4 เรื่องสำคัญ จาก ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ทั้งเรื่องวัคซีนโควิด-19 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก การศึกษา และน้ำท่วม กทม. เพื่อหาหนทางไปต่อ กับความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญ
เจ้าแห่งวัคซีนโควิด-19 = เจ้าแห่งโอกาส
หลังโควิด-19 ระบาด โลกก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยไวรัสและโควิด-19 จึงเป็นที่มาของการการแย่งชิงการเป็นเจ้าแห่งวัคซีน…
หลายบริษัทในหลายประเทศทั่วโลก เร่งพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อหวังจะแย่งชิงพื้นที่ทางการตลาด แน่นอนว่าอนาคตเทคโนโลยีทางการแพทย์จะบูม หุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการแพทย์สูงขึ้น ทั้งเทคโนโลยีการรักษา ป้องกัน และการตรวจสอบ
ดังนั้น ประเทศไหนจับโอกาสเทคโนโลยีด้านวัคซีนได้ ประเทศนั้นจะก้าวหน้าในโลก เพราะจะเป็นที่ต้องการของหลายประเทศที่ขาดการพัฒนาด้านวัคซีน เช่น เวียดนาม ประกาศว่าจะไม่เอาวัคซีนของจีน เพราะสุดท้ายจีนก็ต้องได้อะไรบางอย่างแลกกลับไป แต่หากประเทศไหนสามารถผลิตวัคซีนเองได้ ก็จะไม่ต้องไปพึ่งพาใคร
สำหรับ สยามไบโอไซเอนซ์ ที่จะเป็นบริษัทผลิตวัคซีนของไทย และเป็นแห่งเดียวในอาเซียน ดังที่ภาครัฐประกาศไว้ เรื่องนี้หากให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีสาขาวิชาเกี่ยวกับวิศวกรรมชีวภาพเข้าไปร่วมพัฒนาด้วย ก็จะเพิ่มโอกาสความสำเร็จ
เวลานี้ เราอาจจะถกกันเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ก็คงต้องดูตามความเหมาะสมของวัคซีนแต่ละตัว ตามฉลากที่บอกเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าวัคซีนฉุกเฉินที่นำเข้ามาก่อน ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะมีผลดีทั้งในการป้องกันและเยียวยาสภาพจิตใจ ให้คนรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น
“ฝุ่น” ภัยร้ายในปัจจุบัน ที่กำลังบั่นทอดอนาคตของชาติ
ผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กมีหลายประการ เช่น เพิ่มอัตราการป่วยด้วยโรคหัวใจในผู้ใหญ่ และส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ซึ่งร้ายแรงกว่าโควิด-19 เพราะไวรัสโคโรนา 2019 ก็แค่เสี่ยงว่าจะติดแล้วทำให้ปอดพังในเวลาต่อมา แต่ฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ไร้กลิ่น ไร้รสสัมผัส ไร้อาการเฉียบพลัน หากสูดดมฝุ่นไปนาน ๆ จะทำให้ปอดพังอย่างปฏิเสธไม่ได้
ศ.สุชัชวีร์ มองว่า ฝุ่นกรุงเทพฯ จะไม่น้อยลง หากว่าเรายังไม่มีมาตรการที่รัดกุม เพราะถ้าหากทุกวันนี้เมื่อขับรถแล้วสังเกตได้ว่ามีรถควันดำวิ่งอยู่ข้างหน้า ก็ชัดเจนแล้วว่ารัฐยังจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีเครื่องมือวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ละเอียดและความผิดพลาดน้อย พบว่ามีฝุ่นละอองขนาดเล็กในสภาพอากาศอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะใต้สถานีรถไฟฟ้า หน้าป้ายรถเมล์ มีฝุ่นจำนวนมากแน่นอน และการเอาน้ำไปฉีด ไม่ได้ผลเลย เพราะฝุ่นละอองมีขนาดเล็กมาก ๆ
ตัวอย่างการแก้ปัญหาเรื่องนี้ที่น่าสนใจอยู่ที่ประเทศจีน เพราะเคยเป็นประเทศที่มีมีฝุ่นละอองขนาดเล็กปริมาณมากติดอันดับต้น ๆ ของโลก แต่เมื่อผ่านไปราว 5 ปี ก็สามารถลดปริมาณฝุ่นได้ถึงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากมีมาตรการที่เข้มงวดและรัดกุม
สำหรับประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นได้ เพราะบริษัทผู้ประกอบการเจ้าของรถสิบล้อ เจ้าของรถเมล์ รถร่วมบริการ ขสมก. หรือเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ มีไม่กี่เจ้า รัฐสามารถเรียกเข้ามาเจรจาได้เลย แต่รัฐต้องมีความจริงใจ และกล้าที่จะเผชิญหน้ากับต้นตอของปัญหา ในเมื่อต้นตอของฝุ่นมาจากมนุษย์ มันก็ลดลงได้ด้วยมนุษย์เช่นกัน
อัตราการเกิดน้อย ผู้เรียน-ผู้สอน น้อยลง
ระบบในการเรียน และการออกแบบการเรียน คือ สิ่งที่จำเป็น การศึกษาของไทยอาจจะเน้นท่องจำและทำข้อสอบให้ถูกต้อง แต่การศึกษาของต่างประเทศ จากประสบการที่เป็นนักเรียนเมืองนอก พบว่าอาจารย์เปิดโอกาสให้คิดได้หลากหลาย และเน้นความตั้งใจจริงในการศึกษามากกว่า
อีกเรื่องที่น่ากังวล คือ ประชากรในโรงเรียนน้อยลง ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ในแง่ของผู้เรียนเป็นผลจากอัตราการเกิดที่น้อยลงครึ่งหนึ่ง ปัจจุบันประชากรไทยมีเด็กเกิดเพียงหลักแสนจากเคยมีหลักล้าน จากปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมด้านต่าง ๆ ทำให้พ่อแม่ตัดสินใจไม่มีลูก เพราะกลัวลูกจะเกิดมาใช้ชีวิตยากลำบาก ทำให้แนวโน้มเด็กไทยมีจำนวนน้อยลงและน่ากังวลมาก
โรงเรียนคนน้อยลงจริง เพราะอัตราการเกิดน้อยลงครึ่ง ๆ ปีนี้มีเด็กเกิดประมานแค่ 5 แสนคน จากเคยล้านกว่า เพราะคนไม่อยากจะมีลูก จากปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บางคนมีฐานะดีทั้งสามีภรรยาแต่ไม่มีลูก เพราะรู้สึกว่าการเกิดมาในยุคนี้ลำบากไม่หมด สงสารลูกที่เกิดมา และรู้สึกว่ามันลำบากกับเขาเหมือนกัน
ในแง่ของผู้สอน คนจำนวนมากไม่อยากมาเป็นอาจารย์ เนื่องจากสมัยก่อนคนเป็นอาจารย์ คือ คนเก่งที่ได้รับทุนการศึกษาและกลับมาใช้ทุน แต่ระหว่างนั้นต้องผ่านความลำบาก ทั้งเรียนยาก เหนื่อย ความคาดหวังสูง พอมาทำงานความนับถือศรัทธาก็ไม่เหมือนเดิม มีการเรียกร้องมากมายในสังคมที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนการสอน ส่งผลให้จำนวนอาจารย์เก่ง ๆ ก็น้อยลง สุดท้ายก็ไม่มีใครอยากจะมาสอน แล้วก็กลับไปสู่ปัญหาของผู้เรียนเพราะขาดโอกาสที่จะได้เรียนกับอาจารย์ดี ๆ
น้ำท่วม กทม. แก้ได้ หากผู้ว่าฯ สมัยหน้ามีกลยุทธ์ดี ๆ
ปัญหาในพื้นที่ กทม. เป็นปัญหาเดิม ๆ ที่ซ้ำซาก คนที่จะมาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนต่อไป ต้องเป็นคนที่เข้าใจและเก่งในการหาวิธีจัดการ ซึ่งไม่เกี่ยวว่าจะเป็นใคร อาชีพอะไรมาก่อน ขอแค่เป็นคนเข้าใจโลก เข้าใจเทคโนโลยี มีความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงซ้อน ในแบบของยุคสมัยใหม่ อย่างครบมิติได้
ปัญหา กทม. เป็นปัญหาที่ซับซ้อนซ้ำซาก เพราะฉะนั้นแล้ว คนที่จะเข้ามาแก้ปัญหา ถ้าเกิดไม่มีความรู้รอบด้าน ไม่มีทางแก้ได้ วันนี้ต้องยอมรับว่าเมืองต่าง ๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ถ้าใช้วิธีเดิม ๆ วิธีพื้นฐานมันก็น่าจะแก้ได้ตั้งนานแล้ว เพราะฉะนั้นแล้วคนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ควรที่จะมีความสามารถในการแก้ปัญหาเชิงซ้อนได้ เข้าใจเรื่องเทคโนโลยี เข้าใจเรื่องการแก้ปัญหาในยุคสมัยใหม่
เช่น ในเรื่องของน้ำท่วมซ้ำซากของ กทม. อย่างน้อยต้องรู้ว่าพื้นที่ กทม. ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึงสองเมตร เป็นแอ่งคอนกรีต ที่ต้องสูบน้ำตลอดเวลา สูบน้ำออกจากเมืองไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา และสูบน้ำจากเจ้าพระยาไปยังทะเล ต้องสูบเป็นทอด ๆ ดังนั้น หากเครื่องสูบน้ำตัวหนึ่งเสีย น้ำก็ท่วมแล้ว เพราะท่วมจากน้ำย้อนไม่ได้ท่วมจากน้ำฝน
จุดที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เช่น รามคำแหง แต่จะจมหรือไม่จมเป็นปัญหาด้านเทคนิค สามารถทำเขื่อนล้อมได้ แต่หากไม่วางแผนก็จะจม ไม่ว่าผู้ว่า กทม. เป็นใครก็แล้วแต่ แต่ต้องมีวิธีการที่ไม่เหมือนเดิม
ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ก็เผชิญปัญหาที่คล้ายกัน แต่เขาแก้ไขโดยทำบ่อพักน้ำรอระบายไว้ใต้ดิน ซึ่งไทยเองก็สามารถทำได้ หากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินยังทำได้ บ่อพักน้ำน่าจะง่ายกว่า จึงมองว่าควรจะทำ เดิมทีมีการจัดสรรงบประมานจัดการน้ำนับหมื่นล้าน เพียงพอที่จะแบ่งมาทำที่พักน้ำใต้ดิน
จตุจักร บางซื่อ รัชดา ลาดพร้าว สามารถทำเป็นจุดรับน้ำใต้ดินรอระบาย เก็บน้ำได้จุดละแสนลิตร เมื่อถึงหน้าฝน แทนที่จะรอระบายบนดิน ก็มีที่เก็บน้ำใต้ดินไปรอระบายอยู่ข้างล่าง ในฤดูแล้งก็เป็นที่เก็บน้ำจืด และนำเป็นน้ำประปาได้ด้วย แก้ปัญหาน้ำเค็มได้ ส่วนหน้าฝน เก็บน้ำรอระบาย งบประมานหลักพันล้านเอง จากงบฯ เกี่ยวกับน้ำนับหมื่นล้าน
ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร่วมตั้งคำถามและหาคำตอบ กับสิ่งที่ต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ เมื่อโลกไม่มีทางเหมือนเดิม! ใน Active Talk EP.10 “โลกเปลี่ยน ไทยปรับ ขยับอย่างไร ? ความท้าทายใหม่ไทยต้องเผชิญในปี 64” (1 มี.ค. 2564)