UddC และ ภาคีฯ ร่วมกันจัดงานเวิร์กช็อปแนวทางสร้างสวน 15 นาที ภายใต้โครงการ Greener Bangkok Hackathon ‘รองผู้ว่าฯ ทวิดา’ ชวนเสนอแนวคิดสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
วันนี้ (24 ก.ย. 65) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) และภาคีขับเคลื่อนกรุงเทพเพื่อเมืองที่เขียวกว่า ร่วมกันจัดงาน Green Incubation Workshop & Hackathon เวิร์กช็อปและฟังบรรยายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียว 15 นาที จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์ สำหรับผู้ร่วมกิจกรรม การประกวดไอเดียด้านการออกแบบและด้านกลไก ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร ในโครงการ Greener Bangkok Hackathon แฮกกรุงเทพฯ เพื่อเมืองที่เขียวกว่า
ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายในหัวข้อ “สวน 15 นาที เป็นคำตอบหรือเป็นโจทย์ใหม่ในยุทธศาสตร์เมือง” โดยระบุว่า สวน 15 นาทีเป็นโจทย์ใหม่ของกรุงเทพมหานคร ที่มีเป้าหมายกระจายพื้นที่สีเขียวสาธารณะให้กับเมือง นับเป็นความท้าทายที่ต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมคิดเพื่อทำให้กรุงเทพฯ เขียวขึ้นอย่างมีคุณภาพ
ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงมิติทั้ง 4 ด้าน คือ มิติสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือและปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง มิติสังคม เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนทุกกลุ่มวัย มิติด้านเศรษฐกิจ เพื่อสร้างสรรค์และส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจระดับย่าน/เมือง และมิติธรรมาภิบาล ในแง่ของการจัดเก็บภาษี การใช้ประโยชน์ที่ดิน และการบริหารจัดการพื้นที่ งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับกระบวนการของการสร้างพื้นที่สีเขียวคุณภาพเข้าถึงได้สะดวก ต้องเร่ิมจากการจัดหาพื้นที่ พิจารณาศักยภาพของพื้นที่ การออกแบบโดยคำนึงวัตถุประสงค์ผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ภายใต้แนวคิด Universal Design เรื่องงบประมาณและโครงการ ต้องตั้งงบประมาณประจำปี หรือขอการสนับสนุนจากภาคเอกชน ด้านการก่อสร้าง ต้องไม่อยู่ใกล้กับสวนเดิมในรัศมี 800 เมตร ต้องอยู่ในบริเวณที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย มีการดูแลรักษาจากสำนักงานเขต สำนักที่เกี่ยวข้อง และสุดท้ายคือกิจกรรมสำหรับชุมชน ที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาวะของทุกคน
อ.ธนิชา นิยมวัน อาจารย์พิเศษ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อ “Green อย่างกรุงเทพฯ : ข้อจำกัดและโอกาสที่ต้องสร้าง” ระบุว่า สวนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครเดิมตามผังเมืองรวม มีพื้นที่ 38,000 ไร่ พื้นที่ใต้ทางด่วน/แนวถนน 25,000 ไร่ พื้นที่สวนหลังคา 20,000 ไร่ พื้นที่ทหาร 12,000 ไร่ พื้นที่ราชการ/ศาสนสถาน 9,500 ไร่ สนามกอล์ฟ 7,600 ไร่
สำหรับโอกาสที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวจะต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ควรจะเป็นพื้นที่ในเมืองที่มีพื้นที่ว่างสาธารณะน้อย ตามหลักการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยอัตราส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม (Open Space Ratio : OSR) โดยอาจเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวบนที่ดินของเอกชนในบริเวณที่มีความหนาแน่นของเขตกรุงเทพฯ ชั้นในและชั้นกลาง พื้นที่ขนาดไม่ใหญ่ที่มักจะล้อมอาคารอยู่ เป็นพื้นที่ที่มีการเข้าถึงได้อย่างจำกัด ตามที่เอกชนเจ้าของที่ดิน มีการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมอย่างสวยงาม และได้รับการดูแลอย่างดู หากพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ มีปัจจัยข้างต้นนี้ จะช่วยให้คะแนนด้าน OSR เยอะขึ้น
การใช้มาตรการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio : FAR Bonus) คือการจัดสรรพื้นที่อาคารพานิชย์ให้มีพื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น โดยเอกชนทำเองรัฐไม่ต้องใช้งบประมาณ เป็นโอกาสที่ทำให้มีการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวในบริเวณอาคารสูงหรือเขตที่มีความหนาแน่น
พื้นที่สาธารณะที่เกิดขึ้นจาก FAR Bonus เอกชนสามารถส่งเรื่องพิจารณาโอนพื้นที่สาธารณะหรือสวนสาธารณะตามมาตรการนี้ ไปเป็นสิทธิการพัฒนาของสำนักสวนสาธารณะ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดการบำรุงรักษาดูแลโดยงบประมาณของรัฐ
การปันส่วนที่ดินของหน่วยงานรัฐ เช่น การรถไฟฯ การท่าเรือฯ การทางพิเศษ หน่วยงานทหาร ฯลฯ เป็นหนึ่งในโอกาสที่จะนำมาพัฒนา หากมีการเจรจาหรือสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน แม้จะไม่ใช่พันธกิจของหน่วยงานเจ้าของกรรมสิทธิ์ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับสาธารณะ
อาสา ทองธรรมชาติ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาและฟื้นฟูเมือง สำนักวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ขยายความว่า แผนผังแสดงพื้นที่โล่ง พ.ศ.2556 ชี้ให้เห็นว่า ตอนนี้มีพื้นที่สีเขียวราว 6 ตร.ม. ต่อคน เมื่อเมืองมีการเติบโตมากขึ้น จึงมีมาตรการทางผังเมืองในการควบคุมความหนาแน่นหรือความเข้มข้นของการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ใช้ในกฎกระทรวงผังเมืองรวม กทม. มีแนวทางหลัก 3 เรื่อง คือ
1. การเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR) ซึ่งตอนนี้ กทม. ให้โควต้าในการเพิ่มพื้นที่ได้ไม่เกิด 20% ต่ออัตราการใช้ประโยชน์เดิม เมื่อมีการแบ่งพื้นที่ให้เป็นพื้นที่โล่ง หรือพื้นที่สีเขียวสาธารณะ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของ ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ พ.ศ.2556 ส่วนรายละเอียดจะต้องพิจารณาเกณฑ์จากผังเมืองรวมประกอบด้วย จากการบันทึกข้อมูลพบว่า แนวทาง FAR ทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นแล้วรวม 8.8 ล้าน ตร.ม. และต้นไม้ 79,507 ต้น
2. อัตราส่วนพื้นที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมของแปลงที่ดินที่อาคารตั้งอยู่ต่อพื้นที่ใช้สอยรวมของอาคาร (Open Space Ratio : OSR) และ 3. อัตราส่วนชีวภาพ พื้นที่น้ำซึมผ่านได้เพื่อปลูกต้นไม้ (Biotope Area Factor) เช่น แปลงที่ดิน 1,600 ตร.ม. พื้นที่อาคาร 4,000 ตร.ม. พื้นที่ซึมน้ำได้เพื่อปลูกต้นไม้ ไม่น้อยกว่า 250 ตร.ม. OSR ไม่น้อยกว่า 500 ตร.ม.
ส่วนผังเมืองรวมตาม ร่าง พ.ร.บ.การผังเมือง ฉบับใหม่ ได้มีการให้รายละเอียดในข้อกำหนดว่าให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในแบบ FAR ที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์การเพิ่มพื้นที่โล่งให้กับเมือง
เจ้าของที่ดินสามารถรับบริการคาดการณ์ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผ่านเว็บไซต์ landometer.com รองรับข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ทุกรูปแบบที่ซับซ้อน หลายโฉนด สิ่งปลูกสร้างหลายอาคาร สามารถคาดการณ์ภาษีล่วงหน้า 30 ปี วิเคราะห์มูลค่าการเติบโตของที่ดิน ผลตอบแทนในมิติต่าง เช่น การให้เช่า การเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือวิเคราะห์ว่าถ้าเป็นสวน 15 นาที จะมีผลตอบแทนเท่าไหร่ และเทียบได้กับการทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อที่จะได้วางแผนเรื่องการใช้เงินลงทุน รายได้ ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา ระยะเวลาใช้งานสวน 15 นาที อัตราการเติบโตของมูลค่าที่ดิน และสิทธิประโยชน์อื่น เช่น ภาษีที่ดิน และหากต้องการที่จะเข้าร่วมโครงการสวน 15 นาที สามารถกดฟังก์ชัน ‘เสนอ กทม. พิจารณาแปลง’ ได้ในเว็บไซต์ ทาง UddC จะรวบรวมที่ดินจากทุกข้อเสนอ เพื่อนำส่งให้ กทม. รับช่วงต่อในกระบวนการคัดสรร และพัฒนาต่อไป