ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ให้กำลังใจ ชุมชนไทดำ ลุ่มน้ำตาปี แนะ จังหวัดเอาความจริงสภาพปัจจุบัน และหลักฐานการตั้งถิ่นฐานชุมชนดั้งเดิม กว่า 70 ปี มาพิจารณาสู่การแก้ปัญหา วอน ทุกฝ่ายเร่งหาข้อสรุป คืนความเป็นธรรมให้ชาวบ้าน
วันนี้ (11 เม.ย. 68) ประวีณ จุลภักดี ประธานมูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต เปิดเผยกับ The Active ภายหลังกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม นักวิชาการอิสระ จ.สุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่ชุมชนไทดำ บ้านทับชัน อ.พุนพิน และ บ้านทรัพย์ทวี อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา
โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้กำลังใจชุมชนชาติพันธุ์ชาวไทยทรงดำ หรือไทดำ ลุ่มน้ำตาปี ในการเรียกร้องสิทธิขอความเป็นธรรมกรณีที่เกิดความขัดแย้งที่ทางรัฐ ราชการ โดยเฉพาะกรมที่ดิน ที่ระบุว่าพื้นที่ชุมชนไทดำ หมู่ 1 และหมู่ 4 บ้านทรัพย์ทวี อ.บ้านนาเดิม เป็นพื้นที่ประกาศหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือ น.ส.ล. แต่จากการติดตามข้อมูลลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เมื่อดูเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชนชาวไทดำ ชัดเจนว่าไม่ใช่ที่ น.ส.ล.แน่นอน 100% เพราะว่าจากประวัติการตั้งรกราก การดำรงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา อยู่กันมามากกว่า 70 ปี
“การมาครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องของทิศทางการเรียกร้องความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ ส่วนในระดับจังหวัดต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับเครือข่ายพี่น้องในภาคประชาสังคม ภาครัฐ และเอ็นจีโอส่วนที่เข้ามาเพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงเรื่องราวที่มันเกิดขึ้น ว่ามันมีความเป็นมาเป็นไปยังไง และให้ทุกคนได้เห็นถึงข้อมูลที่เป็นที่ประจักษ์ในเรื่องของการตั้งถิ่นฐานของพี่น้องชุมชนไทดำ ในพื้นที่อำเภอพุนพินและพื้นที่อำเภอบ้านนาเดิม”
ประวีณ จุลภักดี


ประวีณ ยังระบุถึง เรื่องของการให้ข้อมูลกับพี่น้องในส่วนราชการที่เข้ามาดำเนินการในระดับพื้นที่ทั้งระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด วันนั้นก็พูดคุยกันว่า จะประสานกำหนดวันให้ทางชุมชนไทดำได้ขึ้นไปให้ข้อมูลระดับจังหวัด ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าฯ ที่เข้าไปเป็นอนุกรรมการฯแก้ปัญหา ที่ตั้งโดยระดับนโยบาย ซึ่งมีปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ตั้งกรรมการชุดนี้ และตอนนี้ทางเครือข่ายประชาสังคม และนักวิชาการ ก็กำลังประสานงานกับระดับจังหวัดอยู่ แต่ติดช่วงหยุดยาวก็เลยยังไม่ได้ประสานงานกันแบบชัดเจน คิดว่าวันอังคาร (13 พ.ค. 68) น่าจะประสานงานระดับจังหวัดได้ เพื่อให้ชุมชนไทดำจะมาให้ข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ อันนั้นคือส่วนในระดับจังหวัดพื้นที่
ส่วนระดับนโยบาย ตอนนี้ชัดเจนว่าพี่น้องไทดำได้ร่วมกับเครือข่ายพีมูฟ ซึ่งได้จัดตั้งคณะกรรมการฯแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ขึ้นมาแก้ปัญหากรณี น.ส.ล.ออกผิดตำแหน่ง ตรงนี้ก็เน้นในเรื่องของกลไกการแก้ปัญหา กลไกความร่วมมือ การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และชัดเจน ส่วนในแง่ของกฎหมาย ทั้งการประกาศเขต น.ส.ล.มา 2-3 ครั้ง หรือพื้นที่ที่ไม่มีการประกาศเขต น.ส.ล.ชัดเจน และบอกว่ามันเป็นพื้นที่หลวงโดยสภาพ ก็ต้องหาวิธีการดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้

“จากที่เคยเป็นอดีตอนุกรรมการแก้ปัญหาเรื่องนี้ในระดับจังหวัด ตอนนั้นข้อสรุปชัดเจนว่าพื้นที่ตำแหน่ง น.ส.ล.ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าผิดตำแหน่งหรือถูกตำแหน่งหรือไม่ ในส่วนของการแก้ไขปัญหาเรื่อง น.ส.ล.ระดับพื้นที่คิดว่าต้องเอาข้อมูลในปัจจุบันมาว่ากัน เพราะว่าพื้นที่ น.ส.ล.ในที่พื้นที่ทุ่งปากขอ หรือ ลุ่มน้ำตาปีตรงนั้น มันมากกว่า10,000 ไร่ ควรกันพื้นที่พี่น้องไทดำออกมาซึ่งคิดว่าไม่น่าจะถึง และยังมีพื้นที่ น.ส.ล.อีกมากที่สามารถกันเป็นพื้นที่หลวงให้คนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ”
ประวีณ จุลภักดี
ประวีณ ยังย้ำว่า ถ้าหากรัฐไม่ยอมรับข้อมูลที่เป็นจริงในปัจจุบัน ที่ทางชุมชนไทดำเขานำหลักฐานมาประกอบการนำเสนออย่างชัดเจน ก็จะแก้ปัญหาในสภาพพื้นที่จริงไม่ได้ จะต้องยื้อกันอยู่แบบนี้ และสุดท้ายก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ พี่น้องชุมชนไทดำก็จะกลายเป็นผู้ถูกกระทำ ข้อพิพาทความขัดแย้งจะยังคงอยู่ ดังนั้นทุกฝ่ายควรต้องเร่งหาข้อสรุปทางออกในการแก้ไขปัญหาให้เกิดความเป็นธรรมกับชุมชนดั้งเดิม