำลายความมั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน และความมั่นคงในแหล่งอาหารและฐานทรัพยากรในชุมชนท้องถิ่น เพราะเป็นโครงการที่ต้องใช้พื้นที่จำนวนมากเพื่อการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย และพื้นที่สำหรับสร้างเส้นทางรถไฟและมอเตอร์เวย์ตลอดเส้นทางกว่า 90 กิโลเมตร และยังไม่นับรวมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่จะตามมา นั่นหมายถึงการสูญเสียที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย แหล่งผลิตอาหารและฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่จำวนมาก อันหมายถึงการล่มสลายของชุมชนดั้งเดิม ที่หมายถึงฐานรากสำคัญของสังคมไทย
เครือข่ายจึงเสนอให้ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ติดตามตรวจสอบการดำเนินของโครงการฯ ดังนี้
- ตรวจสอบว่าโครงการนี้กำลังแอบอ้าง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือไม่ ?
- ตรวจสอบว่าโครงการนี้ เข้าข่ายบ่อนทำลายความมั่นคงแห่งรัฐ และเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนต่างชาติ หรือไม่ ? เพราะมีการกล่าวอ้างสร้างวาทกรรมและความเชื่อว่าจะสร้างความเจริญ สร้างงาน และการพัฒนาที่จะสร้างรายได้ให้กับประชาชนภาคใต้ อันจะเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยรวมของประเทศ ทั้งที่ไม่มีการประเมินความเสียหายในมิติอื่น ๆ เช่น ด้านสังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะต้องแลก พร้อมกับการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ด้วยการให้ประเทศต่างชาติที่เข้ามาลงทุนได้สิทธิ์ในการสัมปทานพื้นที่โครงการทั้งหมดหลายสิบปี
ส่วนรายละเอียดที่ยื่นต่อ คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระบุถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA และ EHIA) ทั้งจากโครงการท่าเรือน้ำลึก และเส้นทางรถไฟที่จะพาดผ่านพื้นที่ อ.พะโต๊ะ ที่ผ่านพบว่ามีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งในระดับจังหวัด และระดับอำเภอ หลายครั้ง และกำลังจะมีการจัดเวทีเหล่านี้อีกหลายเวที
รวมไปถึงการศึกษาโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ที่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาโครงการนี้โดยเฉพาะ ซึ่งรัฐสภาได้รับรองรายงานการศึกษาแล้วนั้น ยังทำให้เกิดความสับสนและความไม่เข้าใจกับประชาชนชาวระนอง – ชุมพร อีกจำนวนมาก เพราะชาวบ้านไม่ได้รับรู้กระบวนการจัดเวทีที่ผ่านไปแล้ว และที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตนั้น จะส่งผลอะไรตามมากับคนพื้นที่
ขณะที่รัฐบาลประกาศจะดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ พร้อมกับการเดินสายเชิญชวนผู้ประกอบการจากต่างประเทศมาลงทุนเพื่อให้เริ่มก่อสร้างได้ทันภายในช่วงที่รัฐบาลชุดนี้ ยังมีอำนาจบริหารประเทศ จึงสร้างความไม่มั่นใจกับประชาชน ทั้งการดำรงชีวิตในด้านอาชีพ สิทธิในที่ทำกินที่อยู่อาศัย และสิทธิในการจัดการฐานทรัพยากรของชาวบ้านในพื้นที่ จึงขอเสนอให้ให้ติดตามตรวจสอบ ดังนี้
- ตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สนข. และบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ว่าดำเนินการอย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และตามระบบระเบียบราชการหรือไม่ ? อย่างไร ?
- ตรวจสอบการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ มีเจตนาที่จะละเว้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่หรือไม่ ? อย่างไร ? เนื่องจากหลายเวทีไม่มีการเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเข้าร่วม ทำให้การรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างไม่ครบถ้วนทั่วถึง ทำให้เกิดความสับสนและความไม่เข้าใจต่อโครงการฯ
- ระหว่างนี้ ขอให้ยุติการศึกษาและการจัดเวทีต่าง ๆ ไว้ก่อน จนกว่าจะมีการตรวจสอบแล้วเสร็จ และต้องดำเนินการภายใต้ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ ต่อไป
เช่นเดียวกับคำร้องฉบับที่ยื่นต่อ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ขอเสนอให้ดำเนินการ ดังนี้
- ตรวจสอบกระบวนการดำเนินงานของ สนข. และ การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทที่ปรึกษาโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการภายใต้โครงการศึกษา EIA และ EHIA ว่าได้มีการศึกษาหรือกำลังศึกษาอะไรอยู่บ้าง ? และแต่ละโครงการเหล่านั้นดำเนินการไปถึงไหน ? อย่างไร ?
- ตรวจสอบกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งพบว่าหลายเวทีไม่มีการเชิญประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วม ทำให้การรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างไม่ครบถ้วน ทั่วถึง เกิดความสับสนและความไม่เข้าใจ รวมทั้งผลกระทบในว่าจะเป็นอย่างไร ?
- ระหว่างนี้ ขอให้ยุติการศึกษาและการจัดเวทีต่าง ๆ ไว้ก่อน จนกว่าจะมีการชี้แจงหรืออธิบายถึงกระบวนการจัดการศึกษาต่าง ๆ ให้เข้าใจอย่างครบถ้วน เพื่อให้ทราบถึงแนวทาง วิธีการที่ต้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป
ส่วนคำร้องที่ยื่นกับ คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีข้อเสนอให้ดำเนินการติดตามตรวจสอบ 4 เรื่อง ดังนี้
- โครงการทั้งหมด ทั้งที่ตั้งท่าเรือฝั่งระนอง และ ชุมพร เส้นทางรถไฟรางคู่รวมถึงมอเตอร์เวย์ และที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ จะต้องใช้เนื้อที่จำนวนเท่าไร ? และเป็นพื้นที่ประเภทอะไรบ้าง ? และในส่วนของที่ทำกินและที่อยู่อาศัยได้มีการสำรวจอย่างชัดเจนแล้วหรือไม่ว่าจะพาดผ่านที่ดินของใครบ้างจำนวนเท่าไร ? กี่ราย และที่ดินเหล่านั้นมีลักษณะการถือครองกรรมสิทธิ์แบบไหน ? อย่างไร ?
- หากมีการเวนคืนที่ดิน หรือการชดเชยค่าเสียหายต่าง ๆ รัฐบาลมีการวางแผนที่จะจัดการเรื่องนี้อย่างไร ? ทั้งในกรณีที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ และไม่มีกรรมสิทธิ์ จะมีรูปแบบวิธีการจัดการที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในเรื่องนี้
- มีการประเมินความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ทั้งที่เป็นป่าไม้ ป่าชายเลน แหล่งน้ำ ทะเลชายฝั่ง ทรัพยากรประมง และสัตว์ป่าไว้แล้วหรือไม่ ? อย่างไร ? และหากมีความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น จะมีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร ?
- การจัดเวทีประชาคม ประชาพิจารณ์ หรือการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ภายใต้โครงการศึกษาต่าง ๆ ได้มีการสอบถามหรือศึกษาข้อมูลความเสียหาย หรือ ผลกระทบ ทั้งด้านที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และกับระบบนิเวศของสิ่งแวดล้อมไว้บ้างหรือไม่ ? อย่างไร ?