ภาคประชาชน ยืนยันความบริสุทธิ์ ระบุ ชุมนุมเคลื่อนไหวเป็นสิทธิ เสรีภาพ ได้รับคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และหลักสิทธิมนุษยชนสากล ซัด รัฐบาล มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ต้องรับฟังเสียงความทุกข์ชาวบ้าน ไม่ใช่ยัดเยียดคดีความ เตรียมเดินหน้ารณรงค์ทั่วประเทศ ยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุม อย่างถึงที่สุด
วันนี้ (26 พ.ค. 68) ที่ สน.ดุสิต ตัวแทนกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) – แรงงานยานภัณฑ์ – กลุ่มทะลุฟ้า เข้ารับทราบข้อกล่าวหา คดี พ.ร.บ.ชุมนุม โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนมาร่วมให้กำลังใจ โดยคดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 68 ทางตัวแทนกลุ่มพีมูฟ ได้รับแจ้งจาก จำนงค์ หนูพันธ์ ที่ปรึกษาพีมูฟ ว่า มีหมายเรียกผู้ต้องหาส่งมาที่บ้านถึง 4 คดี โดยเป็นคดีที่เกิดจากการชุมนุมพีมูฟทวงสิทธิ ช่วงเดือน ต.ค. 67 จำนวน 3 คดี ได้แก่
- คดีระหว่าง พ.ต.ท.ชัยธัช เชียงทา (รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิต) และสมศักดิ์ บุญมาเลิศ กับพวกรวม 5 คน ได้แก่ สินชัย รู้เพราะจีน, จรัสศรี จันทร์อ้าย, จำนงค์ หนูพันธ์ และธีรเนตร ไชสุวรรณ โดยมีข้อกล่าวหา คือ “พ.ต.ท.ชัยธัชฯ ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี จำนงค์ กับพวก ในความผิดฐาน ร่วมกันชุมนุม เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 67 เวลากลางวัน
- คดีระหว่าง พ.ต.ท.ชัยธัช เชียงทา (รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิต) และ จำนงค์ หนูพันธ์ โดยมีข้อกล่าวหา คือ “เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมไม่ควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบ และฝ่าฝืนคำสั่งประกาศ 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาล” เหตุเกิด ณ ถนนพิษณุโลก ติดทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 67 เวลาประมาณ 13.15 น.
- คดีระหว่าง พ.ต.ท.ชัยธัช เชียงทา (รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิต) และ จำนงค์ หนูพันธ์ โดยมีข้อกล่าวหา คือ “เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมไม่ควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบ และฝ่าฝืนคำสั่งประกาศ 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาล” เหตุเกิด ณ ถนนพิษณุโลก ติดทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 67 เวลาประมาณ 10.10 น.

ส่วนอีกหนึ่งคดีเกิดจากการชุมนุมสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 68 โดยเป็นคดีระหว่าง พ.ต.ท.สุรพันธ์ พันเปี่ยม (รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิต) และ จำนงค์ หนูพันธ์ กับพวกรวม 7 คน ได้แก่ พชร คำชำนาญ, นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ทะลุฟ้า – Thalufah), กัญญ์วรา หมื่นแก้ว, เกรียงไกร ชีช่วง และ สมพร หารพรม โดยมีข้อกล่าวหา คือ มีความผิดฐานร่วมกันชุมนุมฯ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 68 ช่วงเวลากลางวัน
ส่วนกรณีพี่น้องแรงงานยานภัณฑ์นั้น มีผู้ถูกดำเนินคดี 4 คน ได้แก่ วิรุต นามณี, สุริยะ ปะสาวะนัง, สุนทร บุญยอด และ ธัชพงษ์ แกดำ โดยมีหมายเรียกจากตำรวจนครบาลดุสิต ออกวันที่ 21 เม.ย. 68 กล่าวหาว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งการประกาศ 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 68 เวลากลางวัน
ทั้งนี้ตัวแทนกลุ่มพีมูฟ ยืนยันว่า การชุมนุมพีมูฟทวงสิทธิทุกครั้งที่ผ่านมาได้แจ้งชุมนุมสาธารณะตามกระบวนการทุกครั้ง และเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่ประชาชนพึงทำได้ แต่กลับพบความพยายามในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ที่ได้พยายามสั่งให้ผู้ชุมนุมแก้ไขการชุมนุม ย้ายที่ชุมนุม จนไปถึงยกเลิกการชุมนุม โดยที่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดว่า การชุมนุมของพีมูฟมีพฤติการณ์ใดที่ขัดกับความสงบหรือก่อความวุ่นวายเดือดร้อน
นอกเสียจากการอ้างตาม มาตรา 7 วรรคท้าย พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ว่า เป็นการชุมนุมในสถานที่ห้ามชุมนุม คือ รัศมี 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม สถานที่ห้ามชุมนุมตามมาตรา 7 ในพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้เป็นสถานที่ที่ห้ามจัดการชุมนุมตลอดเวลา กล่าวคือ สามารถชุมนุมได้ในสถานที่ดังกล่าว จนกระทั่งการชุมนุมมีพฤติการณ์เข้าข่ายก่อความไม่สงบหรือสร้างความเดือดร้อนวุ่นวาย ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจประกาศห้ามชุมนุม จึงจะใช้อำนาจตามมาตรา 7 วรรคท้าย ในการประกาศห้ามชุมนุมได้
“ไม่ควรมีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก และจะดำเนินการในทุก ๆ กลไกที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ เพื่อให้เกิดตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนี้ และต้องยกเลิกการบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฉบับนี้ในที่สุด”
ทั้งนี้ได้มีแถลงการณ์ร่วมเครือข่ายภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เรื่อง ประณามรัฐบาล ‘แพทองธาร’ บังคับใช้กฎหมายปิดปากประชาชน
สืบเนื่องจากการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อกลุ่มผู้ชุมนุมผู้ต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดิน สิทธิแรงงาน รัฐสวัสดิการ และประชาธิปไตย รวม 15 คน จากการเคลื่อนไหวชุมนุมในช่วงเดือนตุลาคม 2567 และเดือนเมษายน 2568 โดยอ้างความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
โดยย้ำว่า ประชาชน คือ ผู้บริสุทธิ์ การชุมนุมเคลื่อนไหวเป็นสิทธิเสรีภาพ อันพึงมีที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และหลักสิทธิมนุษยชนสากล ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลอันเป็นศูนย์กลางอำนาจเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ให้สมกับที่เป็นรัฐบาลที่อ้างตัวว่ามาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย จึงควรจะรับฟังเสียงแห่งความทุกข์ร้อนของประชาชน และแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อนอันแสนสาหัส ให้เหมือนกับที่หาเสียงกับประชาชนไว้ในช่วงการเลือกตั้ง

“ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร อีกครั้ง จงหยุดการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพและปิดปากประชาชน พร้อมขอให้เดินหน้ายกเลิกคดีความอันไม่เป็นธรรมทั้งปวงที่หน่วยงานรัฐ และเอกชนกระทำต่อพี่น้องประชาชน เมื่อไม่มีปัญญาแก้ไขปัญหา ก็อย่าได้ซ้ำเติมปัญหา จงแสดงความกล้าหาญในการปกป้องพี่น้องประชาชนของท่านให้พ้นจากความทุกข์ทนและหลุดพ้นจากการคุกคามเช่นนี้เสียที”
แถลงการณ์ ยังย้ำด้วยว่า พร้อมเข้าไปรายงานตัวเพื่อปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอยืนหยัดเชื่อมั่นว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องของเราไม่ควรถูกยัดเยียดข้อหาประหนึ่งเป็นอาชญากร และขอยืนยันว่า หากการมีกฎหมายชุมนุมเป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ทำให้ไม่สามารถติดตามการแก้ไขปัญหาหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานอันล้มเหลวของรัฐบาลได้
“เราจะยืนยันต่อสู้โดยการเดินหน้าประสานเชื่อมโยงเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศเพื่อรณรงค์ขับเคลื่อนให้ยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อย่างถึงที่สุด”