10 สำนักงานเขต ประลองไอเดียสร้างสรรค์ เปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียว-สุขภาวะของเมือง ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่
วันนี้ (10 มี.ค. 66) กลุ่ม we!park สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และภาคี ร่วมจัดกิจกรรมการนำเสนอผลงานการพัฒนาสวน 15 นาที กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ ประกอบด้วย เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตคลองเตย เขตวัฒนา เขตพระโขนง เขตสวนหลวง เขตบางนา ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ เพื่อการพัฒนาสวน 15 นาที ผ่านการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Park Coaching & Park Clinic) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ดังนี้
สำนักงานเขตวัฒนา นำเสนอแนวคิด 39 Pocket Park พื้นที่ 365 ตารางเมตร บริเวณริมคลองแสนแสบ ซอยสุขุมวิท 39 เขตคลองตันเหนือ เขตวัฒนา ศักยภาพเป็นเส้นทางสัญจรทางเรือ เป็นเส้นทางวิ่งออกกำลังกาย และเป็นจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่สวน pocket park แห่งเดิมของเขต โดยการสำรวจพบว่ากลุ่มผู้ใช้งาน มีทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ มีความต้องการสนามเด็กเล่น พื้นที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง มุมพักผ่อน และมุมสงบ จึงออกแบบให้มี ทั้งสวนที่เป็นสวน สวนหย่อม ต้นไม้ที่ใช้ยังคงไว้ต้นไม้เดิม และเพิ่มไม้ดอกเพื่อความสวยงาม เช่น พุดซ้อน สร้อยอินทนิล โดยการบริหารจัดการพื้นที่ จะเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานเขต ชุมชนเพื่อรักษา ดูแล ร่วมกันอย่างยั่งยืน
สำนักงานเขตยานนาวา นำเสนอแนวคิด สวนโปร่งวัดดอกไม้ เขตยานนาวา บนพื้นที่ราว 100 ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์เอกชนเข้าร่วมโครงการ มอบให้กรุงเทพมหานครบริหารจัดการดูแล 7 ปี บริเวณโดยรวมประกอบด้วย ตลอด โรงเรียน วัด และชุมชน ลักษณะของพื้นที่เดิมเป็นอาคารพักอาศัยขนาดยาว และรื้อย้ายในภายหลัง มีสิ่งปลูกสร้างบางส่วนคงค้าง เมื่อสอบถามความคิดเห็นจากชุมชนพบว่า ชุมชนต้องการพื้นที่พักพ่อน สนามเด็กเล่น และพื้นที่ออกกำลังกาย การออกแบบจึงมีส่วนที่เป็นพื้นที่สีเขียว ส่วนของพืชพันธ์ุที่เลือกปลูกจะเน้นต้นไม้ที่ให้ความโปร่งโล่งสบาย เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพ กระทบต่อที่ดินข้างเคียง มีการจัดสรรพื้นที่ปลูกผักสวนครัว และพื้นที่ออกกำลังกาย ด้านพลังงานใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสร้างความสว่าง และมีรั้วรอบขอบชิดสร้างปลอดภัยให้กับผู้เข้าใช้บริการ
สำนักงานเขตสวนหลวง นำเสนอแนวคิด สวนแบ่งปัน sharing garden ‘ความสุขที่แบ่งปันกันก็จะเพิ่มเป็นสองเท่า’ บนพื้นที่ 4.2 ไร่ (7,308 ตร.ม.) ในหมู่บ้านมิตรภาพ 1 ซอยอ่อนนุช 46 ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ว่างสาธารณะประโยชน์ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตสวนหลวงอยู่แล้ว เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เป็นพื้นที่รับน้ำ (แก้มลิง) สามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้ โดยการปรับพื้นที่ให้เป็นพื้นที่เดินเล่นพักผ่อน ปลูกพรรณไม้ดอกสวนงาม ซึ่งคณะกรรมการให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าควรเก็บพื้นที่ธรรมชาติดั้งเดิมเอาไว้ แต่ปรับบางสวนให้เป็นสวน ในกรอบคิดสวนป่า และออกแบบให้เห็นความแตกต่างระหว่างสวนสาธารณะกับความเป็นสวนของชุมชนหมู่บ้าน
สำนักงานเขตปทุมวัน นำเสนอแนวคิด การพัฒนาทางเดินริมคลองแสนแสบ ที่บริเวณเชิงสะพานชิดลม แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ขนาดพื้นที่ 109 ตารางวา ห้อมล้อมด้วยห้องสรรพสินค้า อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และขนส่งมวลชน สามารถเข้าถึงหลายช่องทาง แต่เดิมมีความเสื่อมโทรม จึงเห็นโอกาสที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมือง สถานที่ถ่ายรูป ชมศิลปะ street art มีพื้นที่ออกกำลังกาย และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการเดินทาง ทั้งรถไฟฟ้าและทางเรือ มีแผนที่จะทำสถานที่พักผ่อน จุกพักคอย สวนเด็กเล็ก สวนแนวตั้ง ทางเดินทางวิ่งของคนเมือง โดยคณะกรรมการเล็งเห็นว่าควรออกแบบกิจกรรมร่วมด้วย เช่นการทำงานร่วมกับนักออกแบบ ศิลปิน และเป็นพื้นที่แสดงงานศิลป์แบบหมุนเวียน เพื่อให้พื้นที่มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง
สำนักงานเขตพระโขนง นำเสนอแนวคิดการปรับพื้นที่ลานจอดรถยนต์ของวัดธรรมมงคล ขนาดราว 45×60 เมตร บริเวณโดยรอบประกอบด้วย ชุมชน โรงเรียน และวัด ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ใช้ประโยชน์พื้นที่ในอนาคต โดยตั้งใจแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาจัดทำสวน 15 นาที เป็นพื้นที่สำหรับเด็ก พื้นที่ลานกิจกรรม พื้นที่อเนกประสงค์ พื้นที่สำหรับพักผ่อน วางแผนทำงานร่วมกับชุมชนโดยรอบทั้ง 44 แห่ง จัดกิจกรรมหมุนเวียนของดีแต่ละชุมชน เช่น จัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาชุมชน ร้านขายของ การแสดงดนตรีเยาวชน กิจกรรมของผู้สูงอายุ ให้ชุมชนได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วมกัน
สำนักงานเขตบางรัก นำเสนอแนวคิด สวนแนวตั้ง หรือสวนลอยฟ้า เนื่องจากขาดแคลนพื้นที่ว่างเปล่า เช่น ในบริเวณพื้นที่สะพานลอย จุดรอรถขนส่งสาธารณะ และบริเวณสวนหย่อม แยกสามย่าน ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่สีเขียวอยู่แล้ว แต่จะทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ทั้งนี้การใช้พลังงานทางเลือกเพื่อให้แสงสว่างในพื้นที่ โดยคณะกรรมการแนะนำว่าควรคำนึงถึงการเชื่อมโยงเส้นทางเดินเท้ากับจุดอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้เป็นเมืองเดินสะดวก เช่น เชื่อมต่อกับสามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งได้ทำไว้ดีอยู่แล้ว เหมาะกับการพัฒนาต่อยอด
สำนักงานเขตสาทร นำเสนอแนวคิด Moon Light Park หรือ สวนหย่อมข้าวตลาดแสงจันทร์ เขตสาทร ขนาดพื้นที่ 1.11 ไร่ เดิมเป็นพื้นที่รกร้าง กรรมสิทธิ์เอกชน มอบให้กับกรุงเทพมหานครบริหารจัดการ 7 ปี โดยพื้นที่มีชุมชนอยู่โดยรอบ เล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาเป็น open space หรือพื้นที่เปิดสาธารณะ โดยมีพื้นที่ลานพื้นแข็ง สนามเด็กเล่น สนามหญ้าเพื่อสร้างความน่าสนใจดึงดูดผู้ใช้งาน สร้างกิจกรรมให้มีชีวิตชีวา ลดปัญหาแหล่งมั่วสุมในชุมชน วางแผนติดตั้งเครื่องออกกำลังกาย โต๊ะ ม้านั่ง เส้นทางวิ่ง จัดทำลานออกกำลังกายกลางแจ้ง ลานอเนกประสงค์ ห้องน้ำรองรับในสวน จัดทำสวนพฤกษศาสตร์ บ่อทราย เครื่องเล่นของเด็ก ให้สามารถใช้งานได้ทุกวัย
สำนักงานเขตบางนา นำเสนอพื้นที่ใต้ทางยกระดับ บริเวณจุดกลับรถ ถนนเทพรักษ์ สี่แยกบางนา โดยมีแผนพัฒนาจากพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่บริการสาธารณะ ประกอบด้วย จุดนั่งเล่น พักผ่อน สนามเด็กเล็ก เครื่องออกกำลังกาย ลานกิจกรรมอเนกประสงค์ เลนปั่นจักรยาน พร้อมให้บริการเช่ายืมจักรยาน บริหารอาหารเครื่องดื่ม ที่จอดรถ ห้องน้ำ ทั้งนี้กรรมการสะท้อนความกังวลเรื่องการเข้าถึงและใช้งานพื้นที่ เนื่องจากเป็นจุดตัดถนนใหญ่ และเป็นพื้นที่ในร่มอาจไม่เหมาะกับการปลูกต้นไม้
สำนักงานเขตคลองเตย นำเสนอแนวคิด สวนสาธารณะ ชุมชนเกาะกลาง บนพื้นที่กรรมสิทธิ์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตใช้พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ขนาดพื้นที่ราว 2 ไร่ พื้นที่โครงการติดกับลำน้ำสาธารณะ จึงใช้แนวคิดเกี่ยวกับหยดน้ำ เสมือนเวลาน้ำหยดลงสู่แม่น้ำ ทำให้เกิดคลื่นกระจายออกเป็นวงกลม โดยใช้ลักษณะวงกลมเป็นรูปแบบหลักในการออกแบบพื้นที่ ประกอบด้วย ลานกิจกรรมรูปวงกลม ลานเด็กเล่นรูปวงกลม ลานพักผ่อนรูปวงกลม ลานอเนกประสงค์รูปวางกลม และลานกีฬา ตอบรับความต้องการของชุมชนโดยรอบพื้นที่ สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ จะประชาสัมพันธ์ใช้ชุมชนโดยรอบได้รับทราบและเข้าถึงการใช้งาน อาจมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลสวนร่วมกัน เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานดูแลความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในสวน จัดตั้งโดยอาสาสมัครของชุมชนโดยรอบ
สำนักงานเขตบางคอแหลม นำเสนอแนวคิด สวนสาธารณะ สวนสวย ถนนมไหสวรรค์ ขนาดราว 1,800 ตารางเมตร เดิมเป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ โดยมีโรงเรียน ชุมชนอยู่บริเวณโดยรอบ จึงเห็นโอกาสการพัฒนาพื้นที่ เมื่อสำรวจความต้องการชุมชน พบว่ามีความต้องการพื้นที่ออกกำลังกาย จึงจะจัดทำทางวิ่ง ลานอเนกประสงค์สำหรับกิจกรรมแอโรบิก พื้นที่ประชุมนัดหมายของชุมชน ทั้งนี้ยังมีแผนจัดทำโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ รอบรับ เช่น กล้องวงจรปิด ไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน
ส่วนหลังจากนี้จะมีการอบรมปฏิบัติการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับทั้ง 6 กลุ่มเขต (50 สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร) โดยทำงานร่วมกับชุมชนและสถานศึกษา ซึ่งเมื่อได้แบบแล้วจะพัฒนาไปสู่การก่อสร้าง โดยจะมีการเปิดระดมทรัพยากรกับอีกครั้งหนึ่ง