“คลองเป้ง” พื้นที่สาธารณะสีเขียวแห่งใหม่ เชื่อมต่อเส้นทางการเดินเท้า เขตทองหล่อ-เอกมัย ตามนโยบายสวน 15 นาที ลดมลพิษ-แก้ปัญหารถติด-เพิ่มที่พักผ่อนใจกลางเมือง
วันนี้ (11 ก.พ. 2566) กลุ่ม we!park สำนักงานเขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร UddC และภาคี ร่วมจัดงาน Green Hacker พลิกที่ร้างสร้างเมืองให้เจ๋งเป้ง ภายใต้งานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ bangkok design week ณ สวนวัฒนา pocket park โดยมีการนำเสนอนิทรรศการการออกแบบ mock-up park จากนิสิตภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเสวนาแนวทางการพัฒนาคูคลอง สู่การเป็นพื้นที่สาธารณะ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่ริมคลองเป้ง
ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม we!park กล่าวว่า นิทรรศการคลองเป้งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยมีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ จนกลายมาเป็น mock-up park ในงาน bangkok design week ซึ่งเป็นโอกาสที่เราจะได้ทดลองดูว่าแนวคิดการออกแบบเบื้องต้น กับการทดลองใช้เป็นอย่างไร ต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติมอะไรบ้าง จากการรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องและจะนำไปพัฒนาต่อให้ดีมากขึ้น
“ทุกคนเห็นตรงกันว่ามันเป็นทางเชื่อมต่อพื้นที่สำคัญได้ แต่อย่างแรกต้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ สร้างความปลอดภัยให้คนอยากเข้ามาใช้มาผ่าน เพราะเป็นทางลัดของย่านจริง ๆ ต้องทำให้น่าเดินก่อน แล้วต่อไปก็จะเพิ่มเติมกิจกรรมต่าง ๆ ได้… โครงการนี้นอกจากจะเปิดพื้นที่ใช้พื้นที่แล้ว ยังเป็นการทดลองสร้างความร่วมมือของหลายฝ่าย เป็นโอกาสที่เราจะได้เห็นว่าการร่วมลงทุนในพื้นที่ร้างสามารถเป็นไปได้และน่าจะเป็นโอกาสของพื้นที่ร้างแห่งอื่น ๆ ของเมืองด้วย”
อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการ ศูนย์การออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ประสิทธิภาพการเดินทางของทองหล่อ-เอกมัย ตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่แล้วถึงวันนี้ แทบไม่ต่างกันมาก เพราะไม่มีมีการตัดถนนใหม่ ถนนทองหล่อ-เอกมัยที่มีระยะทางยาวเกือบ 2 กิโลเมตร จากสุขุมวิท ถึงเพชรบุรี แต่มีเพียงแค่ 2 ซอยเท่านั้นที่เชื่อมกันได้ คือทองหล่อ 10 และเอกมัย 19 ดังนั้นโอกาสของการมีเส้นทางเชื่อมต่อใหม่อย่างคลองเป้งจึงสำคัญ ต้องทำให้พื้นที่นี้สามารถเข้าถึงได้ ทุกคนรับรู้ว่าสามารถผ่านได้ แม้ในด้านในคลองเป้งเองก็มีการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะทำให้การเข้าถึงเดินผ่านค่อนข้างลำบาก และกลายเป็นจุดอับที่อยู่ด้านใน
“เราเสนอในแผนกรุงเทพฯ 250 ว่าถ้ามันมีการเชื่อม โยงเส้นทาง โดยเฉพาะคลองเป้ง จะเห็นได้ว่ามีศักยภาพมาก สามารถเชื่อมได้ตั้งแต่สวนป่าเอกมัย ถึงทองหล่อ 10 เป็นชอร์ตคัท และถ้าเปิดเชื่อม เอกมัยซอย 15 เอกมัย 19 สน.ทองหล่อ แม้ว่าจะเป็นแค่การเดินเท้าก็จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ตามมาเอง ดังนั้นแค่มีการเปิดเส้นทางที่เดินเชื่อมได้ก็จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของเมือง”
อดิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.ยังมีพื้นที่รกร้างอีกมาก ทั้งใต้ทางด่วนหรือพื้นที่ริมน้ำที่ยังไม่ถูกใช้งาน หากสามารถพลิกฟื้นให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวได้ทั้งหมด อาจจะไม่ต้องมีขนาดใหญ่มากแต่สามารถเข้าถึงได้ ช่วยผ่อนคลายสบายอารมณ์ก็จะช่วยเปลี่ยนอารมณ์ของคนเมืองจากเดิมได้เลย การพัฒนาคลองเป้งครั้งนี้จึงเป็นโอกาสและเป็นนิมิตรหมายอันดีที่เราจะสามารถทำให้เมืองเดินได้เดินดี ถนนสวยงาม และยังตอบโจทย์แนวทางการพัฒนาของกรุงเทพมหานคร
พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เขตวัฒนาไม่มีสวนสาธารณะใหญ่ที่สำนักสิ่งแวดล้อมดูแล แต่ตอนนี้สำนักเขตวัฒนาได้เฟ้นหาพื้นที่และพยายามจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวแล้วทั้งส่วนของสวนวัฒนา pocket park และสวนป่าเอกมัย ริมคลองแสนแสบ และอีก 2-3 ที่ ที่สำนักงานเขตกำลังสำรวจเพิ่มเติมด้วย ซึ่งพื้นที่สีเขียวมีประโยชน์ได้หลายอย่างไม่ใช่แค่พื้นที่สีเขียวอย่างเดียว แต่ต้นไม้ยังช่วยดูดซับน้ำฝน ลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก
สำหรับพื้นที่คลองเป้งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม สอดรับกับนโยบายสวน 15 นาที และนโยบายต้นไม้ล้านต้นของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องที่ต้องดูแลบางจุด สำคัญที่สุดคือความปลอดภัย ดังนั้นจึงต้องทำให้คนเดินเท้าเข้ามาแล้วรู้สึกปลอดภัย รู้ว่าจะสามารถเดินไปยังจุดไหนได้บ้าง จำเป็นต้องช่วยกันคิดต่อ
“ในส่วนของทางเดินถ้าเป็นไปได้ก็ต้องมีรั้วหรือตะแกรงที่ทำให้ทางเดินกว้างขึ้น สองเรื่องไฟต้องติดตั้งเพิ่ม สามต้องสื่อสารกับคนที่มาที่นี่ว่าเดินไปสุดแล้วเขาจะเจออะไรบ้าง มันไม่ใช่ทางตัน ต้องมีเรื่องแผนที่มาร์คจุดชัดเจน เพื่อเป้าหมายหลักคือการเชื่อมโยงพื้นที่ทองหล่อ เอกมัย สามารถเดินไปซอยต่าง ๆ ได้ต้องมีการประชาสัมพันธ์และหาว่าจะมีทางไหนที่เปิดประตูเพิ่มได้บ้าง และเมื่อคนเข้าได้หลายทิศทางก็จะทำให้คนเข้าถึงง่ายสะดวกมากขึ้น… สี่เรื่องของคลองเป้ง คลองทางหนึ่งตัน แต่อีกทางเชื่อมกับคลองแสนแสบ น้ำสามารถไหลเวียนได้กำลังพูดคุยกันว่าอาจจะมีแนวทางบำบัดน้ำเสีย จากพืชหรือชีวภาพ”
ผศ.สักรินทร์ แซ่ภู่ หัวหน้าโครงการ Hackable City จาก UCIA: : Urban And Community Interactive Action กล่าวว่า เราเชื่อว่าเมืองมันจะโตได้ด้วยฐานของประสบการณ์ของผู้คนในเมือง ดังนั้นจึงต้องอาศัยการพูดคุยเพื่อให้เกิดทางเลือกที่ดีที่สุดในการวางแผนพัฒนา และโครงสร้างทั้งหมดที่มีไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมาย การจัดการ งบประมาณล้วนมีช่องว่าง แต่คำถามสำคัญคือเราจะทำอย่างไรที่จะพยายามหาทางออก โดยประสบการณ์ของทุกคนร่วมด้วย ให้พื้นที่สาธารณะหรือสวนสาธารณะโตไปกับความคิดของคน ซึ่งวิธีการพัฒนาเมืองสมัยใหม่
“เราทำงานกับ 6 เมือง เหนือ อีสาน ใต้ พบว่าความเป็นพลเมืองตื่นตัวในหลายพื้นที่ พวกเขาคิดว่าบางเรื่องไม่รอดีกว่า เพราะการรอส่วนกลางอาจจะต้องรอทั้งชีวิต แต่ประชาชนหลายจังหวัดเริ่มทำเอง และเริ่มคิดว่าสวนสาธารณะควรเป็นบริการพื้นฐานมันจะเปลี่ยน และมีวิธีการจัดการใหม่ ๆ ในพื้นฐานของธุรกิจเพื่อสังคม โลกตอนนี้พูดเริ่มการระดมทุนเยอะขึ้น ซึ่งระดมได้หลายอย่างทั้งเงินทุน แรงงาน ฯลฯ อะไรที่เราทำได้ก่อนเราก็ทำ”