ปลัด ทส. ลงพื้นที่ชมแปลงไร่หมุนเวียนแม่ส้าน จ.ลำปาง ย้ำ “เผาได้อย่างเป็นระบบ” ด้านชุมชน สาธิตวิธีจัดการเชื้อเพลิงแปลงแรกของปี วอนรัฐ พิจารณายกเลิก “มาตรการห้ามเผาแบบเหมารวม” กระทบวิถีเกษตรบนพื้นที่สูง
วันที่ 18 มี.ค. 68 ชาวชุมชนบ้านแม่ส้าน และ บ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) รวมถึงสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) และเครือข่ายภาควิชาการ จัดเวที “นำเสนอแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในระบบไร่หมุนเวียนของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ” โดยมี จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เข้ารับฟังมาตรการและรายงานผลการวิจัย ศักยภาพในการกักเก็บในระบบการเกษตรไร่หมุนเวียน และข้อค้นพบว่าด้วยการปรับตัวของชุมชนชาติพันธุ์กับสถานการณ์ฝุ่นควัน ไฟป่า และลงพื้นที่เยี่ยมชมพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชาวบ้านในพื้นที่
แก้ว ลาภมา อดีตผู้ใหญ่บ้านแม่ส้าน ต.กลางดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวว่าขณะนี้ชาวบ้านแม่ส้าน และบ้านกลาง ร่วมกับเครือข่ายร่วมจัดงานนำเสนอแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่การเกษตรแบบไร่หมุนเวียนต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหวังสร้างความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่สร้างผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องมาตรการห้ามเผาและมาตรการปิดป่า

“พี่น้องชาวกะเหรี่ยงเป็นคนขี้เกรงใจไม่อยากจะทำอะไรที่ผิดกฎหมาย แต่ความเปลี่ยนแปลงทำให้การดำรงชีวิตพี่น้องกะเหรี่ยง ใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากมากขึ้น ยืนยันว่าไฟป่าที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นมาจากพี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่ทำไร่หมุนเวียนอย่างแน่นอน” แก้ว ลาภมา
แก้ว เล่าอีกว่า การจัดการไฟป่า จะมีการทำแนวกันไฟ เพื่อไม่ให้ไฟลุกลามไปพื้นที่อื่น อย่างไร่หมุนเวียน เมื่อทำไร่ครบ 3 ปี ก็จะถึงเวลาที่ต้องพักโดยถางและเตรียมเผา ซึ่งหากไร่ไหนที่มี “ต้นมะแขว่น” ก็จะทำการป้องกันไว้โดยใช้กาบกล้วย เพื่อให้สามารถเติบโตได้ เนื่องจากมะแขว่นเป็นพืชเศรษฐกิจของที่นี่ ทำให้ต้องรักษาไว้ จากนั้นก็จะพักพื้นที่เอาไว้ หากไม่มีต้นมะแขว่นก็จะพักพื้นที่ราว 5-7 ปี หากมีมะแขว่นขึ้นปีต่อไปก็จะเผาแบบเดิมเพื่อให้ต้นมะแขว่นโตจนสามารถเก็บผลผลิตได้
“ใน 1 ปี มะแขว่น สามารถสร้างรายได้ 5 ล้านบาทต่อชุมชน มันได้เยอะจนพออยู่พอกิน ซึ่งที่บ้านแม่ส้านมี 127 ครัวเรือน ประชากรอีก 400 กว่าคน แต่ละบ้านก็จะทำนา ทำไร่หมุนเวียน”
แก้ว ลาภมา

จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวว่า อยากให้ชาวบ้านสบายใจ และรู้สึกดีใจที่ได้เห็นการจัดการเชื้อเพลิงของที่นี่ในการจัดการไร่หมุนเวียน ซึ่งในมุมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “ไม่ได้ห่วงว่าชาวบ้านจะเผาหรือไม่เผา แต่เราคำนึงถึงแนวคิดการเผา” ซึ่งจากการทำงานมาตั้งแต่เป็นอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้มีระบบ “จองคิวเผา” กล่าวคือ ถ้าทุกที่เผาพร้อมกันจะทำให้เกิดควันจำนวนมาก แต่หากมีการจัดระบบการเผา จะทำให้การจัดการเชื้อเพลิงสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ จ.ลำปาง ต้องมีการขออนุญาต จัดระเบียบการเผา เนื่องจากมีทั้งโรงไฟฟ้า เหมืองแร่ ซึ่งที่แม่ส้านหากสามารถทำให้มีระบบการจัดการ วางผังที่ดี และขอให้ทำพิกัดให้ชัดเจนว่าการจัดการจะเป็นอย่างไร เป็นระบบอย่างไร ย้ำว่า “ต้องรักษาป่าอย่างดี เพราะป่าคือหัวใจของทุกคน”
“อยากมาแม่ส้านมาก เพราะอยากมาเห็นสิ่งที่ชาวบ้านนำเสนอ เราคนไทยเหมือนกัน ป่าคือชีวิต มีป่า มีน้ำ เป็นของคู่กัน อีก 2 เดือนเข้าสู่หน้าแล้ง ถ้าวันไหนมีไฟ คือ การจุดอย่างไม่เป็นระบบ ท่านช่วยผม ผมช่วยท่าน อยู่กันแบบพี่น้อง ท่านอยู่ในป่าต้องดูแลป่า โดยรับข้อเสนอ การจัดการพื้นที่ แต่ขอให้มีขอบเขตที่ชัดเจน เผากี่โมง เผาเมื่อไหร่ โดยจะกลับไปดำเนินการให้เร็วที่สุด และจะแจ้งผ่านอำเภอมาอีกทีว่าจะทำได้อย่างไร มีข้อติดขัดอะไรหรือไม่ เมื่อลงมาแล้วต้องแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ช่วยเหลือประชาชน”
จตุพร บุรุษพัฒน์

จตุพร กล่าวว่า เข้าใจต่อวิถีของชุมชนที่อยู่กับป่า และขอขอบคุณชุมชนที่ร่วมกันดูแลรักษาป่าเป็นอย่างดี ซึ่งชุมชนบ้านกลาง และชุมชนบ้านแม่ส้าน มีศักยภาพในการดูแลจัดการทรัพยากรและป่าอย่างเป็นรูปธรรม สภาพป่ายังอุดมสมบูรณ์ แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกชุมชนที่จะสามารถดูแลจัดการทรัพยากรและป่าได้ดี ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมาย นโยบายโดยหน่วยงานจึงยังคงมีความจำเป็นต้องทำ แต่จะทำอย่างไรให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด
“ในพื้นที่อุทยานฯถ้ำผาไท มีการรายงานข้อมูลว่า พบจุดความร้อนและไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่เยอะมาก แต่ไม่ใช่ในพื้นที่ที่ชุมชนดูแลอยู่ ซึ่งผลกระทบมันเกิดขึ้นในวงกว้าง จึงมีแนวทางพยายามป้องกันต่าง ๆ ให้รัดกุม ทางหน่วยงานมีความเห็นใจพี่น้องชาวบ้าน การดำเนินคดีจับกุมเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะทำ ซึ่งไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้”
จตุพร บุรุษพัฒน์
วิจัย ชี้ ไร่หมุนเวียน ‘ช่วยกักเก็บฝุ่น PM2.5’ แต่ยังติดกับ “มาตรการห้ามเผาเหมารวม”
ณัฐนนท์ ลาภมา ตัวแทนทีมวิจัยบ้านแม่ส้าน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของวิจัยมาจากปัญหาหมอกควันไฟป่าที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในระบบการทำไร่หมุนเวียน จึงไม่สามารถเผาไร่ตามระบบไร่หมุนเวียนได้ตามกรอบเวลาในการเพาะปลูก และยังถูกกล่าวหาว่า “ชุมชนชาติพันธุ์เผาป่าทำให้เกิดหมอกควัน” แต่ความเป็นจริงในพื้นที่บ้านแม่ส้านไม่มีการเกิดไฟป่าแม้ตารางนิ้วเดียว และในช่วงที่ฝุ่นควันมีปริมาณสูงนั้นยังไม่มีการเผาไร่หมุนเวียน จึงได้หารือร่วมกับทางนักวิชาการ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เพื่อทำการศึกษาวิจัยชิ้นนี้ เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาจากการถูกเหมารวมที่เป็นต้นตอที่ทำให้เกิดหมอกควันไฟป่า
“จากงานวิจัยจะพบว่า ชุมชนบ้านแม่ส้านไม่ได้เป็นตามที่หลายหน่วยงานกล่าวหา โดยไม่เข้าใจระบบของไร่หมุนเวียน และเหมารวมเป็นต้นตอของสาเหตุการเกิดหมอกควันไฟป่า”
ณัฐนนท์ ลาภมา

จตุพร เทียรมา อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงความสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับระบบการทำไร่หมุนเวียน โดยมุ่งเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจและการใช้ทรัพยากรในพื้นที่สูง เพื่อให้เกิดความสมดุลและความยั่งยืนของระบบเกษตรกรรม แต่ท่ามกลางกระแสการโสมตีจากสังคมที่มองว่า ระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียนเป็นการทำไร่เลื่อนลอย ทำลายป่าไม้และทรัพยากร และพยายามบีบให้ชุมชนปรับวิถีการทำเกษตรกรรม ดังเช่นการห้ามไม่ให้ใช้ไฟในการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่ากังวล ในฐานะนักวิชาการสิ่งที่พยายามทำคือ การทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาเครื่องมือกระบวนการเรียนรู้เชิงความคิด การวิจัย การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล นับเป็นการสร้างคนให้มีระบบความคิดทางวิทยาศาสตร์ พัฒนาความเป็นวิชาการ และความเข้าใจในกระบวนการวิจัยที่สามารถสื่อสารและสร้างความเข้าใจในอนาคตได้
“ระบบการทำไร่หมุนเวียน เป็นข้อมูลการวิจัยที่พยายามสื่อสารออกไป หากเป็นไปได้อยากให้มีการนำระบบการทำไร่หมุนเวียนไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมแบบกว้าง และอย่าลืมเรื่องความหลากหลาย Climate Change และระบบไร่หมุนเวียน ที่มีการหมุนเวียนและมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวรวมทั้งมีโครงสร้างดิน โดยการเผาไร่หมุนเวียนคือการเผากิ่งไม้เล็กที่สามารถให้เมล็ดพันธุ์นั้นสามารถลงไปในผิวดินได้ เพื่อไม่ให้เกิดการทำงานโครงสร้างของดิน ความหลากหลายของดิน และนี้คือความมั่นคงทางอาหาร”
จตุพร เทียรมา
รศ.ธวัดชัย ธานี คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับผลกระทบของการทำเกษตรในพื้นที่สูง โดยเฉพาะเรื่องการชะล้างพังทลายของดินและผลกระทบจากการเผา จึงนำมาสู่การทำวิจัยร่วมกับชุมชน เช่น บ้านแม่ส้าน และพื้นที่อื่น ๆ โดยใช้เครื่องมือและมาตรฐานวิทยาศาสตร์ระดับสากลจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดฝุ่นและการชะล้างดิน รวมถึงการเก็บข้อมูลน้ำฝนและใบไม้ตามมาตรฐานสากล เพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบและยืนยันผลทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัยนี้ได้รับการยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ และสามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ในการกำหนดแนวทางเกษตรกรรมที่เหมาะสมต่อไป
“จะดีใจมากหากหน่วยงานเห็นด้วยกับการวิจัยในครั้งนี้และทำในหลาย ๆ พื้นที่เพื่อนำข้อมูลมาประกอบมุมมองในการศึกษา การศึกษาทางวิทยาศาสตร์คือการรายงานข้อมูลตามความเป็นจริงเพราะฉะนั้นถูกหน่วยงานสามารถทำและนำมาเป็นข้อมูลได้ การเก็บข้อมูลจากใบไม้ต้องมีการเก็บตามมาตรฐานสากล และทำเป็นข้อมูลวิจัยเพราะฉะนั้นยืนยันได้ว่ากระบวนการที่พี่น้องทำมีการรับรองกระบวนการทางวิทยาศาสตร์รองรับการวิจัยตลอดการทำงานที่ผ่านมาทั้งในระดับชาติและนานาชาติ”รศ.ธวัดชัย ธานี

สาธิต “มาตรการจัดการเชื้อเพลิง” ไร่หมุนเวียน
อย่างไรก็ตาม ชุมชนบ้านแม่ส้านได้จัดทำแผนการบริหารเชื้อเพลิงในไร่หมุนเวียน โดยเริ่มจัดการเชื้อเพลิงตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 68 แปลงทำกินที่เตรียมจัดการเชื้อเพลิง ได้มีการทำแนวกันไฟรอบแปลงทำกินอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามไปยังเขตพื้นที่ป่า และพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชน และป้องกัน “ต้นอ่อนมะแขว่น” จากความร้อน เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชุมชน โดยมีชาวบ้านช่วยเตรียมแนวกันไฟ และการเฝ้าระวังไฟ โดยคำนึงถึง ทิศทางลม สภาพอากาศ ช่วงเวลาในการเผา ความลาดชันของพื้นที่ เพื่อให้สามารถควบคุมเชื้อเพลิงได้ โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง พร้อมกับมีชาวบ้านเฝ้าระวังจนกว่าไฟจะดับสนิท
พชร คำชำนาญ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า ชาวบ้านต่อสู้กับเรื่องมาตรการห้ามเผามาตั้งแต่ปี 62 ที่กรมควบคุมมลพิษเสนอแผนจัดการไฟป่า จนเกิดเป็นมติ ครม. และต่อมาในปี 63 เกิดไฟป่ารุนแรง ทำให้ชาวบ้านถูกเหมารวมว่าการเผาในพื้นที่การเกษตรเป็นการเผาป่า ทำให้พยายามหาทางแก้ปัญหา จนเกิดมาเป็นงานวิชาการร่วมกับชาวบ้านว่า การเผาในการทำไร่หมุนเวียนเพียงครั้งเดียวใน 1 ปี แทบจะไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรให้กับคนข้างนอก จึงอยากจะพิสูจน์ให้เห็น และนำไปสู่การแก้ปัญหาของชุมชน