เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ลั่น หากพิสูจน์นอกเขต 12 ไมล์ทะเล จับได้แค่ปลากะตัก ไม่มีสัตว์วัยอ่อนอื่นปนมา ยินดียุติการคัดค้าน พร้อมฝากสังคมร่วมจับตาการตัดสินใจของ กมธ.ร่วม ต่ออนาคตทรัพยากรทางทะเล
วันนี้ (21 มี.ค. 68) วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยกับ The Active ถึงความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ทั้ง สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และสมาคมรักษ์ทะเลไทย ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเอกฉันท์ 398 เสียง ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ…ฉบับวุฒิสภา
โดยมีการแก้ไขต่างไปจากฉบับสภาผู้แทนราษฎร ใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ปรับคำในองค์ประกอบ กรรมการประมงประจำจังหวัด 2. ประเด็นเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตเรือประมง 3. มาตรา 66 เรื่องการคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม 4. ม.114 (8) กรณีกระทำความผิดเงื่อนไขการทำประมง แก้ไขให้ต้องโทษทางปกครองด้วย 5. แก้บทเฉพาะกาลให้ออกกฎหมายลูกภายใน 1 ปี รวมถึง มาตรา 69 แก้กลับไปตามร่างปี 2558 คือไม่อนุญาตให้ใช้อวนล้อมจับปลากะตักในเวลากลางคืน ซึ่งมติดังกล่าว ส่งผลให้ต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาหาข้อสรุป ทั้ง สส. และ สว. จำนวน 22 คน
วิโชคศักดิ์ ยอมรับว่า ในมุมของเครือข่ายฯ ที่จับตาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ยอมรับตรง ๆ ว่ามีความรู้สึกผิดหวัง เพราะเดิมคาดหวังว่าให้ สส. โหวตการแก้ไขตามร่างของวุฒิสภา แต่ก็ยอมรับในการตัดสินใจของ สส. ที่ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณารอบนี้ ทั้งนี้ มองว่าผลโหวตมติเอกฉันท์ของ สส. 398 เสียง สะท้อนว่า เรื่องการแก้ไขกฎหมายประมงอยู่ในความสนใจของทุกพรรคการเมือง
“แต่คนที่เกี่ยวข้องในการจับปลา มันมีหลากหลายกลุ่ม ทั้งคนที่มีความได้เปรียบในทางสังคม กับคนที่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อย ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ดูเหมือนว่าผู้แทนราษฎร อาจต้องไปลงรายละเอียดและถูกจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะเท่าที่สังเกตจากการลงคะแนนโหวตไม่เห็นชอบตามที่ สว. เสนอ คือต่อ 0 เลย หมายความว่าทั้งหมดไม่เห็นด้วยเลยกับการแก้ของ สว. หรือบางท่านอาจจะเห็นด้วยบางข้อ หรือไม่เห็นด้วยบางข้อ หรือไม่เห็นด้วยทั้งหมด หรือบางประเด็นที่ สว. แก้ไขมา ก็ยังบอกยากว่า สส. พรรคนี้เห็นด้วยไม่เห็นด้วยเรื่องนี้ แต่ที่บอกได้ชัดเจนคือ กฎหมายประมงเป็นความสนใจของทุกพรรคการเมือง”
และหากเทียบกับมติการโหวตรอบแรกในชั้น สส. ช่วงเดือนธันวาคม ก็อาจเป็นไปได้ที่ สส. อยากคงมติเดิม ผลเดิมที่โหวตไว้ จะเป็นส่วนมากหรือส่วนน้อยก็แล้วแต่ก็คงจะมีแน่นอน ที่จะมีความเห็นโดยเฉพาะเกี่ยวกับมาตรา 69 เรื่องการอนุญาตใช้อวนล้อมตาถี่จับปลากะตักในเวลากลางคืน ซึ่งสะท้อนจากการอภิปรายของ สส. หลายคนในมาตรานี้ และเรื่องมาตรา 69 ยังต้องไปลุ้นต่อในชั้นกมธ. ร่วมแน่ ๆ และเป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงในชั้น กมธ. ร่วมแน่นอน ส่วนถกเถียงแล้วจะได้ข้อยุติอย่างไร คือสิ่งที่ต้องช่วยกันจับตาและประเมินกันอย่างใกล้ชิด

ท้า กมธ.ร่วม ลงพื้นที่พิสูจน์ความจริงการใช้อวนล้อมตาถี่จับปลากะตักในเวลากลางคืน
นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวถึงการจับตาและการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ที่กำลังพยายามหาช่องทางในการที่จะเข้าไปให้ข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ซึ่งพร้อมเต็มที่ในการใช้เวลาช่วงโค้งสุดท้ายนี้ หวังว่าทาง กมธ.ร่วม จะได้ใช้โอกาสนี้ในการเชิญผู้เกี่ยวข้องไปให้ข้อมูล รวมทั้งการเตรียมพร้อมของภาคประชาชนในการไปจับตาการประชุมกันที่หน้ารัฐสภาด้วย
ทั้งนี้ ยังขอเชิญชวน หรือเป็นการท้าทาย กมธ.ร่วมเลยก็ได้ เพราะถ้ามองกระแสปัจจุบัน ในเมื่อเป็นความสนใจของทุกฝ่าย และอ้างเรื่องหาข้อยุติไม่ได้ หรือความเห็นไม่รู้ข้อเท็จจริงอะไรเป็นยังไง กมธ.ร่วมก็ควรใช้โอกาสนี้ไปพิสูจน์กันจริง ๆ ในทะเลเลย
“ถ้า กมธ. ร่วม คิดว่า ชาวประมงคนนี้มาให้ข้อมูล นักวิชาการคนนี้ก็มาให้ข้อมูล ไม่รู้จะไปทางไหน เพราะคนที่อยากให้ทำ หรือใช้อวนตาถี่อนุญาตจับปลากะตักเวลากลางคืน เขาก็ให้ข้อมูล ที่นำไปสู่การออกกฎหมายว่าให้ทำได้ เพราะฉะนั้นในเมื่อมีแบบนี้แน่ ๆ ก็ไปพิสูจน์กัน พาสื่อมวลชน คนที่เกี่ยวข้อง ไปล้อมจับกันเลยในเวลากลางคืน ลงทะเลไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงกัน เอากันแบบตรงไปตรงมา ดีกว่ามาใช้ข้ออ้างว่าคนนี้ก็เห็นด้วย คนนี้ไม่เห็นด้วย ฉันตัดสินใจลำบาก ถ้าแบบนี้มันหาข้อยุติยาก ซึ่งถ้ามันไม่ติดสัตว์น้ำชนิดอื่นมาด้วยจริง ๆ เราก็ยอมรับ พร้อมยุติบทบาทเรื่องนี้ทันที เอาเลยจังหวัดไหนก็ได้ ออกไปเลยนอก 12 ไมล์ทะเล ปั่นและล้อม หรือว่าจับไม่ปั่น จะล้อมอย่างเดียวได้หมด”
ชี้ กลไก กมธ.ร่วม ไม่เปิดโอกาสให้ภาคส่วนผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม แต่หวังเปิดพื้นที่ให้นำเสนอข้อมูลรอบด้าน
นัฐ กาเซ็ม ผู้แทนประจำประเทศไทย มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เป็นที่น่าเสียดาย เพราะจริง ๆ แล้ว สส. มีโอกาสที่จะใช้ร่างของ สว. ตามที่ได้มีการแก้ไขมา ให้สอดคล้องกับหลักการที่ทั้งประมงพื้นบ้าน ภาคประชาสังคม และภาคการระหว่างประเทศเรียกร้อง แต่ทาง สส. ก็เลือกที่จะปฏิเสธร่าง สว. เพื่อที่จะกลับมาใช้กลไกกรรมาธิการร่วม จึงเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันจับตาว่า นัยหรือความตั้งใจของทาง สส. คืออะไร คือไม่เห็นด้วยกับร่าง สว. หรือไม่เห็นด้วยกับท่าทีของภาคประชาสังคม ภาคประมงพื้นบ้าน หรืออย่างไร
แต่เมื่อตามกระบวนการ หากชั้น สส. สว. เห็นไม่ตรงกัน กลไกการตั้ง กมธ.ร่วม ก็เป็นกลไกในการหาทางออกร่วมกันอย่างสันติวิธี ซึ่งตรงนี้ก็เคารพในนิติบัญญัติไทย แต่อย่างไรก็ดีขอตั้งข้อสังเกตว่า กลไกการตั้ง กมธ.ร่วมนั้น ไม่เปิดโอกาสให้มีสัดส่วนผู้แทนภาคประชาสังคม ประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เข้าไปมีสัดส่วนเป็นกรรมาธิการ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นคำถามที่เป็นข้อครหา ตั้งแต่ชั้น สส. สว. มาโดยตลอด เรื่องของการฟังเสียงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ถึงการเปิดโอกาสให้เข้าไปฟังเสียงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร
“ผมหวังใจว่า แม้ตัวกลกไกนิติบัญญัติ กรรมาธิการร่วม ไม่เปิดโอกาสให้มีสัดส่วนของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปมีส่วนร่วม แต่อย่างไรก็ดี ตัวกรรมาธิการอาจจะมีแนวทางในการพูดคุย หารือ เรียกเอกสาร หรือจัดทำรายงานการวิเคราะห์รายมาตรา เพราะตอนนี้จากเดิมที่ 30 กว่ามาตรา เหลือแค่ 6 มาตราแล้วที่สามารถแก้ไขได้ และจริง ๆ แล้วอาจจะมีมาตราที่อยู่ในที่สนใจไม่กี่มาตรา นั่นหมายความว่า เขามีเวลา มีเครื่องมือ มีกลไก ขณะเดียวกันต้องถามว่ามีเจตจำนงที่จะรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่”
