โต้ ‘ประมงพาณิชย์’ ย้ำ ปลาทูหมด เพราะใช้อวนล้อมจับสัตว์วัยอ่อนมากเกินไป

ประมงพื้นบ้าน เผย สถิติชี้ชัด อวนล้อมจับปลาทู มากสุดกว่า 1.2 หมื่นตัน แนะ เอาข้อเท็จจริงมาว่ากัน เพื่อให้เกิดการร่วมมือ หาทางออก ป้องกันปลาทูสูญพันธุ์ 

วันนี้ (21 พ.ค.68) วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยกับ The Active กรณีที่ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลระบุสาเหตุที่ทำให้ปลาทูไทยลดลงใกล้สูญพันธ์ มาจากการที่กรมประมง ประกาศอนุญาตให้อวนติดตา จับปลาทูได้ โดยไม่แยกระหว่างอวนจม กับอวนลอย แล้วเสนอให้ห้ามใช้อวนตาติดประเภทอวนจมทำการประมงในฤดูปิดอ่าวฤดูวางไข่ โดยอ้างว่าจะทำให้ปลาทูไทยฟื้นกลับมานั้น 

โดยยืนยันเห็นต่างกรณีนี้ เพราะที่บอกว่า ปลาทูไทยหายไปเพราะ อวนติดตา อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง ถ้าจะพิจารณาว่าเครื่องมือใดที่มีผลการจับ ปลาทู ขึ้นจากที่ทะเลมากที่สุด จะพบว่า ไม่ใช่อวนติดตาอย่างที่กล่าวอ้าง 

วิโชคศักดิ์ ยังอ้างตัวเลขทางสถิติการประมง โดย ยกตัวอย่าง สถิติผลการจับปลาทู (รวมทั้งที่ปลาทูวางไข่และไม่วางไข่) ตลอดปีเมื่อปี 2563 พบว่า เครื่องมือที่จับปลาทูได้มากที่สุด ได้แก่ อวนล้อมจับ 12,389 ตัน รองลงมาคือ กลุ่มอวนติดตา 6,223 ตัน และอวนลากคู่ 3,940 ตัน (ดังภาพ ที่ 1-4 ) โดยสถิติดังกล่าว ยังมีสัดส่วนผลการจับปลาทูของเครื่องมือต่าง ๆ ในลักษณะใกล้เคียงกันจนถึงปี 2567 ที่ผ่านมา 

สอดคล้องกับผลงานวิจัยเรื่อง “การจับปลาทูและเครื่องมือในการจับ” ของ วิรัตน์ สนิทมัจโร และคณะ ในงานวิจัยชุดปลาทูคู่ไทย ว่า เมื่อพิจารณาปริมาณที่จับและเครื่องมือจับของเรือประมงพาณิชย์และเรือประมงพื้นบ้านในปี พ.ศ. 2564-2565 (ช่วงทำวิจัย) พบว่า ปริมาณการจับปลาทูรวมทั้งสิ้น 19,598 ตัน จากเรือประมงพาณิชย์ 12,272 ตัน และจากเรือประมงพื้นบ้าน 7,326 ตัน (จากการสุ่มตัวอย่างที่ท่าเรือประมงพื้นบ้านและข้อมูลจากบันทึก สถิติผลจับของกองวิจัยและพัฒนา ประมงทะเล กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง และสำนักงานประมงจังหวัด) และพบว่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี เป็นแหล่งจับปลาทูที่สำคัญที่สุด ของเรือประมงพาณิชย์ และเรือประมงพื้นบ้าน (ดังภาพที่ 4) 

ทั้งนี้หลังปี 2558 ปลาทูในทะเลอ่าวไทยมีแนวโน้มลดลง จากเดิมเคยจับได้ 1.2 แสนตันต่อปี เหลืออยู่เพียง 1 – 3 หมื่นตันต่อปี เท่านั้น และปลาทูที่ถูกจับมาได้นั้น มีบางส่วนนำออกมาขายตามท้องตลาด กลับมีขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณความต้องการบริโภคปลาทูในประเทศไทยมีถึงปีละ 3 แสนตันต่อปี จนประเทศไทยต้องนำเข้าปลาทูจากต่างประเทศจำนวนมาก จึงนับว่าสถานการณ์ปลาทูไทยยังอยู่ในขั้นวิกฤติจริง (ดังภาพที่ 5 – 6 ด้านล่าง)

วิโชคศักดิ์ ยังให้ความเห็นว่า ปลาทูไทยลดลง สาเหตุมาจาก มีการทำประมงเกินกว่าอัตราการผลิตของธรรมชาติ ในแต่ละปีมีลูกปลาทูถูกจับขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ส่วนสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอุณหภูมิโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรแวดล้อมธรรมชาติและสัตว์น้ำ นั้น มองว่าอาจมีผลอยู่บ้างแต่น้อยกว่ากรณีที่ปลาทูไทยถูกจับขึ้นจากทะเลอย่างไม่เหมาะสม  โดยเฉพาะอวนล้อม ใช้แสงไฟเข้ามาช่วยล่อฝูงปลามา ตอมไฟ ทำให้ทั้ง ลูกปลาทู และแม่ปลาทูในวัยช่วงพร้อมผสมพันธุ์วางไข่ถูกจับมากขึ้น 

ดังนั้นการที่มีการให้ข่าว ว่า อวนติดตาเป็นเครื่องมือทำลายปลาทูเป็นหลัก จึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเมื่อพิจารณาอวนติดตา จะพบว่ามักมีการใช้ในกลุ่มของชาวประมงพื้นบ้านเป็นหลัก โดยมีขนาดตาอวนที่เน้นจับปลาทูตัวเต็มวัยเป็นหลัก มีลักษณะการกระจายผลผลิตในกลุ่มเกษตรกรประมงจำนวนมาก โดยมีเรือประมงพื้นบ้านหลายหมื่นลำที่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจปลาทู การมุ่งโยนความผิดมาให้ชาวประมงพื้นบ้าน นอกจากจะแก้ไขปัญหาไม่ได้จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้นไปอีก”

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี

ส่วนอีกข้อสังเกตที่ส่งผลต่อการลดลงของสัตว์น้ำในทะเลไทยมากที่สุด คือ เครื่องมือ “อวนลากคู่” ซึ่งมีผลการจับสูงสุด และมีการปนเปื้อนสัตว์น้ำพลอยจับในรูปของปลาเป็ด สัดส่วนสูงมาก จากข้อมูลสถิติการประมงของอวนลากคู่พบว่าผลการจับของอวนลากคู่ตลอด 10 กว่าปีย้อนหลัง มีองค์ประกอบผลจับเป็นปลาเป็ดซึ่งไม่สามารถเป็นอาหารของมนุษย์ มากกว่า 50 % และแนวโน้มสัดส่วนองค์ประกอบผลจับเป็นปลาเป็ดเพิ่มขึ้นทุกปี 

ข้อมูลผลรวมปลาเป็ดที่เกิดการจับได้โดยบังเอิญจากทะเลไทย มีปริมาณมากกว่า 300,000 ตันต่อปี โดย 88% ของปลาเป็ดทั้งหมด ติดมากับกลุ่มเครื่องมืออวนลาก และ 60-70 % ติดมากับเครื่องมืออวนลากคู่ ประมาณ 160,000 – 180,000 ตัน ต่อปี (โดยที่ผลจับสัตว์น้ำทะเลไทยรวมเหลือประมาณ 1.2 ล้านตัน และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง) ในผลจับได้โดยบังเอิญที่เป็น ปลาเป็ด ที่ติดไปกับ เครื่องมืออวนลากคู่ และประชาชนไทยมนุษยชาติเสียโอกาสในการบริโภคนั้น พบว่า มีองค์ประกอบของพันธ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจในสัดส่วนสูงมาก โดยในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยมากกว่า 70 % ของปลาเป็ดทั้งหมดที่จับได้โดยบังเอิญ (ดังภาพที่ 7) 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการจับปลาทูลดน้อยลงนี้ ทำให้กลุ่มประมงพาณิชย์ และกลุ่มประมงพื้นบ้าน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความกังวลเกรงว่า ปลาทู อาจจะสูญพันธุ์หมดไป ถือว่าเป็นเชิงบวก ที่หลายฝ่ายห่วงใย และเพิ่มความตระหนัก ให้ความร่วมมือกันในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ให้หายไปจากทะเลไทย นอกจากนั้นบทบาทของผู้บริโภคในสังคม ก็ควรหยุดบริโภคปลาทูขนาดเล็กตากแห้ง เพราะเมื่อเกิดความต้องการในตลาดมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดแรงจูงใจในการจับ “ลูกปลา” เพิ่มขึ้นด้วย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active