ภาคประชาชน ระดมสมองเสนอสร้างทางระบายน้ำหลาก หาพื้นที่ทำบึงแก้มลิงกรุงเทพฯ ตอนบน บูรณาการจังหวัดใกล้เคียง แก้ปัญหาน้ำท่วม แล้ง ซ้ำซาก
วันนี้ (8 ต.ค.65) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภาคีประชาชนการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาน้ำ กลุ่มบึงรับน้ำเพื่อคนกรุงเทพฯ และสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) จัดเสวนาและรับฟัง ข้อเสนอแก้ปัญหาน้ำท่วมต่อผู้ว่าฯ กทม. และรัฐบาล เพื่อให้เกิดการบูรณาการเป็นแผนป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว จากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
วีระพันธุ์ ชินวัตร อุปนายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) กล่าวว่า เรื่องการจัดการน้ำท่วม กทม. ไม่สามารถจัดการเพียงหน่วยงานในพื้นที่ได้เนื่องจากปัญหาน้ำมีความเชื่อมโยงกันในระดับประเทศ โดยข้อเสนอที่เครือข่ายเห็นตรงกันคือข้อเสนอต่อ กทม. ในการแก้ปัญหาน้ำฝนรอการระบายใน จากตอนเหนือ-ตะวันออก ของกทม. ด้วยการจัดการทำบึงแก้มลิงให้มากที่สุด เพื่อช่วยชะลอน้ำฝนให้อยู่ในพื้นที่ชั่วคราวในฤดูฝนก่อนจึงจะสามารถระบายลงไปตามคูคลองที่มี ส่วนระยะยาวเสนอให้มีการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ต้องมีพื้นที่หน่วงน้ำให้มากขึ้น และเป็น Compact City และสนับสนุนการพัฒนา TOD ให้มากขึ้น
สอดคล้องกับ ชวลักษณ์ เวียงวิเศษ กลุ่มบึงรับน้ำเพื่อคนกรุงเทพ กล่าวว่า ตนเองอยู่ในพื้นที่คลองคู้บอน เขตคันนายาว ซึ่งในปี 2554 พื้นที่ได้รับผลกระทบหนัก หลังจากนั้นสำนักการระบายน้ำ ริเริ่มโครงการแก้มลิงเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการจัดหาพื้นที่ทำแก้มลิงเพื่อรับน้ำฝั่งตะวันออกของ กทม. จำนวน 6 แห่ง แต่ได้เงียบหายไปทางกลุ่มได้ทวงถามความคืบหน้า ตั้งแต่ปี 2562 – ปัจจุบัน ตนมองว่าข้อเท็จจริงที่ กทม.เป็นพื้นที่ต่ำ บางจุดโดยเฉพาะตะวันออก เขตคลองสามวา คันนายาว อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล แต่ที่ผ่านมาไม่มีแผนป้องกันในฝั่งนี้ ต่างจาก กทม.ชั้นใน อีกปัญหาคือเมืองกำลังขยายไปยังฝั่งตะวันออกมาขึ้น ถ้าไม่มีการวางระบบที่ดีต่อไปปีละ 6 เดือนคน กทม.อาจจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับปัญหาน้ำท่วม
“เราอยากเรียกร้องให้ช่วยจัดหาพื้นที่เป็นบึงรับน้ำจากน้ำเหนือของ กทม. เพื่อรองรับน้ำฝน เมื่อระดับน้ำในลำคลอง ทะเลลดลงจึงระบายออก เป็นโครงการระยะสั้นที่สามารถทำได้ทันที มี 6 พื้นที่ได้มีการสำรวจ ทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว ซึ่งคลองคู้บอน บางชัน ไม่มีประชาชนในพื้นที่คัดค้าน อย่างน้อยจะช่วยชะลอ ลดปัญหาในพื้นที่ คลองสามวา คันนายาว รามอินทราได้ นี่จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ แต่จะเป็นบึงซับน้ำบรรเทาปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ”
ชวลักษณ์ เวียงวิเศษ
ด้าน พงศ์พรหม ยามะรัต ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำฝนในแต่ละครั้งมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า ช่วงน้ำหลากจะไหลเทมาที่ กทม. แต่ช่วงแล้งไม่มีน้ำเพราะตั้งแต่ตอนเหนือป่าต้นน้ำถูกทำลายส่วนนี้เป็นปัญหาที่การจัดการเมืองจึงต้องย้อนกลับมาที่หน้าที่ของประชาชนว่า เรากำลังเจอกับปัญหาโลกร้อน ความแปรปรวน ต่อเนื่องอย่างต่ำ 50 ปี และจะเหลือเวลาเตรียมตัวถึง พ.ศ.2573 เท่านั้น รัฐ เอกชน ภาคประชาชน จึงต้องจับมือกันในการศึกษา สร้างนวัตกรรม ตรงไหนเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ เหมาะสมเวรคืนได้ นำมาทำหลุมขนมครกก่อนอย่างน้อยตกลงชั่วคราว 20-30 ปี
“ปัญหานี้ผู้ว่าฯ อัศวิน ไม่ได้ก่อ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ไม่ได้ก่อ เรากำลังเจอกับปริมาณน้ำฝนที่ตกคูณ 3 กลับกันใน 2-3 ปีข้างหน้า เราจะเจอน้ำฝนตกต่ำกว่าเกณฑ์ แล้งไม่มีน้ำใช้ แต่ถ้ามีแก้มลิงเราได้รองไว้ใช้ ฝนลงมามีที่พักน้ำ โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนน้ำจากเกษตรกร อย่างปทุมธานี นี่เป็นเรื่องที่ต้องบูรณาการในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นไปถึงจังหวัดใกล้เคียง”
พงศ์พรหม ยามะรัต
ส่วนข้อเสนอนโยบายระยะยาว ภายใต้แนวคิด “อยู่กับน้ำ” วีระพันธุ์ เสนอว่า ผังเมืองต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศ ไม่ขวางทางน้ำ ต้องมีการปลูกป่าไม้เบญจพรรณ เพิ่มในพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีการเพิ่มบึงแก้มลิง ในพื้นที่ กทม.และเมืองหลัก มีพื้นที่รองรับน้ำหลาก (Flood way) และเขตน้ำหลาก (Flood zone) มีการปรับปรุงสถาปัตยกรรมให้เหมาะสมกับทางน้ำ รวมถึงการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่อื่น สร้างเมืองใหม่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสำหรับการเกษต และในส่วนของรัฐบาล ควรผลักดัน Flood way ด้านตะวันออกและตะวันตกของ กทม. เพื่อให้เกิดการระบายน้ำจากตอนเหนือของ กทม. ลงสู่อ่าวไทย ในพื้นที่วงแหวนรอบที่ 3 ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาปรับแบบและก่อสร้างอีกระยะหนึ่ง แต่ต้องเร็วที่สุด
ธวัชชัย แก้วคงคา ตัวแทนภาคประชาชน จ.นครปฐม กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2485 ถึงวันนี้ 80 ปี เรายังแก้ปัญหาน้ำไม่ได้ทั้งระบบ วิกฤตใหญ่ 8 ครั้ง คนนครปฐมได้รับความเสียหายหนัก ปัญหามาจากคลองหลักในการระบายน้ำมีปัญหา พื้นที่ระบายน้ำความจุของลำน้ำเจ้าพระยารับได้ 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที ฝั่งตะวันตก 400 ลบ.ม.ต่อวินาที ฝั่งขวา 200 ลบ.ม.ต่อวินาที รวมกันได้ประมาณ 3,400 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ในปี 2554 น้ำมีปริมาณมากถึง 4,700 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ระบายได้ไม่ทัน จึงเสนอว่าในระยะยาวอยากเห็นการทำลำน้ำเส้นใหม่ จากจ.ชัยนาทลงมาถึงทะเล ในรูปแบบเส้นตรงหรือเส้นโค้ง จะช่วยระบายน้ำได้อีก 2,500-3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เสริมการระบายทำให้ กทม. และภาคกลางไม่ได้รับผลกระทบ หากระหว่างเส้นทางมีอ่างเก็บน้ำหรือแก้มลิงจะช่วยเก็บน้ำได้ด้วย ลดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากโดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรกรรม
ทั้งนี้ ภาคประชาชน ได้สรุปข้อเสนอไว้ดังนี้
ข้อเสนอ กทม.
1. การจัดหาและจัดทำบึงแก้มลิงให้มากที่สุดในการแก้ปัญหาน้ำฝนรอการระบายใน กทม. จากตอนเหนือ-ตะวันออก กทม.ด้วย เพื่อช่วยชะลอน้ำฝนให้อยู่ในพื้นที่ชั่วคราวในฤดูฝนก่อนจะสามารถระบายลงไปตามคูคลองที่มี
2. ประสานผู้ว่าฯ จังหวัดปริมณฑลตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร เพื่อการประสานงานแก้ปัญหาน้ำท่วม และระบายอย่างต่อเนื่อง และจัดทำบึงแก้มลิงในจังหวัดตอนบนกรุงเทพฯ ให้ได้มากที่สุด
ข้อเสนอรัฐบาล
1.เร่งรัดให้มีการบูรณาการให้มี FLOODWAY ความจุไม่ต่ำกว่า 800 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งสองด้านของวงแหวนรอบที่ 3 ให้ได้เร็วที่สุด เพื่อช่วยแบ่งการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาออกไปอย่างน้อย 1,600 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อให้แม่น้ำเจ้าพระยาระบายน้ำจากตอนบนและสองฟากฝั่งตอนล่าง กทม.ชั้นในและปริมณฑลลง
2.ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อศึกษาโครงการแก้มลิงในทะเล (ตามข้อเสนอของ วีระพันธุ์ ชินวัตร และคณะ) เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการจัดทำโครงการแก้มลิงในทะเล เพื่อป้องกันน้ำท่วม กทม.และปริมณฑลในระยะยาว (อีก 20 ปีข้างหน้า) และตัดสินเริ่มโครงการให้เร็วที่สุด
3.ขอให้เร่งรัดและบังคับใช้กฎหมายตามพรฎ. บูรณาการฯ 2 ฉบับ เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐแก้ปัญหาน้ำร่วมกัน
ขณะที่บรรยากาศการเสวนา มีตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ตัวแทนพรรคการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาชน ร่วมให้ข้อเสนอเพิ่มเติม เช่น การประกาศใช้โครงการจัดทำผังน้ำให้พื้นที่ระบุเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ที่ดินทำอะไรต้องไม่ขวางทางน้ำ เสนอให้บังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคาร เช่น กำหนดการใช้ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างต้องมีแหล่งซับน้ำ รวมถึงการจำกัด คัดแยกขยะ มีบ่อดักไขมัน ลดการใช้พลังงาน มีแก้มลิงในบ้าน เช่น ตุ่มน้ำ ขุดลอกท่ออย่างต่อเนื่องก่อนที่จะเข้าหน้าฝน จัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำทางน้ำ เพิ่มระบบพยากรณ์ แจ้งเตือนประชาชน บูรณาการร่วมกับจังหวัดใกล้เคียง และการทวงคืนผืนป่าในภาครัฐและเอกชนเพื่อการปลูกต้นไม้สร้างเป็นแหล่งซับน้ำ ซึ่งเครือข่ายจำนำข้อเสนอเหล่านี้กลับไปพิจารณาร่วมกัน ก่อนยื่นเป็นข้อเสนอถึง ผู้ว่าฯ กทม. และรัฐบาล