ทวงพื้นที่อาหารใน กทม. ที่พึ่งพิงยามข้าวยากหมากแพง

Bio Thai เผย กรุงเทพฯ ค่าอาหารเฉลี่ยแพงที่สุดในอาเซียน เสนอเพิ่มพื้นที่ทางอาหาร ผ่านแปลงพืชผักสวนครัวในสวนสาธารณะทั่วกรุงเทพฯ พร้อมเปิดแหล่งเรียนรู้ชวนคนเมืองมาปลูกผักกัน

วันนี้(16 ก.ค.2565) ศูนย์รายงานข้อมูลการปลูกต้นไม้ของกรุงเทพมหานคร รายงานว่า ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการปลูกต้นไม้ตามนโยบาย 1 ล้านต้น ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 54,673 ต้น แบ่งเป็น ไม้ยืนต้น 18,668 ต้น ไม้พุ่ม 26,971 ต้น และไม้เลื้อย 9,034 ต้น โดยสำนักสิ่งแวดล้อม 15,032 ต้น สำนักงานเขต 39,081 ต้น และภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ 560 ต้น ทั้งนี้มียอดจองปลูกต้นไม้จากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการร่วมสนับสนุนนโยบายดังกล่าว 1,641,310 ต้น

นับเป็นความก้าวหน้าอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ ซึ่งมีแนวโน้มว่านโยบาย 1 ล้านต้น จะทำสำเร็จได้ก่อนครบวาระ 4 ปีของการดำรงตำแหน่ง แต่นอกจากการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เรื่องพื้นที่ทางอาหารก็เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่สอดรับกับข้อเสนอของ เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ที่ได้ระดมความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม ภาคประชาชนในช่วงก่อนเลือกตั้ง เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนากรุงเทพฯ ในฝัน

สำหรับการมีพื้นที่ทางอาหารของเมือง จะเอื้ออำนวยให้ประชาชนที่อาศัยในเมืองทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ดี ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของท้องถิ่น การมีสิ่งแวดล้อมที่ดี และสร้างพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางสังคมให้คนในเมืองสามารถอยู่ร่วมกันโดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น สามารถเกิดขึ้นได้โดยองค์ประกอบของนโยบายรวมทั้งข้อเสนอมาตรการต่างๆ ซึ่งเครือข่ายองค์กรของชุมชนในกรุงเทพฯ เครือข่ายเกษตรกรรมในเมือง องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ และประชาชนกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้องได้เคยรวบรวมและสังเคราะห์ เพื่อเสนอให้ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องด้านนโยบาย ได้พิจารณาแล้ว ดังนี้

1.กรุงเทพมหานครควรมีวิสัยทัศน์และนโยบายในการสร้างพื้นที่และความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้ทุกคนในเมืองโดยเฉพาะเด็กๆ กลุ่มเปราะบาง และประชาชนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงอาหารที่ดี ปลอดภัย และมีโภชนาการครบถ้วน ทั้งในสถานการณ์ปกติหรือเกิดอุบัติภัย ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม โรคระบาด หรือเหตุฉุกเฉินต่างๆ ทั้งนี้โดยมาจากการวางแผนและออกแบบอย่างมีส่วนร่วม สร้างภูมิทัศน์ใหม่ของเมือง เพื่อให้ทุกคนที่อยู่อาศัยในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากผืนดินดี น้ำดี อากาศดี และสิ่งแวดล้อมดี

2.จัดหาที่ดินที่อยู่ในอำนาจการบริหารของกรุงเทพมหานคร หรือประสานงานกับหน่วยงานอื่นของรัฐที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ประสานกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ดินของเอกชน หมู่บ้านจัดสรร โรงงาน หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น เพื่อมอบให้ชุมชน และกลุ่มประชาชนในเมืองนำมาใช้ประโยชน์ ในการสร้างสวนผัก/เกษตรในเมือง หรือเป็นพื้นที่สำหรับตลาดอาหาร ตลาดเขียวของชุมชน สนับสนุนการจัดทำข้อตกลงการส่งมอบที่ดิน รวมไปถึงการหาแนวทางสนับสนุนอื่นๆที่เป็นไปได้ เช่น การยกเว้นภาษี การตรากฎหมายท้องถิ่นเพื่อรับรองสิทธิหรือความมั่นคงในการสร้างพื้นที่อาหารสำหรับเมือง

วรางคนางค์ นิ้มหัตถา หัวหน้าโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เสนอว่า พื้นที่ทางอาหารและพื้นที่สีเขียวควรถูกบูรณาการผ่านการใช้พื้นที่ไปด้วยกัน เพื่อส่งเสริมทั้งเรื่องความมั่นคงทางอาหารและพื้นที่สีเขียว แต่ต้องพิจารณาว่าพืชอาหารแบบไหนที่เหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่สวนสาธารณะ เช่น ต้องเป็นพืชที่ไม่ต้องอาศัยการดูแลมาก ให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี สิ่งสำคัญคือเรื่องนี้ต้องถูกระบุไปในนโยบายของ กทม.

แม้ที่ผ่านมาจะมีแนวทางการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อเป็นพื้นที่ทางอาหาร ในสวนสาธารณะหลายแห่งของ กทม. แต่พบว่าการเข้าถึง และใช้ประโยชน์อยู่ภายใต้การดูแลของผู้รับผิดชอบพื้นที่ ทำให้ประชาชนทั่วไปหรือแม้แต่เจ้าหน้าที่เองไม่ได้รับประโยชน์

“อย่างที่สวนผักคนเมือง บางคอแหลม มีการปลูกพืชสวน แต่ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ จำหน่ายไม่ได้ สร้างรายได้ไม่ได้ กลายเป็นว่าการปลูกเป็นความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น แต่คนปลูก หรือประชาชนทั่วไปไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้โดยตรง เหมือนถูกสงวนสิทธิ์เอาไว้กับ กทม. เป็นเงื่อนไขที่ต้องปลดล็อคเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ของพื้นที่ได้เต็มศักยภาพ มีอิสระในการเก็บเกี่ยว เก็บกิน หรือขายได้”

วรางคนางค์ อธิบายเพิ่มเติมว่า นโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการกระจายพื้นที่สีเขียวในทั่วเมือง หรือสวน 15 นาที เป็นนโยบายที่ดี แต่ก็เสนอให้ทำสวนผักชุมชนด้วย โดยสามารถเลือกปลูกพืชผักอายุสั้น

“เช่น กะเพรา โหระพา พืชที่ปลูกง่าย ยิ่งตัดยิ่งแตก หรือหากว่าทำให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ เรื่องการทำเกษตรในเมืองก็ยิ่งดี รวมถึงการบริหารจัดการแบบครบวงจร เช่น การเศษใบไม้มาทำเป็นปุ๋ยเพื่อบำรุงต้นอื่นๆ ก็จะเป็นพื้นที่ต้นแบบของการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพ”

ด้าน ปาจริยา มหากาญจนะ ผู้อำนวยการส่วนสวนสาธารณะ 1 ระบุว่า ที่ผ่านมาสวนสาธารณะเกือบทุกแห่งของ กทม. ได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนสาธารณะ ให้เป็นพื้นที่ทางอาหารปลูกพืชผักสวนครัว จะใช้วิธีการทำกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นผักกลับบ้าน เช่น ขวดแลกผักที่รมณีนาถ และอุทยานเบญจสิริ รวมถึงการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยเกษตรอินทรีย์ภายในพื้นที่ด้วย

“เอาขยะในสวนมาหมักเป็นปุ๋ย แล้วก็เอามาปลูกผัก เสร็จแล้วก็จะแจกจ่ายให้กับประชาชน ผ่านการเล่นเกม ทำกิจกรรมบ้าง โดยจะแจกให้กับคนสวนด้วย เพื่อทำเป็นอาหารแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเนื่องจากมีรายได้ไม่มากนัก ส่วนสวน 15 นาทีที่เป็นนโยบายของ อ.ชัชชาติ ต้องติดตามในเร็วๆ นี้”

ทั้งนี้ KKP Research วิเคราะห์ว่าราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะปรับขึ้นตามราคาพลังงาน ด้านมูลนิธิชีววิถี หรือ BioThai ให้ข้อมูลว่า หลายปีมานี้ราคาข้าวปลาอาหารในกรุงเทพฯ แพงมากขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบจากฐานข้อมูลค่าครองชีพของ Numbeo ซึ่งออกแบบการสำรวจโดยใช้ crowd-sourced global database ที่ผู้คนทั่วโลกกว่า 6.6 แสนคนร่วมให้ข้อมูล พบว่าราคาอาหารในกรุงเทพฯ แพงที่สุดในอาเซียน

จากการเปรียบเทียบราคาอาหาร 12 รายการ ได้แก่ ขนมปังจืด(500 กรัม) ข้าวสาร (1 ก.ก.) ไข่ (12 ฟอง) เนื้อไก่และเนื้อวัว (หนักอย่างละ 1 ก.ก.) นม 1 ลิตร แอปเปิล กล้วยและส้ม (อย่างละ 1 ก.ก.) มะเขือเทศ และหอม (ขนาด 1 ก.ก.) และผักกาดหอม 1 หัว พบว่ารวมราคาวัตถุดิบอาหารทั้งหมดแล้ว กรุงเทพฯ แพงสุด โดยถ้าใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงของประเทศไทย ต้องใช้เงิน 1,086.44 บาท เพื่อซื้อสินค้าทั้ง 12 รายการดังกล่าว รองลงมาคือโฮจิมินห์ซิตี้ 1,022.34 บาท จาร์กาตา 1,003.21 บาท มนิลา 981.88 บาท และกัวลาลัมเปอร์เมืองหลวงของมาเลเซียถูกสุด 930.10 บาท

ดังนั้น แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ตอกย้ำว่าความมั่นคงทางอาหารคือสิ่งจำเป็น และพื้นที่ทางอาหารของคนเมืองจะสามารถเป็นที่พึ่งทางอาหารได้ไม่มากก็น้อย

สามารถอัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ในกรุงเทพฯ ได้ผ่านทางเว็บไซต์ ศูนย์รายงานการปลูกต้นไม้

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้