รวมพลร่วมสร้าง ‘สมาร์ทบางกะปิ’ เมืองอัจฉริยะ

เปิดเวทีรับฟังข้อเสนอแนวคิดการพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน สู่เป้าการเป็นศูนย์กลางการขนส่ง พื้นที่สีเขียวสาธารณะ เศรษฐกิจสร้างสรรค์

วันนี้ (25 เม.ย. 66) คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เวทีสมาร์ทบางกะปิ #3 : พลเมืองร่วมสร้าง (City Co-Creation) ภายใต้โครงการวางแผนและจัดทำแผนเมืองอัจฉริยะระดับพื้นที่และแนวทางบริหารจัดการอย่างยั่งยืนสำหรับเมืองขนาดกลางในกรุงเทพมหานคร กรณีศูนย์กลางเมืองบางกะปิ

ผศ.ณพงศ์ นพเกตุ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า เขตบางกะปิ กำลังมีแผนที่พัฒนาเป็นศูนย์กลางเมืองบางกะปิ โดยจะเป็นจุดตัดระหว่างระบบคมนาคมทางถนน ราง และเรือ ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งชุมชนเมืองแห่งนี้มีองค์ประกอบในด้านการเป็นที่อยู่อาศัยที่ ผสมผสานหลายรูปแบบและหลายระดับรายได้ พื้นที่เฉพาะบริเวณศูนย์กลางเมืองบางกะปิ ที่มีขนาดพื้นที่ ประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จึงได้ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร พันธมิตรธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า การเคหะแห่งชาติ โรงเรียนบางกะปิ ผู้แทนมัสยิด ผู้แทนชุมชน สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วัดศรีบุญเรือง ชุมชนในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางแผน “สมาร์ทดิสทริกบางกะปิ” (Smart District Bangkapi) เพื่อให้เป็น “ย่านเมืองขนาดกลางน่าอยู่ อัจฉริยะ”

รวมถึงดําเนินการออกแบบ โครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางเพื่อเชื่อมต่อระบบรถ ราง เรือ และการเดินเท้ากับ สํานักการโยธา กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง Skywalk เชื่อมต่อ 5 ห้างสรรพสินค้า ตลาดสด สํานักงานเขตบางกะปิ คอนโดมิเนียม ท่าเรือวัดศรีบุญเรือง และชุมชนโดยรอบ รวมถึงการเตรียมแผนปรับปรุงทางเดินเท้าที่ดี ไป เชื่อมต่อกับโรงเรียบบางกะปิ นิด้า และสวนสาธารณะนวมินทร์ภิรมย์

ทั้งนี้ได้จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1.เพื่อสร้างองค์ความรู้แก่ภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ย่านบางกะปิ เพื่อเป็นพื้นฐานแก่การสร้าง/พัฒนาเมือง ในรูปแบบการมีส่วนร่วมหรือพลเมืองร่วมสร้าง (City Co-Creation) 2.ร่วมพูดคุยระดมความคิดเห็นในประเด็น 1) สิ่งแวดล้อมดี Playgrow และพื้นที่สีเขียวสาธารณะแนวคิด สวนพฤกษชาติคลองจั่น 2) เดินทางดี สัญจรครอบคลุม (IM) และ 3) จัดการดี ธุรกิจเพื่อสังคม (SE) เศรษฐกิจ สร้างสรรค์ (CE) ย่านบางกะปิ และย่านบึงกุ่ม 3.รวมพลังออกแบบกรุงเทพที่น่าอยู่สําหรับเราทุกคน

พงษ์ศักดิ์ เหล่ามานะเจริญ ผู้แทนจากบริษัท Ixora Design จำกัด กล่าวว่าขณะนี้โครงการพัฒนาพื้นที่สกายวอล์กได้มีการจัดตั้งงบประมาณแล้วเบื้องต้น 3 ล้านบาท จากกรุงเทพมหานคร แบบแล้วเสร็จ 80% แต่ยังสามารถปรับแก้ได้ตามความเหมาะสม โดยจะระดมความคิดเห็นกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะคนในพื้นที่ เพื่อปรับปรุงให้โครงสร้างรองรับความต้องการใช้งานของคนในพื้นที่ได้มากที่สุด ทั้งในพื้นที่ใต้สกายวอล์ก และสวนพฤกษชาติคลองจั่น ล้วนอยู่ในแผนการพัฒนา ที่อยากจะปรับปรุงเพื่อให้เกิดชีวิตชีวาในเมือง ตอบสนองความต้องการของคนทุกกลุ่ม คำนึงถึงการออกแบบแบบ universal design กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากบางจุดเริ่มซบเซา ด้วยความตั้งใจอยากให้บางกะปิเป็นเมืองที่คนอยู่ได้ และคนก็รักพื้นที่ตรงนี้

กนกรรณ นิลศรีไพรวัลย์ นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในฐานะสมาชิกทีม play grow ผู้เสนอแนวคิดสนามเด็กเล่นเรียนรู้ร่วมสร้างปัญญา (เพื่อคนทุกกลุ่ม-universal design) ต่อสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร กล่าวเสนอไอเดียการออกแบบพื้นที่สีเขียวที่ประกอบด้วยสนามเด็กเล่นเรียนรู้ร่วมสร้างปัญญา โดยมีการออกแบบเครื่องเล่นอิงกับธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางสมองให้กับเด็กๆ ตั้งแต่ยังเยาว์วัย ทั้งนี้ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุก็สามารถร่วมทำกิจกรรมได้ โดยเบื้องต้นจะสร้างที่สวนบางกระบี่ภิรมย์ จากนั้นหากว่ามีผู้ที่สนใจต้องการสร้างสนามเด็กแบบนี้ก็สามารถแจ้งในภายหลังได้เช่นกัน เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงสนามเด็กเล่นเพื่อทุกคน

สว่าง ศรีสม คณะที่ปรึกษากรุงเทพฯ ทีมขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า การมีพื้นที่ทางเท้าที่ดี เป็นสิ่งที่ช่วยรักษาชีวิตคนได้ ช่วยลดอัตราการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้เรื่องเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การให้สิทธิ์คนพิการได้เข้าร่วมในกระบวนการออกแบบตั้งแต่แรก ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของชุมชน ร่วมกันทำให้เมืองดีขึ้น เป็นประโยชน์รอบด้าน อย่างเช่น หากทางเท้าดีคนเดินสะดวก คนเดินเยอะขึ้น เศรษฐกิจริมทาง แม่ค้าพ่อค้าก็มีรายได้

ธีรเมศร์ เลิศเศวตพงศ์ พี่เป้ จาก Café Velodome กลุ่มปั่นต่อ กล่าวว่า ทางจักรยานเป็นทางเลือกทางสัญจรที่ช่วยแก้ปัญหารถติดได้ สำหรับการระดมความคิดเห็นของประชาชนในหัวข้อ เดินทางดี สัญจรครอบคลุม ย่านคลองจั่น ย่านหัวหมาก และย่านคลองกุ่ม พบว่า เป้าหมายที่มีผู้ให้คะแนนโหวตสูงสุดคือเรื่องการสัญจรที่ทุกคนเข้าถึงได้ มีมาตรฐานไร้สิ่งกีดขวางทั้งทางเท้า ทางข้าม ทางแยก ป้ายจราจร ป้ายสัญญาณไฟ ต้นไม้ที่มีร่มเงาบังแดด รองลงมาคือระบบการเชื่อมต่อที่ครอบคลุม ทั้งทางเท้า ทางจักรยาน การขนส่งสาธารณะเพื่อความสะดวกในการสัญจร โดยไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว

ทั้งนี้ ยังได้มีการถ่ายทอดมุมมองเรื่องของการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์สร้างรายได้จากต้นทุนของพื้นที่ โดย อภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์และพันธมิตร อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ Creative&Sharing Economy และ วัชรากรณ์ ขันธจีระวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี มี สุข (ไม่) จำกัด ธุรกิจเพื่อสังคม โดยเป็นทีมงานที่เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาแนะนำวิธีการทำธุรกิจให้กับชุมชน ติดตั้งเครื่องมือการสนับสนุนการทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชาวบ้านสามารถสร้างรายได้ พึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด

ด้าน ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เมื่อราว ๆ 20 ปีก่อน บางกะปิเคยมีแผนจะเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมใหม่ ซึ่งเป็นแผนพัฒนาระยะสั้น ไม่ได้มองถึงความเชื่อมโยงทั้งระบบ และระยะยาว รวมถึงยังลืมมองว่าคนที่ใช้ชีวิตอยู่ระหว่างการพัฒนาหรือการสร้างเมืองจะอยู่อย่างไร ดังนั้นการตั้งต้นพัฒนาในครั้งนี้จึงต้องดูระหว่างทางด้วยว่าคนที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนาจะเป็นอย่างไร โครงสร้างอัจฉริยะ เทคโนโลยี ย่านที่ชาญฉลาดนั้น แท้จริงแล้วคือการทำให้คนอยู่อาศัยใช้ชีวิตได้จริง ๆ คือการออกแบบให้คนใช้ชีวิตสะดวกขึ้น ออกแบบในสิ่งที่เกี่ยวข้องในชีวิตจริง

สิ่งสำคัญคือมหาวิทยาลัย ฝ่ายวิชาการ ช่วยทำให้เห็นว่า เมืองมีทางเลือกอะไรบ้าง และต้องสื่อสารอย่างง่ายให้ชาวบ้านเข้าใจได้ ตัดสินใจเลือกได้ว่าพวกเขาต้องการอะไร อย่างไร รวมถึงการทำงานกับภาคเอกชน ร่วมสร้างกระบวนการทำงานที่ดี การทดสอบทางเลือกการใช้งาน เพื่อช่วยกันหาคำตอบในการพัฒนา รวมถึงการทำงานกับหลายภาคส่วน เช่น การทำให้พื้นที่เชื่อมโยงทางคมนาคมที่ดี เราอาจจะมีการทำงานร่วมกับ ขสมก. ต่อไป ดังนั้นการทำงานภาครัฐไม่ได้อยู่แค่ในส่วนของ กทม.​ เท่านั้น

ในปี 2030 กทม. ตั้งเป้าหมายมีพื้ที่สีเขียว 9.0 ตารางเมตรต่อคน เพื่อทำให้อากาศจะสะอาดขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น แต่ไม่ใช่แค่การมีต้นไม้ เพราะสวนสีเขียวถ้าไม่มีกิจกรรม ก็ไม่ท้าทายให้คนออกมาใช้งาน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร การออกแบบพื้นที่จึงต้องเป็นพื้นที่เพื่อสุขภาวะ พร้อมสร้างความร่วมมือกันในการร่วมดูแลก็เป็นส่วนสำคัญ ความยากไม่ได้อยู่แค่ทางเลือกที่จะทำแบบ แต่ความยากคือกลุ่มต่าง ๆ จะทำงานร่วมกันอย่างไร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active