‘สวนป่าสักศึกษา’ ความหลากหลายทางชีวภาพ กลางกรุง

we!park ชู สวนป่าสัก 2 ไร่ ซ.วิภาวดี 5 พื้นที่เรียนรู้คนเมือง กทม. ผลักดันเป็น 1 ใน 11 ‘สวน 15 นาที’ นำร่อง สร้างโมเดลการมีส่วนร่วมจัดการ ที่มากกว่าพื้นที่สีเขียว ขับเคลื่อนสู่เมืองน่าอยู่

วันนี้ (30 ต.ค.65) we!park กรุงเทพมหานคร มูลนิธิโลกสีเขียว The Active และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดเสวนาหัวข้อ ‘สวนและระบบนิเวศในเมือง ผ่านการเรียนรู้ของเยาวชน’ ณ สวนสาธารณะวิภาวดีรังสิต 5 (สวนป่าสัก) ภายใต้โครงการป่าสักศึกษาวิชาพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะในเมืองสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ผ่านการเรียนรู้แบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ผ่านการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เสื่อมโทรมให้เป็นพื้นที่สาธารณะใหม่ ด้วยบทบาทการเชื่อมต่อธรรมชาติในเมืองที่รองรับการใช้งานของคนในย่าน โดยมีประชาชนในพื้นที่เข้ามาร่วมรับฟังและให้ข้อเสนอแนะ

พิมพิสุทธิ์ โพธิกุล เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการป่าสักศึกษา เล่าว่า ภายในสวนแห่งนี้มีต้นสักมากมาย เป็นซิกเนเจอร์ที่ต้องคงไว้ ส่วนที่ควรปรับปรุงคือพื้นที่ทางเดิน ให้มีแสงไฟมากขึ้น หากมีสิ่งก่อสร้างไม่จำเป็นก็รื้อถอนออกไป โปรแกรมที่อยากนำเสนอ จะมีทั้งลานออกกำลังกาย เช่น สเกตบอร์ด เส้นทางวิ่ง สร้างโปรแกรมการเรียนรู้ เช่น ศึกษาต้นไม้ ทำป้ายสัญลักษณ์อธิบายเพื่อให้เห็นว่ามีอะไรบ้างในแต่ละจุด มีทั้งต้นชมพู่ เห็ดนิ้วมือคนตาย ต้นกระเจี๊ยบ หรือต้นไม้บางต้นที่จะเกิดเฉพาะพื้นที่ที่มีความชื้นเท่านั้น บ่งบอกว่าบางจุดเป็นพื้นที่รับน้ำ บางช่วงเวลามีน้ำท่วมขัง

“ด้วยความที่เราโตในกรุงเทพฯ เราก็จะเห็นว่ามีแต่คอนกรีต พอเรามาดูจริง ๆ ทำให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรามีมากกว่านั้น พอเรามาเจอกับวิทยากรให้ความรู้เรื่องธรรมชาติ ทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น ปรับเปลี่ยนมุมมองให้หลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้รู้ว่าต้นไม้มีประโยชน์ ซึ่งบางครั้งการที่เราไปสร้างสิ่งก่อสร้างบางอย่าง อาจกระทบการเติบโตของต้นไม้ หรือทำให้มันตาย เป็นสิ่งที่ต้องไปคิดต่อว่าเราจะทำยังไงที่ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ และธรรมชาติไม่เบียบเบียนเรา ต้องปรับความคิดให้อยู่ร่วมกันได้ทั้งธรรมชาติและมนุษย์”

พิมพิสุทธิ์ โพธิกุล

ธนัชพร เพ็งปัญจ่า เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการป่าสักศึกษา สะท้อนว่า หลังจากได้เข้ากิจกรรมป่าสักศึกษา ทำให้รู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น และอยากจะไปเที่ยวสวน ไปเที่ยวป่ามากขึ้นกว่าเดิม ได้ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ แค่ได้ลองฟังเสียงก็ทำให้ได้รู้จัก เมื่อได้ความรู้ก็แยกแยะได้ ว่าเสียงนกอะไรจากเดิมที่คิดว่ามีแต่นกพิราบ นกเอี้ยงอย่างเดียว

“ประทับใจที่ตัวเองได้มีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นและทำให้สวนนี้พัฒนามากขึ้นจากกิจกรรมที่จัดทำขึ้น ชอบที่ได้ปลูกต้นไม้ ชอบที่ได้วิ่งเล่นในสวน ก่อนหน้านี้ถ้าว่างก็นอนอยู่บ้านเฉยๆ แต่พอได้เข้าร่วมโครงการทำให้รู้สึกอยากไปใช้ชีวิตข้างนอก อยากอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น ในอนาคตคิดว่าจะกลับมาร่วมกิจกรรมอีก อยากมาดูการเปลี่ยนแปลง อยากรู้ว่าจะพัฒนาเป็นอย่างไร เพราะอยู่ใกล้กับบ้านและโรงเรียน อยากขอให้ทุกคนช่วยกันดูแลรักษาสวนนี้จะได้น่าอยู่สวนงามและสมบูรณ์”

ธนัชพร เพ็งปัญจ่า

ส่วน อธิปัตย์ อู่ศิลปกิจ เล่าว่า ที่นี่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก หากได้ลองฟังเสียงของสัตว์ต่าง ๆ จะทราบว่าแต่ละช่วงเวลาก็จะเสียงที่ต่างกัน หมายความว่าสัตว์น้อยใหญ่ต่างผลัดกันออกมาใช้ชีวิตตามช่วงเวลาต่าง ๆ แค่เฉพาะนก จากการสังเกตเบื้องต้นคาดว่ามีราว ๆ 30 สายพันธุ์ รวมถึงงูที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับป่าหรือสวนที่มีต้นไม้ใหญ่ จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจกับชุมชนโดยรอบถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะที่จุดเด่นด้านต้นไม้ ก็คือต้นสักที่พบว่ามีเยอะมาก และต้นไม้ชนิดอื่น ๆ ที่แทรกกันอยู่ นอกจากนั้นที่นี่ยังมีลักษณะของการเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีน้ำขัง ทำให้สัตว์สามารถวางไข่ และเติบโตเป็นแมลงปีกแข็งชนิดต่างๆ

“เดิมกรุงเทพฯ มีป่ามาก่อนเมื่อก่อนจึงมีสัตว์เยอะมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีชุมชนอยู่เยอะขึ้น อาคารบ้านเรือนเยอะขึ้น พื้นที่ว่างจึงมีน้อยลง พื้นที่ไหนที่ยังคงสภาพความอุดมสมบูรณ์อย่างสวนป่าสักแห่งนี้ จึงกลายเป็นที่รวมของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นงู กบ นก แมลงต่างๆ การมีพื้นที่แบบนี้อยู่จึงควรเก็บไว้”

อธิปัตย์ อู่ศิลปกิจ

ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้ง we!park เสริมว่า ความอุดมสมบูรณ์ในเชิงพื้นที่ ทำให้ที่นี่มีศักยภาพในการเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านนิเวศวิทยาของเมือง เป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาพื้นที่สาธารณสีเขียวพร้อม ๆ กับการเป็น lerning space ให้ทุกที่เรียนรู้ได้ไม่ใช่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น น่าตื่นเต้นว่าต่อไปนี้ผู้คนเห็นสวนที่ไหนอาจจะไม่ได้มองว่าเป็นแค่พื้นที่สีเขียว แต่เป็นอีกพื้นที่ทำกิจกรรมที่หลากหลายของคนในเมือง และน้อง ๆ เยาวชนรุ่นใหม่ที่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมป่าสักศึกษา ก็จะเป็นหนึ่งในพลังสำคัญที่จะร่วมขับเคลื่อนให้เมืองน่าอยู่มากขึ้นต่อไป

“การเปิดพื้นที่เรียนรู้ นำเสนอโอกาส ไอเดียใหม่ๆ ในครั้งนี้เป็นครั้งแรก ยังต้องมีการจัดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นอีกหลายครั้งเพื่อให้ได้ข้อเสนอที่จะตอบโจทย์ความต้องการของคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรอบมากที่สุด และจะมีการทำแผนออกแบบอีกครั้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จอละส่งถึง กรุงเทพมหานครในปีหน้า”

ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้ง we!park

ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า สำนักงานเขตจตุจักร เล็งเห็นความสำคัญว่าจะมาร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่สีเขียว และจะเป็น 1 ใน 11 สวนนำร่องโครงการ สวน 15 นาที ที่จะเป็นโมเดลให้กับสวนอื่น ๆ โดยความท้าทายคือต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ฟื้นฟูดูแลรักษาระยะยาว ซึ่งกิจกรรมป่าสักศึกษาทำให้เห็นโอกาสการพัฒนา และประโยชน์ที่จะได้จากสวนนี้มากมาย ทั้งเรื่องของการดูแลสวน การสร้างพื้นที่เรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการขยะ การมีส่วนร่วมภาคประชาชน ซึ่งไม่ใช่แค่สร้างแต่รวมถึงการรักษาดูแลการบริหารจัดการในอนาคต เรียกว่าพื้นที่เดียวแต่ทำได้หลายโปรเจคส์ของ กทม.

“เรื่องของกระบวนการมีส่วนร่วมคือหัวใจสำคัญ เพราะจุดอ่อนของ กทม. คือเราทำหลายเรื่องพร้อม ๆ กันมาก ๆ ท่านผู้ว่าฯ มี 216 นโยบาย เรามีเรื่องตั้งแต่คนทะเลาะกัน น้ำท่วม ไฟฟ้าลัดวงจร จนไปถึงเรื่องสร้างสรรค์การสร้างพื้นที่มีชีวิต ผมว่า กทม.ไม่สามารถทำทุกอย่างได้ในทันที จึงจำเป็นที่จะต้องมีความร่วมมือของภาคเอกชน ภาคประชาสังคมมาร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องระยะยาวด้วย เช่น จะเห็นว่าพื้นที่ กทม.ใหญ่มากหลายพื้นที่สร้างแล้วแต่รกร้างไม่มีชีวิตเพราะเราไม่ได้ร่วมมือแต่แรก เมื่อเราเร่ิมแล้วจึงต้องไม่จบวันเดียวต้องต่อยอดการดูแลร่วมกัน จัดกิจกรรมร่วมกัน ดนตรี ปิกนิค ฯลฯ มาทำกิจกรรมร่วมกันในสวนไหม”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active